เข้าใจตัวเองและผู้อื่นผ่านการเรียนรู้ทักษะให้คำปรึกษา
การให้คำปรึกษาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน หลายคนคงจะเคยมีประสบการณ์ในการเป็นผู้ให้คำปรึกษาและรับคำปรึกษา แต่คุณคิดเหมือนกันไหมว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีได้ เพราะในบางครั้งคนที่ให้ปรึกษาก็ทำให้รู้สึกว่า เขาไม่เข้าใจเราเลย ซึ่งปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นจากผู้ให้คำปรึกษาขาดทักษะให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง จึงเป็นที่มาว่าทำไมการปรึกษาคนใกล้ชิดกับคนที่ผ่านการฝึกอบรมหรือมีคุณวุฒิโดยตรงในด้านการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาโดยส่วนใหญ่มักมีความแตกต่างกัน
เพราะการที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาได้นั้นจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจตัวเองและผู้อื่นเป็นพื้นฐาน ขณะเดียวกัน “ชั่วโมงบิน” ในการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาก็จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าใจตัวเองและผู้อื่นให้แก่ผู้ให้คำปรึกษาไปในตัวด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้ให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาจะต้องเรียนรู้และฝึกฝนตัวเองให้มีความรู้ความเข้าใจ ดังต่อไปนี้
ทักษะให้คำปรึกษาขั้นพื้นฐาน
ทักษะการให้คำปรึกษาขั้นพื้นฐานเป็นทักษะที่นักให้คำปรึกษาทุกคนจะต้องเรียนรู้ฝึกฝน ทักษะที่สำคัญได้แก่
การฟังและการสังเกต ประกอบด้วย การแสดงท่าทีใส่ใจและการฟังอย่างตั้งใจ (Active listening)
การตั้งคำถามที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการ
การสื่อสาร ประกอบด้วย การสะท้อนข้อความหรือความรู้สึก (Reflections) การทวนความโดยปรับให้เป็นคำ
พูดใหม่ให้ผู้รับบริการได้คิดทบทวน (Restating/rephrasing) การย้ำเพื่อยืนยัน (Affirmations)
ความเข้าอกเข้าใจโดยไม่ใช้มุมมองประสบการณ์ของตัวเองในการตัดสิน (Empathy)
ความจริงใจ (Genuineness)
การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข (Unconditional positive regard)
การเปิดเผยแลกเปลี่ยนเรื่องราวของผู้ให้คำปรึกษาอย่างถูกจังหวะ (Counselor self-disclosure)
แนวคิดทฤษฎีการให้คำปรึกษา
การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยานั้นจำเป็นต้องมีแนวคิดทฤษฎีเป็นแผนที่ในการพาผู้รับบริการไปสู่เป้าหมาย เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์นั้นมักจะใช้ประสบการณ์และมุมมองส่วนตัวในการมองตนเอง/ผู้อื่น/สถานการณ์ ซึ่งมักจะขาดความเป็นกลางและทำให้ยากต่อการทำความเข้าใจความคิดและประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากที่ตัวเองเคยประสบพบเจอ
แต่แนวคิดทฤษฎีการให้คำปรึกษาจะเข้ามาเป็นเหมือนแว่นตาที่เมื่อสวมแล้วจะทำให้เกิดมุมมองตามแนวคิดทฤษฎีนั้น ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดมุมมองที่มีความเป็นกลางมากขึ้น โดยแต่ละแนวคิดทฤษฎีก็จะมีอิทธิพลต่อรูปแบบ (style) และท่าทีในการให้คำปรึกษาของนักให้คำปรึกษาแต่ละคนด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การให้คำปรึกษาของผู้ให้คำปรึกษาที่เป็นนักวิชาชีพ เช่น นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด จึงมีความแตกต่างกับการให้คำปรึกษาทั่วไปตรงที่มีนักวิชาชีพจะใช้กระบวนการตามแนวคิดทฤษฎีการให้คำปรึกษา และมีเป้าหมายในการให้คำปรึกษาในแต่ละครั้ง
