4 เทคนิคจิตวิทยาในการรับมือกับความผิดหวัง ฉบับตัวตึง ตัวแม่
ว่าด้วยเรื่องของ “ความผิดหวัง” เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ไม่ต้องการพบเจอ เพราะการรับมือกับความผิดหวังนั้นทั้งยากที่จะทำใจยอมรับ และให้ความรู้สึกเจ็บปวด โดยเฉพาะกับตัวแม่ ตัวพ่อ และบรรดาตัวตึง ที่อยากจะให้ชีวิตเลิศ และปัง แม้จะมีคำพูดติดปากว่า “ตัวแม่จะแคร์เพื่อ” แต่เมื่อต้องรับมือกับความผิดหวัง ก็ย่อมต้องแคร์เป็นธรรมดา นั่นก็เพราะความผิดหวังทำให้เรารู้สึกแย่
โดยตำราจิตวิทยาได้อธิบายว่า เมื่อคนเราต้องรับมือกับความผิดหวัง เราจะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าลดลง ส่งผลให้เราขาดความมั่นใจในตนเอง เสียความรู้สึก และยังส่งผลทางลบต่อความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง จนถึงขั้นปิดกั้นตัวเองจากสังคมไปเลยก็มี ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยทางจิตวิทยาเกี่ยวกับผลการสแกนสมองแบบละเอียด fMRI (Functional MRI) พบว่า คลื่นสมองของกลุ่มคนที่ได้รับความผิดหวังจะมีการทำงานของระบบประสาทที่ประมวลผลความเจ็บปวดหนักมาก ประหนึ่งว่าคนเหล่านั้นถูกรถชน หรือตกตึกกันเลยทีเดียว
ซึ่งความเจ็บปวดจากความผิดหวังดังกล่าวสามารถนำเราไปสู่การเจ็บป่วยทางจิตเวชเรื้อรังได้ ไม่ว่าจะเป็นโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคย้ำคิดย้ำทำ ดังนั้นด้วยความห่วงใย จึงขอนำ 4 เทคนิคจิตวิทยาในการรับมือกับความผิดหวัง สำหรับเหล่าตัวตึง ตัวแม่ มาฝากกันค่ะ
1. ทบทวนความรู้สึก และรู้เท่าทันความคิดทางลบ
เมื่อเราผิดหวัง ปฏิกิริยาของเรามักจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ นิ่งอึ้งเพราะช็อกหนักมาก กับตีโพยตีพายโวยวายเสียงดัง แต่ไม่ว่าเราจะมีปฏิกิริยาแบบไหนในหัวของเราจะประมวลผลในทางลบไปแล้วทั้งนั้นค่ะ เช่น ฉันมันแย่ ฉันมันไม่ดี หรือนี่มันไม่ยุติธรรมกับฉัน
ซึ่งความคิดทางลบก็จะนำไปสู่พฤติกรรมทางลบอื่น ๆ อีกมากมายตามมา ก่อนเราจะพาตัวเองสู่จุดนั้น นักจิตวิทยาแนะนำว่าขอให้เราตั้งสติ โดยการพาตัวเองไปอยู่ในจุดสงบ ที่สามารถหายใจเข้า – ออกได้อย่างโล่งใจ และมาทบทวนความรู้สึกและความคิดว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร ความคิดของเราสมเหตุสมผล เหมาะสมหรือไม่ เพื่อเป็นกลไกป้องกันการทำพฤติกรรมแย่ ๆ โดยไม่ตั้งใจค่ะ
2. กลับมาสู่ Safe Zone
ถ้าความผิดหวังทำให้เราปวดใจนัก ก็พาตัวพาใจกลับมาพักที่ Safe Zone ของเรานะคะ ซึ่ง Safe Zone ที่ว่านี้ก็ไม่ได้จำกัดว่าเป็นบุคคล เป็นสถานที่ หรือสิ่งของ ขอแค่ให้คุณพาตัวเองไปอยู่กับสิ่งที่มีความสุข เช่น ไปเล่นกับแมว ไปคาเฟ่น้องหมา ไปทานอาหารอร่อย ๆ กับคนที่คุณสบายใจ
กลับไปเล่าความทุกข์ใจให้คนที่บ้านฟัง โทรหาเพื่อนสนิท ถึงแม้ว่า Safe Zone ของเราจะไม่สามารถเปลี่ยนความผิดหวังเป็นสมหวังได้ แต่พวกเขา หรือสิ่งเหล่านั้นก็ช่วยบรรเทาความทุกข์ใจ ให้เราสบายใจขึ้นมาได้ ช่วยให้เรารู้สึกว่าเรามีคุณค่า มีตัวตน มีคนที่รักและชื่นชมเราอยู่ เมื่อเราหายเศร้าแล้ว เราจะมีแรงกาย มีพลังใจ และอึด ฮึด สู้ใหม่อีกครั้ง
3. มองหาเหตุและผลที่นำมาสู่ความผิดหวัง
เมื่อเรารู้ทันความรู้สึกของตัวเราเอง รู้ทันความคิดของเรา และพักกายพักใจจนมีแรงมาสู้ใหม่แล้ว ขอให้เราใช้สติและปัญญาในการมองหาเหตุผลของสถานการณ์ ว่า เพราะอะไรถึงทำให้เราผิดหวัง และโปรดมองสถานการณ์อย่างเป็นกลางนะคะ แต่ถ้าไม่สามารถเป็นกลางได้ ขอแนะนำให้หาที่ปรึกษามาช่วยวิเคราะห์สถานการณ์ด้วยอีกแรงจะดีกว่า
เพราะเมื่อเราใช้สติ ใช้ปัญญา และใช้ใจที่เป็นกลางพิจารณาสถานการณ์ เราจะมองเห็นว่าเพราะอะไรจึงนำมาสู่ความผิดหวัง เมื่อเราเห็นสาเหตุของปัญหาแล้วเราก็จะได้แก้ไขให้ถูกจุดค่ะ แต่ถ้ามันเกินที่เราจะแก้ไขได้ เราก็ยังนำข้อมูลที่เราวิเคราะห์ได้มาพัฒนาตัวเราเอง เพื่อให้เก่งขึ้น แกร่งขึ้น และสามารถใช้ความสามารถของเราสร้างประโยชน์ให้แก่คนอื่น ๆ ได้มากขึ้นด้วยค่ะ
4. เสริมจุดแข็ง ลดจุดอ่อน
ก่อนที่เราจะออกไปต่อสู้ใหม่เพื่อชัยชนะ หรือสู้เพื่อให้เราสมหวัง เราต้องมีการติดอาวุธให้ตัวเอง หรือลับอาวุธให้คมเสียก่อน โดยการไปเสริมจุดแข็ง และลดจุดด้อย เช่น ถ้าเราต้องการที่จะชนะการประกวดนักร้อง จุดแข็งของเรา คือ เสียง แต่จุดอ่อน คือ รูปร่างหน้าตา เราก็ไปเรียนร้องเพลง ซ้อมร้องเพลง หรือเก็บประสบการณ์ด้านการประกวดร้องเพลงเพิ่ม
แล้วมาลดจุดอ่อนด้วยการค้นหาสไตล์การแต่งตัวที่ปัง ที่ดูดี ที่เลิศ และฉายแสงออกมาให้ทุกคนได้เห็นค่ะ หรือถ้าหากเราต้องการจะโดดเด่นในหน้าที่การงาน แล้วจุดแข็งเราคือขยัน แต่จุดอ่อนคือความสามารถ เราก็ลงคอร์สเรียนเสริมหลังเลิกงาน หรือนอกเวลา งานไปเลยค่ะ
เมื่อจบคอร์สรับรองเลยว่าเราจะกลายเป็นพนักงานดีเด่น หรือมีผลงานที่เราเองพึงพอใจแน่นอน ความผิดหวัง เป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครคนไหนก็ตามไม่ต้องการจะพบเจอ ไม่ว่าเราจะเป็นตัวพ่อ ตัวแม่ ตัวตึง หรือคนธรรมดาก็ตาม แต่ความผิดหวังก็เป็นเรื่องที่คาดการณ์และหลีกเลี่ยงได้ยากเพราะเป็นเรื่องเซอร์ไพส์ที่เราไม่ได้เตรียมใจจะยอมรับ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราก็ต้องมีวิธีการรับมือกับความผิดหวังที่เหมาะสม เพื่อลดความเจ็บปวดทางใจที่เกิดขึ้น และช่วยให้เราสามารถลุกขึ้นยืนได้ใหม่ด้วยหัวใจที่สตรองค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง : TED-Ed. (2022). How to deal with rejection. [Online]. From
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก อดีตนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments