นักจิตวิทยาแนะนำ 3 วิธีจัดการความทุกข์เมื่อรู้จักเข้าใจตนเอง
หากสังเกตตัวเองและคนรอบข้าง คุณอาจจะพบว่า บางคนมักมีลักษณะเป็นคนแบบ “Yes man” คือยอมทุกคนไปหมดเลย บางคนเวลามีอะไรผิดพลาดขึ้นมาก็จะโทษทุกอย่างเลยยกเว้นตัวเอง บางคนก็เป็นคนที่มีลักษณะเป็นเจ้าแห่งเหตุผล ส่วนบางคนพอมีปัญหาขึ้นมาก็ยังทำเป็นตลกเฮฮาราวกับไม่รู้สึกรู้สากับปัญหาที่เกิดขึ้นเลย ทั้งหมดนี้คือท่าทีการเอาตัวรอด หรือเรียกง่าย ๆ ว่ารูปแบบในการรับมือกับปัญหา (Coping stance) ในมุมมองทางจิตวิทยาในทฤษฎีของ Virginia Satir ซึ่งมีที่มาจากกระบวนการภายในจิตใจของแต่ละคน และกระบวนการภายในใจเหล่านั้นก็มาจากประสบการณ์ส่วนบุคคล
เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ (Virginia Satir) นักจิตบำบัด ได้แบ่งท่าทีการเอาตัวรอดของคนเราไว้เป็น 4 แบบ ได้แก่
1. แบบยอมตาม (Placate)
เมื่อรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม คนที่ถนัดใช้ท่าทีการเอาตัวรอดแบบยอมตาม จะส่งมอบอำนาจของตัวเองไปให้คนอื่น ตอบรับทุก ๆ เรื่อง และทำการส่งสารไปยังผู้อื่นว่าตนไม่มีความสำคัญ เมื่อบุคคลยอมตาม ก็จะทำดีกับคนอื่นแม้ไม่ได้อยากทำอย่างนั้น รวมไปถึงรับผิดทุก ๆ เรื่องแม้ในเรื่องที่ตนไม่ผิด
ท่าทีของการยอมตามในการบำบัดแบบ Satir ก็คือ “นั่งลงคุกเขากับพื้น ยกมือข้างหนึ่งขึ้นและยื่นออกไปในลักษณะวิงวอน” ซึ่งจะส่งผลให้ภายในของบุคคลนั้นรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีตัวตน ซึมเศร้า เสี่ยงต่ออาการทางกาย ได้แก่ ระบบย่อยอาหารผิดปกติ ไมเกรน ท้องผูก เป็นต้น
2. แบบตำหนิกล่าวโทษ (Blaming)
การตำหนิกล่าวโทษมีลักษณะตรงข้ามกับการยอมตาม เพื่อที่จะปกป้องตัวเองแล้ว บุคคลแบบตำหนิกล่าวโทษจะทำการรังควานและกล่าวโทษผู้อื่นหรือสภาพแวดล้อม ลดคุณค่าของผู้อื่น ให้ค่าเฉพาะตนเองและบริบทเท่านั้น พฤติกรรมของกลุ่มนี้มักแสดงออกมาในรูปแบบของการขี้บ่น เกรี้ยวกราด จู้จี้จุกจิก กดขี่
ท่าทีของการตำหนิกล่าวโทษในการบำบัดแบบ Satir ก็คือ “การยืนหลังตรงและชี้นิ้วไปที่คน ๆ หนึ่งเพื่อทำให้อีกฝ่ายหนึ่งกลัว อีกมือหนึ่งท้าวเอวและยื่นเท้าข้างหนึ่งไปข้างหน้า” ซึ่งจะส่งผลให้ภายในของบุคคลนั้นรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะคนรอบข้างค่อย ๆ ถอยห่างไปด้วยความกลัว เกิดความรู้สึกหวาดระแวง เกเร รวมไปถึงผลเสียต่อร่างกาย ได้แก่ กล้ามเนื้อตึงเครียด ปวดหลัง ความดันโลหิตสูง ข้ออักเสบ หอบหืด เป็นต้น
3. แบบยึดเหตุผลเกินเหตุ (Super-reasonable)
การมีเหตุผลเกินเหตุ อาจดูเหมือนเป็นความเฉลียวฉลาด เป็นผู้สื่อสารที่ยึดเหตุผลและดูไม่มีที่ติ แต่เวลาที่บุคคลยึดเหตุผลจนเกินเหตุก็จะถอยออกห่างจากผู้คน และทนทุกข์อ ยู่กับความโดดเดี่ยว เพราะคนอื่นจะมองว่าเป็นคนน่าเบื่อ ไม่รู้จักยืดหยุ่นผ่อนปรน เจ้าหลักการ และหมกมุ่น
ท่าทีการเอาตัวรอดแบบยึดเหตุผลเกินเหตุในการบำบัดแบบ Satir ก็คือ “ท่ายืนตัวแข็งทื่อไม่ขยับเขยื้อน วางตัวราวกับเป็นผู้ทรงศีลที่สง่าผ่าเผย” ภายในใจของบุคคลแบบนี้มักรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่สามารถแสดงความรู้สึกใด ๆ ได้เลย เกิดความรู้สึกนิ่งงัน ย้ำคิดย้ำทำ แยกตัวออกจากสังคม ผลเสียที่เกิดกับร่างกาย ได้แก่ อาการปวดหลัง โรคติดเชื้อ ความผิดปกติของต่อมต่าง ๆ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ เป็นต้น
4. แบบเฉไฉเบี่ยงประเด็น (Irrelevant)
ดูเผิน ๆ คนแบบเฉไฉอาจจะดูเป็นตัวโจ๊กหรือนักสร้างความสุขความบันเทิงให้กับคนรอบ ๆ ข้าง เวลาที่คนเราเฉไฉมักจะต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เป็นท่าทีที่ตรงข้ามกับการยึดเหตุผลมากเกินไป เพื่อที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คนไปจากเรื่องที่กำลังพูดคุยกันอยู่
ท่าทีการเอาตัวรอดของคนแบบเฉไฉเบี่ยงประเด็นในการบำบัดแบบ Satir คือ “อยู่ในท่าเอียง ๆ หลังค้อมลง หัวเข่าหันเข้าหากัน ศีรษะเอียงไปข้างหนึ่งจนสุด” เพื่อรักษาสมดุลไม่ให้ล้ม คนแบบนี้จึงมักต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ภายในใจของบุคคลแบบนี้จึงมักขาดดุลยภาพ รู้สึกว่าไม่มีใครเป็นห่วง ไม่มีพื้นที่สำหรับตนเอง สับสน ผลเสียต่อร่างกาย ได้แก่ ปัญหาของระบบประสาทส่วนกลาง ความผิดปกติของกระเพาะ เบาหวาน ไมเกรน ท้องผูก เป็นต้น
ท่าทีการเอาตัวรอดแบบต่าง ๆ ตามทฤษฎีเชื่อว่ามาจากการพยายามเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูในวัยเด็กของตนเองเอาไว้ Satir เชื่อว่าเด็ก ๆ มักรู้ว่าทำอะไรแล้วพ่อแม่ของพวกเขาจะมีความสุขมากขึ้น และพวกเขามักจะทำสิ่งนั้นเพื่อยืนยันว่าความคิดเห็นของพวกเขาเป็นความจริง ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งอาจเป็นความเข้าใจผิดในวัยเด็กของบุคคล
ดังนั้น ท่าทีการเอาตัวรอดที่แต่ละคนได้เรียนรู้มา แม้ว่ามันจะสามารถปกป้องให้ตนเองอยู่รอดมาได้จนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นผลดีต่อตนเอง และเพื่อให้คนเรากลับมาสู่สมดุลอีกครั้ง การทำให้ตนเองอยู่ในสภาวะสอดคล้องกลมกลืน (Congruence) จึงเป็นสิ่งที่คนเราจำเป็นต้องรู้จัก เข้าใจ และลงมือทำเพื่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่สมดุล
แม้ว่า หลายครั้งจำเป็นต้องอาศัยนักบำบัดเป็นผู้ช่วยเหลือให้บุคคลไปสู่สภาวะสอดคล้องกลมกลืน แต่ในขณะเดียวกันบุคคลก็สามารถช่วยจัดการตัวเองได้ในระดับเบื้องต้นด้วย 3 วิธี ดังต่อไปนี้
1. ยอมรับในอารมณ์ที่เกิดขึ้น
รับรู้เมื่อเกิดอารมณ์ และเปิดเผยกับคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น หากเกิดอารมณ์โกรธขึ้นมา ผู้ที่มีความสอดคล้องกลมกลืนจะพูดว่า “ฉันกำลังโกรธ ฉันขอเวลาสักหน่อยก่อนที่จะตัดสินใจหรือพูดคุยกัน”
2. ยอมรับว่าตัวเองมีความคาดหวัง และพิจารณาว่าความคาหวังของตัวเองคืออะไร
เพื่อรับรู้และเลือกปล่อยวางความคาดหวังที่ยังไม่สมหวัง หรือสมหวังได้ยากออกไป การรับรู้ถึงความคาดหวังของตัวเองจะช่วยให้เราหยุดโยนให้คนอื่นทำให้เราสมหวัง แต่กลับมามีความสอดคล้องกลมกลืนกับความรู้สึกและความคาดหวังของตัวเอง
3. เชื่อมโยงตัวเองกับความจริงของโลก
ความเปลี่ยนแปลงของชีวิต การเกิดและการตาย และธรรมชาติของความเป็นจริงต่าง ๆ โดยไม่พยายามที่จะหลีกหนี ฝืน ต่อต้าน แต่เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตให้โอนอ่อนไปกับกฎธรรมชาติเหล่านั้น
ซึ่งท่าทีการเอาตัวรอดแบบสอดคล้องกลมกลืนในการบำบัดแบบ Satir จะมีท่าทางที่ยืนอย่างสมดุล สบาย ๆ ไม่เกร็งตัว การแสดงออกของบุคคลที่มีความสอดคล้องกลมกลืนจะมีลักษณะเป็นคนที่มีคำพูดตรงกับท่าทางของร่างกาย น้ำเสียง และความรู้สึกข้างใน ตระหนักรู้ถึงความรู้สึกต่าง ๆ ของตัวเอง จึงสามารถถ่ายทอดมันออกมาได้ดี ภายในใจมีความสงบ สมดุล มั่นใจในคุณค่าของตนเอง มีจิตใจเข้มแข็ง ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] Satir.2014. The Satir Model : Family Therapy and Beyond. รัตนา สายพานิชย์ แปล
[2] Satir Coping Stances. Retrieved from: https://www.youtube.com/watch?v=_kJJ6jqCZ4g
บทความแนะนำ
ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช
จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์ด้านการจิตวิทยาการปรึกษากว่า 7 ปี ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นผู้เขียนบทความของ iSTRONG
Comments