กระบวนการให้คำปรึกษา
การให้คำปรึกษาที่มีสิทธิภาพจะต้องทำอย่างมีกระบวนการ ซึ่งกระบวนการให้คำปรึกษาโดยทั่วไปมักประกอบด้วย การสร้างสัมพันธภาพ การประเมินเพื่อทำความเข้าใจผู้รับบริการ การตั้งเป้าหมาย การให้ความช่วยเหลือด้วยเทคนิคทางจิตวิทยา การประมวลผลการให้คำปรึกษา และการยุติการให้คำปรึกษา
การออกแบบและวางแผนให้คำปรึกษา (Case conceptualization)
การออกแบบและวางแผนให้คำปรึกษาเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผู้รับบริการ ซึ่งโดยมากจะเกิดขึ้นจากการพูดคุยกันในครั้งแรกที่มักเป็นไปเพื่อสำรวจมุมมอง ความคิดความเชื่อ สิ่งที่เป็นคุณค่า และประสบการณ์ของผู้รับบริการ รวมไปถึงการมองผู้รับบริการผ่านมุมมองทางชีวภาพ จิตใจ สังคมวัฒนธรรม สิ่งที่เป็นตะกอนคั่งค้างสะสมในใจ ศักยภาพหรือจุดแข็งของผู้รับบริการที่สามารถเข้ามาช่วยลดความรุนแรงของปัญหาได้ และปัจจัยอื่น ๆ ตามแนวคิดทฤษฎีที่ผู้ให้คำปรึกษาแต่ละคนใช้เป็นพื้นฐานในการให้คำปรึกษา
การทบทวนตนเองผ่านการทำ “Self-reflections”
นักให้คำปรึกษาจะต้องมีความเข้าใจตนเองว่าความคิดความเชื่อและประสบการณ์ของตนเองเป็นแบบใด เพื่อลดการตัดสินผู้อื่นที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจความคิดความเชื่อของตนเองและเผลอนำประสบการณ์ของตนเองไปเป็นมาตรฐานในการมองผู้อื่นซึ่งอาจจะไม่เป็นกลาง
โดยหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจตัวเองมากขึ้นก็คือการทำ Self-reflections เช่น หลังจากให้คำปรึกษาก็กลับมาทบทวนว่าเพราะอะไรจึงเกิดความรู้สึกอึดอัดรำคาญขึ้นในระหว่างพูดคุยกับเคสนี้ ในวันนี้มีอารมณ์ความรู้สึกใดเกิดขึ้นกับตัวเองบ้างและได้ใช้พฤติกรรมอะไรบ้างในการตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น
ซึ่งผู้เขียนเองมองว่าการสำรวจทบทวนตนเองอย่างจริงใจกับตัวเองนั้นมีความสำคัญมากต่อประสิทธิภาพในการให้คำปรึกษา เพราะหลายครั้งอุปสรรคในการช่วยเหลือผู้รับบริการก็มาจากตัวผู้ให้คำปรึกษาเองได้ด้วยเช่นกัน
โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า การที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีนั้นจะต้องมีพื้นฐานในการเข้าใจตัวเองและผู้อื่น แต่ในขณะเดียวกัน การมีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาที่ใช้ทักษะและกระบวนการอย่างถูกต้องเหมาะสมก็จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจตัวเองและผู้อื่นได้มากขึ้นตามไปด้วย
เพราะในการให้คำปรึกษาโดยเฉพาะการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาในแต่ละครั้งจำเป็นจะต้องมีพื้นฐานอย่างน้อยคือการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจที่มาจากการรับฟังให้มากแต่ตัดสินให้น้อย เมื่อปฏิบัติบ่อย ๆ อย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นความเคยชินกลายเป็นนิสัยก็จะนำไปสู่การเป็นคนที่เข้าใจตัวเองและผู้อื่นได้มากขึ้น
หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] Counseling Skills & Techniques. Retrieved from https://onlinecounselingprograms.com/become-a-counselor/resources/counseling-skills-techniques/
[2] Case conceptualization: Key to highly effective counseling. Retrieved from https://www.counseling.org/publications/counseling-today-magazine/article-archive/article/legacy/case-conceptualization-key-to-highly-effective-counseling
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments