6 เทคนิค วิธีสื่อสารเพื่อสร้างพลังบวกในองค์กรด้วย Growth Mindset
วิธีสื่อสารในทางจิตวิทยา ที่เรียกว่า Fixed Mindset คือ การสื่อสารที่ค่อนข้างส่งพลังลบไปให้คนฟัง ทำให้คนฟังรู้สึกถูกปิดกั้นทางความคิด ลดทอนคุณค่าของคนฟัง และเกิดความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า “คนเราเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้แล้ว” ซึ่งทำให้คนฟังเกิด Low - Self esteem ขึ้นมาแบบปัจจุบันทันด่วน และมักจะไปสร้างบาดแผลในใจให้คนฟัง โดยที่คนพูดจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม
เรามาสร้างค่านิยมใหม่ ๆ ในองค์กร โดยเริ่มที่การปรับวิธีสื่อสารเพื่อสร้างพลังบวกในองค์กรด้วย Growth Mindset โดยมีคำกล่าวที่น่าสนใจถึงวิธีสื่อสารแบบ Growth Mindset ไว้ว่า Mindset ของคนเราประกอบด้วย Fixed Mindset และ Growth Mindset โดย Fixed Mindset คือความเชื่อที่ว่าคนเราเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว เช่น ถ้าฉลาดก็ฉลาดตั้งแต่เกิด ถ้าไม่เก่งก็ไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้
ทำให้คนเราเกิดความกลัวที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ขาดแรงจูงใจที่จะพัฒนาตนเอง ในขณะที่ Growth Mindset คือ ความคิดที่เปิดกว้างมากกว่า อยู่กับความเป็นจริงและมุ่งอนาคตมากกว่า นั่นก็เพราะ Growth Mindset คือกรอบความคิดที่ทำให้คนเราเห็นผลของความพยายาม ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นได้ และทางเดินหรือทางออกของปัญหามีมากกว่าแค่ทางเดียว เพราะคนเรายืดหยุ่นได้ ปรับตัวได้
โดยวิธีการปรับวิธีสื่อสารเพื่อสร้างพลังบวกในองค์กรด้วย Growth Mindset นั้น มีแนวทางดังนี้ค่ะ
1. พูดตรงได้ แต่ไม่จำเป็นต้องพูดแรง
หลายคนจะมีความเข้าใจผิดอยู่ว่า การพูดตรง เท่ากับ การที่เราจะพูดอะไรก็ได้ที่เราคิด โดยไม่ต้องสนใจว่าคนฟังจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งจริง ๆ แล้ว นั้นไม่ใช่การพูดตรง แต่นั้นคือการพูดไม่คิด และทำปากแจ๋วใส่คนอื่น ซึ่งการพูดเช่นนี้นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดพลังบวกแล้ว ยังจะก่อให้เกิดศัตรูเพิ่มไปอีก
ดังนั้น เทคนิคจิตวิทยาในการพูดตรง ๆ ก็คือ ใช้คำสุภาพ เชิงสร้างสรรค์ และวิจารณ์ที่ผลงานไม่ใช่ตัวบุคคล เช่น Infographic เรื่องนี้เนื้อหาครบถ้วน แต่ข้อความแน่นไปหน่อย ถ้าตัดข้อความได้จะน่าอ่านกว่านี้ หรือ งานที่คุณส่งมาข้อมูลเยอะดีนะ แต่ส่งช้าไปหน่อย ทำให้นำไปใช้ไม่ทันการณ์ ถ้าครั้งหน้าส่งเร็วขึ้นจะดีมาก เป็นต้น
2. ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา
มีบางครั้งที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างเรา ๆ ทำงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ผู้บริหารคาดหวัง เพราะติดปัญหาอุปสรรค ซึ่งในองค์กรที่ส่งพลังลบให้แก่กัน สิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะได้รับกลับมาจากผู้บริหารก็คือ คำตำหนิ หรือการถูกลงโทษ ทำให้เราไม่กล้าที่จะบอกกับผู้บริหารว่าติดปัญหา หรือเจออุปสรรคอะไร ส่งผลให้ปัญหาเหล่านั้นไม่ได้รับการแก้ไข และก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ดังนั้น หากผู้บริหารปรับวิธีสื่อสารด้วย Growth Mindset โดยเปลี่ยนจากคำดุด่าเวลาที่ผู้ปฏิบัติเจอปัญหา มาเป็นการชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา เช่น หากปัญหาเกิดจากระบบ ก็หางบประมาณหรือหาวิธีการปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น หรือถ้าปัญหาเกิดจากนโยบาย ก็ปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการทำงานขององค์กร เป็นต้น
3. ใช้คำถามปลายเปิด
เวลาที่ใครสักคนในองค์กรทำงานไม่สำเร็จ คำถามที่คนส่วนใหญ่ในองค์กร โดยเฉพาะผู้บริหารมักจะถามก็คือ “ทำไม? เช่น ทำไมถึงทำไม่ได้ ทำไมถึงทำผิดพลาด ซึ่งคำว่า “ทำไม” นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้เกิดความกระจ่างในการแก้ไขปัญหาแล้ว ยังจะเป็นการโทษคนทำงานอีกว่าเป็นคนผิด
ดังนั้น หากเราเปลี่ยนมาเป็นคำถามปลายเปิดแทน เช่น เพราะอะไร? หรือ เราสามารถทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ได้บ้าง? หรือเราควรทำอย่างไร? องค์กรจะเกิดการระดมสมอง และอาจพบไอเดียที่แตกต่าง ที่สามารถพาองค์กรบรรลุผลสำเร็จ หรือสามารถเปิดทางให้องค์กรโลดแล่นอย่างโดดเด่นในอีกเส้นทางหนึ่งไปเลยก็ได้
4. ใช้คำถามชวนให้คิด
ในองค์กรที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มี Fixed Mindset คำถามที่เกิดขึ้นในองค์กรมักจะเป็นคำถามหาเรื่อง หรือคำถามสร้างเรื่อง เช่น ทำไมเธอเก่งไม่เท่าคนนั้นละ? หัวหน้ารักคนนั้นจัง มีอะไรดีนะ? ซึ่งคำถามเหล่านี้ไม่ได้ต้องการให้เกิดความคิดค่ะ แต่ต้องการการเม้ามอย และไปสร้างความแตกแยกโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นหากเราจะปรับให้ผู้คนในองค์กรมี Growth Mindset ผู้บริหารต้องสนับสนุนให้คนในองค์กรตั้งคำถามชวนให้คิด
เช่น เราสามารถทำงานให้ดีขึ้นได้อย่างไร? มีทรัพยากรใดหรือวัตถุดิบใดที่เราสามารถนำมาสร้างผลงานใหม่ ๆ ได้บ้าง หรือเราอยากพัฒนาตนเองในด้านไหน ซึ่งคำถามเหล่านี้จะช่วยให้คนในองค์กรมีการแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และพัฒนาตนเองและองค์กรก้าวไปสู่อนาคตที่สดใสด้วยกัน
5. ไม่มีใครอยากทำผิดพลาด ทุกคนพัฒนาได้
เชื่อเถอะค่ะว่าในโลกนี้ไม่มีใครที่อยากจะทำผิดพลาด ทุกคนล้วนต้องการจะเป็นดาวเด่น ต้องการการยอมรับจากสังคม ต้องการเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญขององค์กร แต่เมื่อเกิดความผิดพลาด สิ่งที่คนในองค์กร โดยเฉพาะผู้บริหารควรทำ ก็คือ การหาสาเหตุ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหา และป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก
และองค์กรที่มี Growth Mindset ควรจะมีความเชื่อว่า “ทุกคนพัฒนาได้” หากคนทำงานคนไหนไม่ถนัดในงานที่เขาทำ ก่อนจะด่า หรือด้อยคุณค่าในตัวเขา ลองเปลี่ยนสายงาน หรือส่งเขาไปเรียนรู้เพิ่มเติมดูนะคะ หากเขามีความพยายาม เขาจะเป็นคนเก่งคนหนึ่งที่พาองค์กรไปสู่เป้าหมายได้อย่างแน่นอน
6. ยอมรับความแตกต่าง เปิดรับความสร้างสรรค์
มีสุภาษิตในนักธุรกิจจีน ว่า “หากองค์กรใดมีคนคิดเหมือนกัน 2 คน องค์กรนั้นมีคนแบบนั้นเพียงคนเดียวก็พอแล้ว” หมายความว่าหากองค์กรมีคนคิดแบบเดียวกันจำนวนมาก ๆ องค์กรจะอยู่กับที่ ไม่เติบโต เพราะองค์กรจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีไอเดียใหม่ในการพัฒนาองค์กร
และคนในองค์กรก็จะไม่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง แต่ถ้าองค์กรไหนที่มีคนหลากหลายรูปแบบ หลากหลายไอเดียอยู่รวมกัน องค์กรจะกลายเป็นองค์กรแห่งความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถพัฒนาตนเองและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา
จาก 6 เทคนิคจิตวิทยาข้างต้น จะเห็นว่ากรอบแนวคิดในการใช้ชีวิต หรือ Mindset ส่งผลโดยตรงต่อวิธีสื่อสาร โดยเฉพาะการสื่อสารในองค์กรหากเราใช้การสื่อสารแบบ Fixed Mindset คนในองค์กรก็จะมีแต่พลังลบให้กัน ขาดความมุ่งมั่น ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง แต่ถ้าเราใช้วิธีสื่อสารแบบ Growth Mindset ในองค์กรก็จะมีแต่พลังบวก ทุกคนมีไฟ มีใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง และองค์กรก็จะเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุดค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ
อ้างอิง
[1] The Newton Sixth Form School. (30 ธันวาคม 2565).ปรับวิธีคิด เปลี่ยนคำพูด สร้าง Growth Mindset. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2566 จาก https://shorturl.asia/5oqxl
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์ต่อคนอ่าน
Comments