เมื่อการทำงานมันกัดกินใจ จะรับมือยังไงกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้บ้าง?
ความเครียดกับการทำงานมักเป็นของคู่กันอยู่แล้ว ต่อให้ได้ทำงานที่ตัวเองรักแต่ขึ้นชื่อว่า “ทำงาน” ยังไงก็ต้องมีความเครียดเกิดขึ้น ปกติแล้วความเครียดในระดับที่เหมาะสมจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาแต่จะช่วยให้คนทำงานเกิดความกระตือรือร้นและไม่รู้สึกเบื่อหน่ายกับงานที่ทำ แต่หากความเครียดเกิดขึ้นในระดับที่หนักเกินกว่าจะรับมือไหวหรือความเครียดเกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างไม่รู้ว่ามันจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ คนทำงานก็จะเริ่มรู้สึกว่างานของตัวเองมันช่างกัดกินใจเหลือเกิน
บรรยากาศการทำงานแบบไหนที่มักจะกัดกินใจคนทำงาน?
การทำงานในทุกที่ย่อมมีวันที่ดีและวันที่มีปัญหา แต่ปัญหามักจะไม่เป็นปัญหาถ้าคนทำงานสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาและพากันผ่านพ้นปัญหาไปได้ การมีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างทำงานจึงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้คนทำงานเครียด แต่ส่วนใหญ่แล้วที่คนทำงานเครียดก็เพราะว่าที่ทำงานมีบรรยากาศที่ Toxic เช่น
- มีการกลั่นแกล้ง (Bullying) และการล่วงละเมิด (Harassment) เกิดขึ้นแต่ไม่มีใครทักท้วงให้แก้ปัญหา
- เมื่อมีคนเห็นปัญหาที่เกิดจากบรรยากาศ Toxic แล้วพูดขึ้นมาก็ไม่มีใครสนใจหรือทุกคนทำเหมือนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องธรรมดาของที่นี่
- มีการนินทาและการปล่อยข่าวลือในที่ทำงานเยอะมาก
- ฝ่ายบริหารพูดกับพนักงานในลักษณะที่ดูถูกเหยียดหยามหรือบอกให้พนักงานต้องอยู่อย่างเจียมตัว
- พนักงานโดนล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวและไม่มี work-life balance ในการทำงาน
- มีปัญหาในการสื่อสารกันระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง
- มีระบบลูกรักลูกชังหรือเล่นพรรคเล่นพวก เวลาประเมินผลงานจึงไม่ได้ดูจากประสิทธิภาพในการทำงานแต่จะดูว่าใครสามารถทำให้เจ้านายชื่นชอบได้มากกว่ากัน
- คำขอเกี่ยวกับโอกาสในการพัฒนาตนเองทางวิชาชีพถูกเพิกเฉยหรือไม่สนใจ
- มีเพื่อนร่วมงานที่เฉื่อยเนือยทำให้ต้องแบกรับภาระงานเกินหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง
- มีอัตราการลาออกสูงหรือเปลี่ยนคนมาทำตำแหน่งนั้นบ่อย ๆ
How to รับมือกับความเครียดในที่ทำงาน
1. แกะรอยตัวกระตุ้นความเครียด ลองเขียนออกมาว่าอะไรบ้างที่ทำให้คุณเครียดเกี่ยวกับงานในช่วงนี้ เขียนความคิด ความรู้สึก คนที่คุณรู้สึกว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความเครียดที่เกิดขึ้น รวมถึงวิธีที่คุณใช้ในการตอบสนองต่อสถานการณ์หรือคนเหล่านั้น การแกะรอบตัวกระตุ้นจะช่วยให้คุณเห็นแพทเทิร์นของตัวคุณเองว่าคุณมักจะอ่อนไหวกับเรื่องอะไรและเวลาที่อ่อนไหวคุณมักจะตอบสนองออกไปยังไง ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับความเครียดได้มากขึ้นในวันข้างหน้า
2. ปรึกษาผู้จัดการหรือหัวหน้างาน มันอาจจะเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้งานมันไม่มีความเครียดเกิดขึ้นเลย แต่คุณสามารถลดความเครียดจากการทำงานลงได้ด้วยการปรึกษาผู้จัดการหรือหัวหน้างาน เช่น ช่วยกันวาง action plan ให้ชัดเจน การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันในแผนก การเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติม หรือทำให้มีปรับเปลี่ยนภายในองค์กร อย่างไรก็ตาม หากความเครียดของคุณมีส่วนหนึ่งที่มาจากผู้จัดการหรือหัวหน้างานก็อาจจะต้องข้ามข้อนี้ไป
3. กำหนดขอบเขตให้ชัดเจนระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว เช่น ปิดการแจ้งเตือนหรือไม่รับโทรศัพท์เรื่องงานในเวลาที่ควรจะเป็นเวลานอนหลับพักผ่อน หรือหากคุณ work from home ก็ควรจะยึดเวลาการทำงานตามปกติ จัดระเบียบให้กับตัวเองว่าช่วงไหนเป็นเวลาที่คุณจะทำงานอย่างอุทิศตนและช่วงไหนเป็นเวลาหลังเลิกงานแล้ว
4. ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ให้สามารถรับมือกับความเครียดได้ง่ายขึ้น เช่น
- ยอมรับว่าบางอย่างมันก็อยู่เหนือการควบคุมของคุณ
- มองว่าสถานการณ์เลวร้ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมันอาจจะไม่ได้มีแต่มุมแย่ ๆ หรือมันอาจจะไม่ได้แย่อย่างที่คิดก็ได้
- มองภาพรวมแล้วถามตัวเองว่ามันสำคัญแค่ไหนและมันจะมีความหมายในระยะยาวหรือไม่
- ตั้งความคาดหวังให้ตรงกับความเป็นจริง
5. หาวิธีผ่อนคลายและชาร์จพลัง การใช้วันลาหยุดเพื่อไปพักผ่อนมีความสำคัญมากต่อการฟื้นฟูพลังตัวเองให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่หากคุณไม่สามารถลาหยุดได้ก็ให้หาเวลาในแต่ละวันเพื่อผ่อนคลายตัวเองจากการทำงาน หาอะไรที่ทำแล้วเพลิดเพลินสบายใจหลังเลิกงาน การพักผ่อนไม่ได้ทำให้คุณเปลืองเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์และบางอย่างมันก็ไม่ได้ใช้เวลาในการทำมากมาย เช่น ฝึกหายใจวันละ 5-10 นาที หรือพักดูรายการโปรดสักครึ่งชั่วโมง
6. เลือกสิ่งที่มีประโยชน์ให้กับตัวเอง ลองเปลี่ยนจากเครียดแล้วไปกระหน่ำกิน fast food หรือดื่มเหล้าหนักขึ้นเป็นไปทำอะไรที่มีประโยชน์กับตัวเองมากกว่าแทน เช่น
- ออกกำลังกาย
- กินอาหารที่มีประโยชน์และสร้างสมดุลให้ร่างกาย
- ทำให้การนอนหลับเป็นไปอย่างมีคุณภาพ
- หางานอดิเรกให้กับตัวเอง
- พูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว
7. ใช้บริการของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต หากคุณลองทำมาหลายอย่างแล้วแต่ก็ยังไม่รู้สึกดีขึ้นหรือดูแล้วมีแต่สุขภาพจิตจะแย่ลงไปทุกวัน นักจิตบำบัดก็ถือว่าเป็นตัวช่วยที่ดีในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่บั่นทอนสุขภาพจิตหรือช่วยหาสาเหตุของความเครียดและใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพจิต หรือหากองค์กรที่คุณทำงานอยู่มีบริการช่วยเหลือพนักงาน (Employee Assistance Program: EAP) ก็อาจจะมีนักให้คำปรึกษาที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความเครียดของคนทำงานให้บริการอยู่ภายในองค์กรซึ่งคุณก็สามารถไปใช้บริการจากส่วนนั้นได้เช่นกัน
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] Strategies for Coping with Stress at Work. Retrieved from https://kindbridge.com/mental-health/coping-with-stress-at-work-strategies
[2] Toxic Workplace – Signs and Solutions. Retrieved from https://kindbridge.com/mental-health/toxic-workplace-signs/
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
コメント