3 แนวทางในการรับมือกับปัญหาการ bully ในโรงเรียนสำหรับคุณครู
ปัญหาการ bully ในโรงเรียนที่พบในประเทศไทยนอกจากจะไม่ลดลงแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นและรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย แม้ว่าในทุกครั้งที่สื่อได้นำเสนอข่าวความสูญเสียจากการปัญหาการ bully สังคมก็จะมีการตื่นตัวขึ้นมา แต่ก็ดูเหมือนข่าวเกี่ยวกับการ bully ในโรงเรียนจะมีให้ดูอยู่เรื่อย ๆ ไม่เคยหายไป ทำให้เกิดคำถามว่าที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการแก้ไขปัญหาการ bully อย่างถูกจุดหรือไม่
จากข้อมูลของมูลนิธิสายเด็ก 1387 พบว่ามีการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนในหลายรูปแบบ ได้แก่
ความรุนแรงโดยครู โดยส่วนใหญ่แล้วความรุนแรงที่เกิดขึ้นมักจะถูกครูมองว่าเป็นเพียงการลงโทษที่เหมาะสมกับความผิดของเด็ก เช่น ครูตีเด็กนักเรียนที่ชอบแกล้งเพื่อน ทำให้ความรุนแรงโดยครูยังคงอยู่เสมอมาตามที่ปรากฏให้เห็นในสื่อต่าง ๆ หรือบางกรณีก็ไม่ได้ปรากฏในสื่อแต่ก็ยังมีอยู่ในโรงเรียนแต่เด็กไม่กล้าที่จะบอกใคร รวมถึงครูด้วยกันเองก็มองว่าเป็นการลงโทษตามปกติจึงไม่มีการเปิดเผยรายงานออกมา
การข่มเหงรังแก เช่น ตี ผลัก ดึงผม แกล้งเรียนชื่อให้อับอาย ทรมาน ฯลฯ ซึ่งส่วนมากข้อมูลเกี่ยวกับการข่มเหงรังแกในโรงเรียนมักไม่มีการแพร่งพรายออกมา โดยเหตุผลที่ทุกคนปิดปากเงียบนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของชื่อเสียงและความกลัว
ความรุนแรงของแก๊ง การตั้งกลุ่มแก๊งของวัยรุ่นทำให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงของแก๊งต่าง ๆ โดยอาจเกิดขึ้นจากการแก้แค้นกันระหว่างกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นปัญหาที่จัดการได้ยากเพราะกว่าจะค้นพบปัญหา ความรุนแรงก็ยกระดับไปแล้ว โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ที่กลุ่มวัยรุ่นเริ่มมีการใช้อาวุธและมีการฝึกเตรียมการสำหรับการต่อสู้กันด้วย
ในส่วนของปัญหาการ bully นั้นก็ถือว่าเป็นความรุนแรงในโรงเรียนอย่างหนึ่ง ซึ่งอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าที่ผ่านมานั้นมีหลายฝ่ายที่ได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหา แต่ก็ดูเหมือนจะยังมีผู้คนบางส่วนที่ไม่เข้าใจปัญหาอย่างรอบด้านจึงไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างจริงจัง โดยตัวอย่างที่สะท้อนถึงความไม่เข้าใจปัญหาการ bully ได้แก่
การมีมุมมองต่อพฤติกรรมการ bully ว่าเป็นการ “ล้อเล่นขำ ๆ”
การมีมุมมองต่อนักเรียนที่โดน bully แล้วได้รับผลกระทบทางจิตใจว่า “อ่อนแอไม่สู้ชีวิต”
การมีความเชื่อวิธีการปรับพฤติกรรมของนักเรียนที่ bully เพื่อนมีเพียงการลงโทษอย่างรุนแรงเท่านั้น
หากสังคมโดยเฉพาะคุณครูยังคงมีมุมมองและความเชื่อเช่นนั้น ปัญหาการ bully ก็จะไม่ลดน้อยลงไป บทความนี้จึงอยากจะมานำเสนอแนวทางการในการรับมือกับปัญหาการ bully ในโรงเรียนสำหรับคุณครู ดังนี้
1. หมั่นสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละคน
จากสถิติแล้วการ bully มักเกิดขึ้นในสถานที่ซ้ำ ๆ เช่น ห้องน้ำ สนามเด็กเล่น บนรถรับส่งนักเรียน โถงทางเดินที่มีคนเยอะ ๆ หรือในโลกออนไลน์ซึ่งเป็นส่วนที่ผู้ใหญ่อาจเข้าถึงปัญหาของเด็กได้ยาก หากมีนักเรียนมาเล่าว่ามีการ bully เกิดขึ้นในโรงเรียน สิ่งที่คุณครูควรทำเป็นอันดับแรกคือรับฟังโดยไม่มองว่านักเรียนพูดเพ้อเจ้อหรือแค่นินทาเพื่อนให้ฟัง จากนั้นให้หมั่นสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละคนเพื่อมองหาจังหวะในการเข้าไปสำรวจปัญหาเพิ่มเติมและให้การช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ซึ่งหากมีการ bully เกิดขึ้นกับนักเรียน คุณครูจำเป็นจะต้องให้การช่วยเหลือทั้งฝ่ายที่ bully และฝ่ายที่ถูก bully เนื่องจากฝ่ายที่ bully เองก็อาจจะมีปัญหาเบื้องหลังที่ทำให้เกิดพฤติกรรมรังแกเพื่อน หากลงโทษเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ค้นหาสาเหตุที่แท้จริง พฤติกรรมที่เป็นปัญหาก็อาจจะยังคงอยู่ และแน่นอนว่าฝ่ายที่ถูก bully ก็ควรได้รับการช่วยเหลือทางด้านจิตใจต่อไป
2. สื่อสารกับผู้ปกครองและนักเรียนให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการ bully
ปัญหาการ bully จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันหลายฝ่ายในการรับมือ เนื่องจากคุณครูเองก็อาจมีภาระงานหลายด้านและต้องดูแลนักเรียนเป็นจำนวนมาก หากโยนหน้าที่ในการรับมือกับปัญหาการ bully ในโรงเรียนให้คุณครูเป็นผู้รับผิดชอบฝ่ายเดียวก็อาจทำให้คุณครูเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานได้ การรับมือกับปัญหาแบบเป็นทีมจึงมีความสำคัญ โดยอาจจะจัดเป็นการอบรมหรือสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการ bully ให้นักเรียนได้ตระหนักถึงผลกระทบของการ bully และรู้ว่าจะขอความช่วยเหลือได้จากใครบ้างหากปัญหาเกิดขึ้นกับตนเอง รวมถึงสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองเกี่ยวกับวิธีการดูแลลูกที่ถูก bully รวมถึงวิธีการป้องกันไม่ให้ลูกเป็นฝ่าย bully คนอื่น
3. จัดการเรียนการสอนให้มีบรรยากาศที่ปลอดภัย
ในยุคสมัยใหม่คุณครูจำเป็นต้องมีบทบาทในการเป็นโค้ชเพิ่มขึ้นมาด้วย โดยคุณครูต้องทำหน้าที่โค้ชให้นักเรียนมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ รวมไปถึงคุณครูควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักเรียนในการไม่ bully คนอื่น การเคารพและให้เกียรติคนอื่น การไม่ข่มแหงรังแกคนอื่นที่ด้อยกว่า และควรเข้าไปแทรกแซงทันทีที่เห็นนักเรียนมีพฤติกรรมข่มเหงรังแกเพื่อน
เพราะเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตในวัยเรียนนั้นจะอยู่ที่โรงเรียน แม้จำนวนชั่วโมงของการอยู่บ้านจะมากกว่า แต่เวลาส่วนหนึ่งเมื่ออยู่ที่บ้านจะเป็นช่วงเวลาที่นอนหลับ ดังนั้น ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนจึงมีความสำคัญต่อพื้นฐานจิตใจและการเรียนรู้ หากโรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจก็จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของวัยเรียนได้เป็นอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตทำงานอยู่มากมาย ในกรณีที่ปัญหาการ bully รุนแรงเกินกว่าที่คุณครูจะรับมือไหว หรือคุณครูเองเริ่มเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานก็สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตได้ค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง:
[1] ความปลอดภัยของเด็กและคุณครูในโรงเรียน. Retrieved from https://www.childlinethailand.org/th/how_we_help/school-violence/
[2] How parents, teachers, and kids can take action to prevent bullying. Retrieved from https://www.apa.org/topics/bullying/prevent
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
Comments