แนวทางการรับมือเมื่อต้องทำงานให้กับ “บอส” ที่เข้าข่ายเป็นโรคหลงตัวเอง
โดยส่วนมากแล้ว สิ่งที่ทำให้คนทำงานรู้สึกเครียดจากการทำงานมักไม่ได้เป็นเพราะเนื้องานโดยตรงแต่จะเป็นเรื่อง “คน” มากกว่า เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนมีการเติบโตและมีประวัติภูมิหลังมาไม่เหมือนกัน ทำให้เมื่อต้องมาทำงานด้วยกันก็อาจจะมีกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนทำงานหลายคนที่แต่ละมื้อแต่ละเดย์จะต้องฝ่าฟันกับความท้าทายมากกว่าปกติเพราะต้องทำงานให้กับ “บอส” หรือหัวหน้าที่มีพฤติกรรมแบบไม่ยอมรับในคนอื่นแต่จะเชื่อมั่นในตัวเองเท่านั้น หนำซ้ำยังดูถูกดูแคลนคนอื่นบ่อย ๆ อีกต่างหาก ซึ่งถ้าคุณเป็นคนหนึ่งมีบอสที่เข้าข่ายเป็นโรคหลงตัวเอง ผู้เขียนก็หวังว่าคุณจะพอได้แนวทางในการรับมือกับบอสของคุณ และสามารถพาตัวเองให้ผ่านวันแย่ ๆ ไปได้แบบไม่เสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตนะคะ
บอสที่เข้าข่ายเป็นโรคหลงตัวเองมีลักษณะยังไงบ้าง?
“โรคหลงตัวเอง” ส่วนมากแล้วจะมีความหมายตรงกับ “โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder: NPD)” แต่หากบุคคลนั้นยังไม่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ว่าเป็น NPD ก็ถือว่ายังไม่ได้เป็นผู้ป่วยเพียงแต่มีอาการที่เข้าข่าย ทั้งนี้ การวินิจฉัยจะอยู่ในส่วนของจิตแพทย์เสมอ ส่วนคนทำงานทำได้มากที่สุดก็คือสังเกตพฤติกรรมของบอสเพื่อจะได้รับมือให้ถูก โดยบอสที่เข้าข่ายเป็นโรคหลงตัวเองอาจมีพฤติกรรม ดังนี้
1. คุณสมบัติพิเศษในการดึงดูดใจคนจำนวนมาก (charisma) พวกเขามักจะมีมาดของคนมีเสน่ห์หรือมีพรสวรรค์ซึ่งในส่วนนี้เองที่ทำให้หลายคนได้ตำแหน่งบอส แต่ลึกลงไปแล้วเบื้องหลังก็คือพวกเขารู้กลยุทธ์ในการควบคุมเกมเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
2. รับชอบแต่ไม่รับผิด พวกเขาก็จะออกหน้าเป็นคนรับเครดิตอย่างรวดเร็วในผลงานของลูกน้อง ในทางกลับกัน ถ้าลูกน้องหรือตัวเขาเองทำงานผิดพลาดก็จะโทษคนอื่นเพื่อให้ตัวเองพ้นผิดไม่ต้องรับผิดชอบ
3. สร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนทำงานรู้สึกไม่ปลอดภัย ความปลอดภัยในที่นี้หมายถึง psychological safety ที่ช่วยให้คนทำงานรู้สึกสบายใจเวลาที่จะแสดงความคิดเห็นหรือเสนอไอเดียของตัวเองออกมา แต่บอสที่เข้าข่ายเป็นโรคหลงตัวเองจะตำหนิหรือลงโทษคนที่กล้าแสดงความคิดเห็น ซึ่งนอกจากจะทำให้คนทำงานรู้สึกไม่ปลอดภัยแล้ว มันยังส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่คนทำงานต่างมีความลับต่อกันและชิงดีชิงเด่นกัน
4. ฉกฉวยประโยชน์จากความไม่มั่นคงของคนอื่น บอสที่เข้าข่ายเป็นโรคหลงตัวเองมักจะเก็บซ่อนความไม่มั่นคงเอาไว้ภายในแล้วฉายภาพ (project) ความไม่มั่นคงของตัวเองไปที่คนอื่น ยกตัวอย่างเช่น ใช้ความกลัวการถูกเลิกจ้างของลูกน้องมาเป็นเครื่องมือในการทำให้ลูกน้องไม่กล้าลางานหรือหยุดพัก
5. การบริหารงานแบบจู้จี้จุกจิกจับผิดและตรวจสอบรายละเอียดทุกอย่างทุกขั้นตอน เพราะมันจะทำให้บอสที่เข้าข่ายเป็นโรคหลงตัวเองได้รับความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญและมีอำนาจเหนือกว่าคนอื่น
6. Gaslights จงใจทำให้ลูกน้องสงสัยในตัวเองหรือเกิดความเข้าใจว่าเป็นความผิดของตัวเอง เช่น บ่นด่าว่าลูกน้องเป็นคนที่สอนไม่จำทำงานผิดพลาดบ่อย ทั้งที่บอสไม่เคยสอนงานให้เลย
How to รับมือกับบอสที่เข้าข่ายเป็นโรคหลงตัวเอง
- ทำความเข้าใจกับลักษณะของคนที่เป็นโรคหลงตัวเอง การทำความเข้าใจจะช่วยให้สามารถเตรียมตัวรับมือได้มากขึ้น
- วางขอบเขตตัวเองให้ชัดเจน ฝึกให้ตัวเองมีความกล้าที่จะยืนยันในสิทธิของตัวเองอย่างสุภาพ
- โฟกัสที่สุขภาวะของตัวเอง การทำงานกับบอสที่เข้าข่ายเป็นโรคหลงตัวเองอาจจะทำให้สุขภาพจิตเสื่อมถอยลงได้ มันจึงสำคัญมากที่คุณจะต้องดูแลสุขภาวะของตัวเองเพื่อให้แข็งแรงพอโดยเริ่มจากการดูแลสุขภาพกาย เช่น ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอ หากคุณมีปัญหาในการนอนหลับที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของคุณก็สามารถปรึกษาจิตแพทย์เพื่อพิจารณาการใช้ยาให้มาเป็นตัวช่วยในการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้
- ไม่เข้าไปอยู่ในเกมของพวกเขา คนที่เข้าข่ายเป็นโรคหลงตัวเองมักจะ “หย่อนเบ็ด” ให้คนอื่นเข้าไปเข้าไปในเกมที่พวกเขาวางเอาไว้ก็คือความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นระหว่างคุณกับเขา และเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นพวกเขาก็จะใช้คำพูดให้คุณรู้สึกว่าคุณเองที่เป็นฝ่ายเจ้าอารมณ์ อ่อนไหวมากเกินไป จิตใจไม่มั่นคง หรือเป็นคนไม่มีเหตุผล วิธีการรับมือก็คือไม่ต้องไปถกเถียงกับพวกเขามาก เดินออกมาเพื่อรักษาสุขภาวะของตัวเองดีกว่า
- บันทึกทุกอย่างไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เผื่อไว้ในกรณีที่คุณถูกบอสปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เช่น เลิกจ้าง คุณจะได้มีหลักฐานเอาไว้ยืนยันหรือปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของคุณ
- หาความช่วยเหลือ ซึ่งรวมถึงการรับบริการจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
- จัดการกับความคาดหวัง บอสที่เข้าข่ายเป็นโรคหลงตัวเองอาจจะมีความคาดหวังที่ไม่เกินจริง การทำงานให้ได้ดั่งใจบอสจึงอาจทำให้คุณรู้สึกเครียดได้ การรับมือกับบอสจึงต้องอาศัยทักษะในการสื่อสารร่วมกับการตระหนักรู้ในตนเอง โดยสื่อสารกับบอสให้ชัดเจนว่าคุณทำอะไรได้บ้างซึ่งต้องมาจากการที่คุณรู้ว่าขีดจำกัดของตัวเองอยู่ตรงไหน และต้องไม่ลืมว่าสิ่งสำคัญในการทำงานก็คือการรักษาสมดุลระหว่างความเป็นมืออาชีพและสุขภาวะของตัวคุณเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] ลุ่มหลงในความสำเร็จและอำนาจของตัวเองเข้าข่ายอาการทางจิต. Retrieved from https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0/
[2] 7 Strategies for Coping With a Narcissistic Boss. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/us/blog/here-there-and-everywhere/202402/7-strategies-for-coping-with-a-narcissistic-boss
[3] 6 Signs of a Narcissistic Boss and How to Protect Yourself. Retrieved from https://psychcentral.com/disorders/narcissistic-personality-disorder/how-to-deal-with-narcissistic-boss
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments