Empathy ไม่ได้มีแค่แบบเดียว : ความแตกต่างระหว่าง Cognitive และ Emotional Empathy ที่คุณควรรู้
- นิลุบล สุขวณิช
- Apr 17
- 2 min read

Empathy เป็นคำหนึ่งที่มักจะถูกพูดถึงกันมากในปัจจุบันนี้ โดยคำว่า “Empathy” ได้ถูกแปลเป็นภาษาไทยเอาไว้หลายอย่าง ในบทความนี้ผู้เขียนขอใช้คำแปลที่อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาซึ่งได้แบ่งคำแปลของมันเอาไว้เป็นหมวดหมู่ โดยในหมวดหมู่สังคมวิทยาจะตรงกับคำว่า “การร่วมรู้สึก”
ส่วนหมวดหมู่ทางจิตวิทยาและหมวดศึกษาศาสตร์จะตรงกับคำว่า “การรู้ซึ้งถึงความรู้สึก” และหมวดหมู่เทคโนโลยีทางภาพจะตรงกับคำว่า “อารมณ์ร่วม, ความรู้สึกร่วม” อย่างไรก็ตาม ลำพังการแปลคำว่า Empathy จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยนั้นอาจจะไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจความหมายที่แท้จริงของมัน
ในบทความนี้ผู้เขียนจึงเลือกใช้คำทับศัพท์แทนการใช้แปลเป็นภาษาไทยในการชวนผู้อ่านค่อย ๆ ทำความเข้าใจความหมายของ Empathy ตามรายละเอียดที่จะกล่าวถึงดังต่อไปนี้
Empathy ไม่ได้มีแค่แบบเดียว?
ในภาพรวม Empathy คือความสามารถในการเข้าใจคนอื่นว่ารู้สึกยังไง สามารถเข้าใจสิ่งต่าง ๆ โดยใช้มุมมองของคนอื่นได้ สามารถจินตนาการได้ว่าคนอื่นรู้สึกนึกคิดยังไง เสมือนว่าตัวเองเป็นคน ๆ นั้น โดยคนแรกที่สร้างคำว่า Empathy ขึ้นมาก็คือนักจิตวิทยาที่มีชื่อว่า Edward B. Titchener (1909)
ซึ่ง Empathy มาจากคำภาษาเยอรมันว่า “Einfühlung” หมายถึง รู้สึกเข้าไปข้างใน (feeling into) ซึ่งต่อมาในปี 2004 Caruso & Salovey ผู้เขียนหนังสือ “The Emotionally Intelligent Manager: How to Develop and Use the Four Key Emotional Skills of Leadership” โดยกล่าวถึง Empathy ใน 2 รูปแบบ คือ
การร่วมรู้สึกทางปัญญา (Cognitive Empathy)
การร่วมรู้สึกทางอารมณ์ (Emotional Empathy)
นอกจากนั้น ก็ยังมีงานวิจัยโดย Healey และ Grossman (2018) เรื่อง “การศึกษาเกี่ยวกับการ มองจากมุมมองของผู้อื่น (perspective-taking) ทั้งในแง่ของ การมองมุมมองเชิงปัญญา (cognitive perspective-taking) และ การมองมุมมองทางอารมณ์ (affective perspective-taking) ซึ่งมีการกล่าวถึงว่ามี โครงสร้างทางกายวิภาค ที่เกี่ยวข้องทั้งที่ เหมือนกัน (shared) และ แตกต่างกัน (dissociable)” ที่ก็กล่าวถึง Empathy ทั้งสองรูปแบบดังกล่าวด้วยเช่นกัน
Cognitive Empathy กับ Emotional Empathy ต่างกันยังไง?
Cognitive Empathy
เป็นความสามารถในการที่จะเข้าใจมุมมองความคิดของคนอื่นได้เหมือนกับตัวเองเป็นคน ๆ นั้น ซึ่งสัมพันธ์กับ “theory of mind” ที่เป็นความสามารถในการเข้าใจว่าผู้อื่นมีความคิด, ความรู้สึก, ความเชื่อ, และเจตนาที่แตกต่างจากของตัวเรา โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่รู้หรือประสบด้วยตัวเอง
Emotional Empathy
เป็นความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นได้ดุจดั่งประสบกับเหตุการณ์หรือเจอกับสิ่งนั้นด้วยตัวเอง เช่น เมื่อเพื่อนสนิทหรือคนรักกำลังร้องไห้อยู่ข้าง ๆ ก็สามารถรู้สึกเศร้าตามไปด้วยแม้ว่าจะไม่รู้เลยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเขาหรือไม่รู้เลยว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่
ผู้เขียนจึงขอสรุปความแตกต่างของมันเอาไว้ว่า Cognitive Empathy คือความสามารถในการเข้าใจความคิดของคนอื่น (เข้าใจด้วยหัว) ส่วน Emotional Empathy คือความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น (เข้าใจด้วยใจ)
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่าทั้งสองแบบมีประโยชน์และมันคงจะดีถ้าสามารถมีได้ทั้งสองแบบในเวลาเดียวกัน เพราะมันจะนำไปสู่ความเข้าใจ ช่วยลดการตัดสินลง และมีคำถามน้อยลงว่า “ทำไมเขาถึงทำแบบนั้น” “ทำไมเขาถึงไม่ทำแบบนี้” และมันก็มีความแตกต่างจาก Sympathy ที่เป็นการแสดงความเห็นใจแต่ไม่ได้เชื่อมโยงกับอีกฝ่าย
เช่น ในสถานการณ์ที่เพื่อนสูญเสียคุณพ่อไป คนที่มี Sympathy ก็อาจจะบอกว่า “เสียใจด้วยนะ สู้ ๆ นะ” ส่วนคนที่มี Empathy ก็จะเข้าใจอย่างลึกซึ้งและอาจจะบอกว่า “มันเป็นเรื่องที่ยากมากจริง ๆ เธอคงเศร้ามากเลยใช่ไหม เธออยากให้ฉันกอดหรือนั่งอยู่ข้าง ๆ ไหม?”
ประโยชน์ของการมี Empathy ในชีวิตประจำวัน
ช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยจากการศึกษาพบว่าในคู่พี่น้องที่มีระดับ Empathy ที่สูงจะมีความขัดแย้งระหว่างกันน้อย
ช่วยให้สามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น โดยคนที่มี Empathy สูงจะจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดี ขณะเดียวกัน การส่งเสริมให้มีทักษะในการจัดการอารมณ์มากขึ้นก็จะช่วยให้ระดับ Empathy เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ช่วยส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมช่วยเหลือเอื้อเฟื้อผู้อื่น คนที่มี Empathy มักจะสังเกตใส่ใจความต้องการของผู้อื่น เข้าใจความทุกข์ของผู้อื่น และเกิดแรงบันดาลใจในการช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข?
วิธีในการฝึกให้ตัวเองมี Empathy เพิ่มขึ้น
ฝึกรับฟังเวลาที่คนอื่นเล่าเรื่องราวโดยไม่พูดแทรกหรือขัดจังหวะ
สังเกตใส่ใจภาษากายและการแสดงออกของคนอื่นที่ไม่ได้ผ่านมาทางคำพูด
พยายามทำความเข้าใจคนอื่นแม้มีความรู้สึกไม่เห็นด้วยเกิดขึ้น
เป็นฝ่ายถามไถ่ว่าคนอื่นเป็นอย่างไรบ้าง
จินตนาการว่าถ้าตัวเองเป็นคนอื่นจะรู้สึกนึกคิดยังไง ซึ่งในภาษาอังกฤษจะตรงกับสำนวนว่า “Put yourself in someone's shoes.”
กระชับความสัมพันธ์กับคนอื่นเพื่อเรียนรู้ว่าคนอื่นรู้สึกยังไง
ทบทวนตัวเองเพื่อให้เห็นอคติที่เป็นอุปสรรคในการมี Empathy ต่อคนอื่น
มองหาสิ่งที่เป็นความคล้ายคลึงกันระหว่างตัวเองและคนอื่นแทนที่จะเพ่งมองไปที่ความแตกต่าง
ยอมรับและเปิดเผยความรู้สึกภายในของตัวเองในด้านที่เปราะบาง
สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ขยายมุมมองของตัวเองเพื่อให้สามารถเห็นได้มากขึ้นว่าผู้คนที่มีประสบการณ์แตกต่างไปเขามีความรู้สึกยังไงกันบ้าง
มีส่วนร่วมหรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการขับเคลื่อนทางสังคม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Empathy ทั้งสองแบบจะมีประโยชน์ทั้งในส่วนของการนำมันมาใช้พัฒนาตนเองและในส่วนของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคม แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมี Empathy ผ่านการฝึกฝนได้ เนื่องจากการมี Empathy นั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย
แต่ในทางกลับกัน การไม่มี Empathy ก็เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ เช่น โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบหลงตัวเอง (narcissistic personality disorder) ที่มักจะมีลักษณะเป็นผู้ที่ขาด Empathy
หากผู้อ่านพบว่าคนใกล้ชิดมีลักษณะเข้าข่ายอาการนี้และรู้สึกว่าพฤติกรรมของพวกเขาส่งผลกระทบทางลบต่อคนรอบข้างก็สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตผ่านทาง iSTRONG เพื่อช่วยกันหาทางออกที่ดีต่อทุกฝ่ายได้นะคะ
หรือหากคุณสนใจพัฒนาทักษะ Empathy หรือทักษะด้านจิตวิทยาจาก iSTRONG สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ คอร์สนักให้คำปรึกษาระดับ Fundamental
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
ศัพท์บัญญัติสำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
Kendra Cherry (2024). What Is Empathy? How it helps strengthen our relationships. https://www.verywellmind.com/what-is-empathy-2795562
Caruso, D. R., & Salovey, P. (2004). The Emotionally Intelligent Manager: How to Develop and Use the Four Key Emotional Skills of Leadership
Jodi Clarke (2025). Cognitive Empathy vs. Emotional Empathy Thinking about other people's emotions vs. actually feeling them.
Healey & Grossman (2018). Cognitive and Affective Perspective-Taking: Evidence for Shared and Dissociable Anatomical Substrates. https://www.frontiersin.org/journals/neurology/articles/10.3389/fneur.2018.00491/full
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) เคยมีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นนักเขียนบทความให้กับ ISTRONG และเป็นทาสแมวคนหนึ่ง
Nilubon Sukawanich (Fern) have had experience working as a counseling psychologist at a university and as a speaker on mental health issues and self-development for students for 11 years. Currently, I am a writer for ISTRONG and a cat slave.