พฤติกรรมเลียนแบบมาจากไหน? ภาพยนตร์ เกม สื่อต่าง ๆ มีผลจริงหรือ?
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีภาพยนตร์ไทยที่โดยส่วนตัวมองว่าเป็นภาพยนตร์น้ำดี สะท้อนสังคม เรื่อง 4 Kings ออกฉายทั่วประเทศ และเกิดเหตุที่ผู้เกี่ยวข้องบางส่วนให้นิยามว่า “เป็นพฤติกรรมเลียนแบบ” ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมตั้งคำถามต่อสื่อ โดยในครั้งนี้ คือ ภาพยนตร์ ว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่ และโดยทั่วไปคำว่า “พฤติกรรมเลียนแบบ” ก็ให้ความรู้สึกไปในทางลบเสียด้วยสิค่ะ โดยก่อนหน้านี้คุณผู้คงเคยได้เห็นข่าวการปล้นร้านทอง ที่สื่อก็ให้ข้อมูลว่า ผู้ก่อเหตุเลียนแบบภาพยนตร์ต่างประเทศ รวมถึงการก่อเหตุรุนแรงของวัยรุ่นบ้านเรา หรือการทำร้ายตัวเอง แล้วออกข่าวประมาณว่า “เป็นพฤติกรรมเลียนแบบจากเกม” หรือเมื่อมีข่าววัยรุ่นหญิงทะเลาะวิวาทกัน ก็ตีความว่าเป็นการเลียนแบบละคร จนทำให้เกิดคำถามว่า จริง ๆ แล้วภาพยนตร์ เกม ละคร หรือสื่อต่าง ๆ เป็นต้นเหตุให้เกิด “พฤติกรรมเลียนแบบ” จริงหรือไม่ ซึ่งในบทความนี้ จิตวิทยามีคำตอบมาฝากค่ะ
พฤติกรรมเลียนแบบมีที่มาจากอะไร?
ในทางจิตวิทยา “พฤติกรรมเลียนแบบ” หรือ Copycat คือ พัฒนาการหนึ่งของมนุษย์ในการเข้าสังคม โดยเป็นพฤติกรรมที่เรียนรู้มาจากตัวแบบตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) ของ Albert Bandura กล่าวคือ การเรียนรู้ของคนเรา ส่วนมากจะเป็นการเรียนรู้ผ่านสังเกตตัวแบบ และแสดงพฤติกรรมเลียนแบบออกมา เพื่อให้สังคมยอมรับ (ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ชุมชน ฯลฯ) ซึ่งตัวแบบที่สำคัญที่สุด ใกล้ชิดกับเรามากที่สุด และมีอิทธิพลมากที่สุด ก็คือ บุคคลในครอบครัวค่ะ เช่น เด็กคนหนึ่งได้รับการอบรมจากโรงเรียนให้พูดจาสุภาพ แต่เมื่อกลับมาบ้านก็มาเจอพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่พูดจาหยาบคาย เด็กก็พูดจาหยาบคายอยู่ดี หรือวัยรุ่น ที่มักจะถูกคาดหวังจากครอบครัวในทุก ๆ ด้าน และมีบุคลิกแบบยอมตาม เมื่อถึงช่วงที่ต้องเข้ามหาวิทยาลัย ก็มีแนวโน้มสูงที่จะเลียนแบบเพื่อนที่เรียนเก่ง หรือเลือกกลุ่มเพื่อนที่ตรงกับความคาดหวังของพ่อแม่ เพื่อทำให้ตัวเองเป็นไปตามความคาดหวังของพ่อแม่ เป็นต้น
โดยพฤติกรรมเลียนแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจาก “บ้าน” ได้ส่งผลไปถึงทุก ๆ เรื่องเลยค่ะ ไม่ว่าจะการเลือกสายการเรียน เรื่องการเลือกคู่ เลือกอาชีพการทำงาน รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตด้วยค่ะ ซึ่งถ้าถูกจริตกับคน ๆ นั้น ก็ดีไป แต่ถ้าไม่ถูกจริต ก็จะเกิดปัญหาเรื่องความสับสนทางอัตลักษณ์ในตนเอง และเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคซึมเศร้า การทำร้ายตนเอง ติดยาเสพติด เป็นต้น
ภาพยนตร์ เกม สื่อ มีผลจริงหรือ?
คำตอบก็คือ ภาพยนตร์ เกม หรือสื่อต่าง ๆ มีผลต่อพฤติกรรมเลียนแบบค่ะ แต่มีอิทธิพลน้อยกว่าครอบครัว โดยพฤติกรรมเลียนแบบสื่อ มักจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่ชื่นชอบความรุนแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่นบุคคลที่มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม (Anti-social) ซึ่งตามค่าสถิติจากงานวิจัยเชิงจิตวิทยา/อาชญาวิทยา ของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 2015 พบว่า เมื่อมีการเสนอข่าวเกี่ยวกับการก่อเหตุรุนแรง เช่น การยิงคนจำนวนมากในที่สาธารณะ การสังหารหมู่ หนึ่งครั้ง จะส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันจากคนที่มีพฤติกรรมเลียนแบบภายในระยะเวลา 13 วัน ซึ่งการก่อเหตุรุนแรงในแต่ละครั้งส่งผลเสียหายอย่างมากในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความเชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยของรัฐ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คือ ด้านจิตใจ ทั้งของบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้สูญเสีย และ ผู้รับรู้เหตุการณ์ผ่านสื่อเองก็ตาม โดยทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำเทคนิคทางจิตวิทยาในการลดความเสี่ยงในการมีพฤติกรรมเลียนแบบทางลบ จำนวน 7 เทคนิคด้วยกัน ดังนี้ค่ะ
1.ลดการใช้อารมณ์ในการโพสถึงสื่อต่าง ๆ
นักจิตวิทยาให้ข้อแนะนำว่า การโพสด้วยอารมณ์ที่รุนแรงนั้นให้ผล 2 อย่าง คือ สร้างอารมณ์ร่วมให้กับคนที่อ่าน แต่ในทางกลับกัน อาจไปสร้างความรู้สึกสนใจในตัวสื่อให้กับคนที่มีพฤติกรรมคล้าย ๆ ตัวละครหลักในสื่อ หรือสร้างความสนใจเหตุการณ์ในสื่อ ซึ่งจะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบไม่จบสิ้น
2. ลดการใส่รายละเอียดการก่อความรุนแรงผ่านสื่อ
เช่น ภาพการฆาตรกรรม เทคนิคการก่ออาญชญากรรม เป็นต้น ซึ่งการใส่รายละเอียดเหล่านี้ จะยิ่งทำให้เกิดการเลียนแบบจากผู้ที่มีวุฒิภาวะน้อย หรือบุคคลที่มีบุคลิกภาพผิดปกติ หรือผู้นิยมความรุนแรงได้
3. หยุดการเผยแพร่ หยุดการแชร์ต่อสื่อที่มีความรุนแรง
อีกหนึ่งสื่อที่เราควรให้ความห่วงใยต่อการสร้างให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ก็คือ Social Media ที่ผู้คนทุกเพศ ทุกวัยต่างเข้าถึงได้ง่าย เช่น Facebook, Line, Tiktok, Youtube เป็นต้น ซึ่งการเข้าถึงง่ายนี่เองที่กลายเป็นดาบสองคน ทำให้ใครโพสอะไรลงในสังคมออนไลน์ก็ได้ และถูกแชร์ต่อ ๆ ไปอย่างรวดเร็วทำให้ความรุนแรงถูกกระจายไปทั่ว และอาจทำให้กลายเป็นตัวจุดประกายในการเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงต่อ ๆ ไป
4. ไม่เผยแพร่ชื่อของผู้มีพฤติกรรมรุนแรง
เพราะการเผยแพร่ชื่อผู้ก่อเหตุรุนแรงในข่าว หรือตัวละครที่มีพฤติกรรมรุนแรง จะยิ่งสร้างความสนใจให้ผู้คน ดังเช่น ตัวละคร Joker หรือ Batman ผู้โด่งดัง โดย Jacinda Ardern นายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ ได้กล่าวถึงผู้ก่อการร้ายในประเทศเมื่อเดือนมีนาคม 2019 ไว้ว่า “เขามีความต้องการหลายสิ่งจากการก่อการร้าย และหนึ่งในนั้นคือ ‘ชื่อเสียง’ ในด้านลบ และนั่นเป็นเหตุผลว่า คุณจะไม่มีทางที่จะได้ยินดิฉันเอ่ยชื่อของพวกเขา” ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของนักจิตวิทยาที่ว่า ถ้าเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม วิธีการลดพฤติกรรมนั้นก็คือ การไม่ให้แรงแสริม ไม่ให้รางวัลกับพฤติกรรมนั้น ๆ ค่ะ
5. สร้างทัศนคติว่าพฤติกรรมรุนแรงเป็นสิ่งน่ารังเกียจ
โดยการส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีขึ้นมาทดแทน เช่น การบริจาคเลือก การรวมกลุ่มเพื่อสังคม เป็นต้น และมุ่งเน้นนำเสนอพฤติกรรมดีผ่านสื่อทุกประเภท โดยให้พื้นที่สื่อเกี่ยวกับการทำพฤติกรรมดี เพื่อให้เกิดการเลียนแบบพฤติกรรมดีกันมากขึ้นค่ะ
6. แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการลงโทษผู้มีพฤติกรรมทางลบซ้ำ ๆ
นอกจากการให้พื้นที่สื่อเกี่ยวกับการทำพฤติกรรมดี หรือแชร์พฤติกรรมดีแล้ว อีกวิธีที่นักจิตวิทยาแนะนำในการลดพฤติกรรมทางลบ ก็คือ การแชร์ทางลงโทษอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การได้รับโทษตามกฎหมาย การไม่มีที่ยืนในสังคม เป็นต้น เพื่อให้เกิดความกลัวในการทำพฤติกรรมทางลบ และลดโอกาสการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
7. การไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงจูงใจในการก่อพฤติกรรมรุนแรง
เพราะเมื่อสื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงจูงใจในการก่อเหตุ ก็จะทำให้ผู้ที่มีความอึดอัดคับข้องใจคล้าย ๆ กัน หรือมีปัญหาคล้าย ๆ กัน ก็อาจจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการก่อเหตุรุนแรงคล้าย ๆ กันขึ้นมาได้
พฤติกรรมเลียนแบบ เป็นพฤติกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากทั้งที่บ้าน และสื่อต่าง ๆ ดังนั้น วิธีลดพฤติกรรมทางลบ หรือป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมทางลบที่ได้ผลที่สุด ก็คือ การป้องกันจากที่บ้าน โดยพ่อ แม่ หรือคนในบ้านต้องเป็นตัวแบบที่ดี เพื่อให้เด็ก ๆ สังเกต และเรียนรู้พฤติกรรมที่ดีค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ : 7 เทคนิคทางจิตวิทยาในการป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบก่อเหตุรุนแรง (https://www.istrong.co/single-post/copycat)
อ้างอิง :
1. Mgronline. (2564, ธันวาคม 10). นครบาล ตรวจเข้มจุดเสี่ยง-โรงหนัง เหตุนักศึกษาเลียนแบบ “4 KINGS” ยกพวกตีกันถึงตาย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2564 จาก https://mgronline.com/crime/detail/9640000122309
2. โรงพยาบาลเพชรเวช. (2563, กันยายน 23). เด็กกับพฤติกรรมเลียนแบบ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2564 จาก https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/child-copy-behavior
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต
댓글