สาธุ กับ 5 วิธีจัดการกับความขัดแย้งในตัวเอง (Cognitive Dissonance)
วันหยุดยาวในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา หลายท่านได้ไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัว หรือเพื่อน ๆ แต่ก็มีหลายท่านที่เลือกจะใช้เวลาพักผ่อนอยู่กับตัวเองด้วยการรับชมซีรีส์ “สาธุ” ทาง Netflix ที่กำลังมาแรง โดยซีรีส์สาธุ เป็นซีรีส์ไทยแท้ที่พูดถึงเพื่อนสนิท 3 คน ที่ใฝ่ฝันว่าจะกลายเป็นนักธุรกิจอายุน้อยร้อยล้าน แต่กลับเกิดเรื่องผิดพลาดจนติดหนี้นอกระบบมหาศาล และผันตัวมาเป็นผู้บริหารพุทธพาณิชย์เต็มตัว สิ่งที่เกิดในซีรีส์เรื่องสาธุไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล้าพูดออกสื่อได้ “จริง” ขนาดนี้ อีกทั้งยังสามารถสอนเรา หรือชวนให้เราตีความได้หลากหลายทาง ทั้งหลักการทางการตลาดที่ตัวเอกทั้ง 3 คนนำมาใช้ในการบริหารวัด ตีแผ่เรื่องความเชื่อ ศรัทธา และสังคมในประเทศไทย รวมไปถึงความขัดแย้งในตัวเองของตัวละครในซีรีส์สาธุ โดยเฉพาะตัวละครที่แสนสุขุม นิ่ง สงบ อย่าง “พระดล” ที่ดูจะเป็นตัวละครที่มีความขัดแย้งในตัวเองสูงที่สุด
“พระดล” แสดงโดยพี่ปั๊บ โปเตโต้ หรือ พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข ที่วางไมค์ร้องเพลงชั่วคราวมาถือไมค์เทศน์ในบทพระวัดป่าที่แสนจะสุขุมลุ่มลึก ทุกฉากที่มีพระดลคนดูจะรับรู้ได้ถึงความสงบ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถรับรู้ได้ถึงความขัดแย้งในตัวเองของพระดล ความอึดอัดใจ แม้ในหลาย ๆ ฉากจะไม่มีบทพูด แต่การแสดงออกทางสีหน้าของพี่ปั๊บก็ชวนให้เรารู้ว่าภายในใจของพระดลกำลังต่อสู้กันอย่างหนัก จนเกิดเป็นความอึดอัดและคับข้องใจ
เมื่อดูซีรีส์สาธุแล้วก็ย้อนมาดูตัวเราเอง พวกเราทุกคนต่างก็เคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในตัวเองเช่นเดียวกับพระดล ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เราโดนบังคับจากเพื่อน ๆ ให้เป็นคนนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน หรือตอนที่ตัดสินใจบอกพ่อ แม่ว่าจะเลือกเรียนในสายที่แตกต่างจากที่พ่อ แม่คาดหวัง หรือตอนที่ต้องเปิดตัวต่อครอบครัวว่าเป็น LGBTQ+ หรือตอนที่ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อไปทำตามความฝัน สถานการณ์เหล่านี้ล้วนสร้างความขัดแย้งในตัวเองแทบทั้งสิ้น โดยในทางจิตวิทยา ความขัดแย้งในตัวเอง มีศัพท์เรียกว่า Cognitive Dissonance ตามทฤษฎีของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา Leon Festinger (1957) หมายถึง การที่บุคคลเกิดความรู้สึกขัดแย้งกับตนเองอย่างรุนแรง ซึ่งในทางจิตวิทยาเรียกว่า Intrapersonal Conflict เช่น เมื่อต้องตัดสินใจเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างสิ่งที่ควรทำ กับสิ่งที่ใจอยากจะทำ หรือเมื่อต้องตัดสินใจทำผิดเพื่อความอยู่รอด แต่ก็รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นผิดและจะมีคนเดือดร้อน เป็นต้น ความขัดแย้งในตัวเองนี้ได้ส่งผลให้บุคคลนั้นเกิดความเครียดสูง มีความกดดันในตนเอง จนอาจนำไปสู่ภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้า และอาจนำไปสู่บุคลิกภาพแตกแยก (Dissociative identity disorder) ได้
ด้วยความที่ความขัดแย้งในตัวเองเป็นชะตาที่เราไม่อาจเลี่ยง ดังนั้นในบทความจิตวิทยานี้จึงได้รวบรวม 5 เทคนิคจิตวิทยาในการรับมือกับความขัดแย้งในตัวเองมาฝากกัน ดังนี้ค่ะ
รับรู้และเท่าทันความรู้สึกตนเองก่อน
ความขัดแย้งในตัวเองหลัก ๆ ของพระดลในซีรีส์สาธุ คือ เรื่องที่เปลี่ยนสถานะจากพระวัดป่ามาเป็นพระวัดบ้าน และการตกหลุมรักเดียร์ ในซีรีส์เราจะเห็นว่าพระดลมีวัตรปฏิบัติเป็นพระวัดป่ามาตั้งแต่เป็นเณรจนเป็นพระ จนเมื่อเกมและวินมาป้ายยาชักชวนให้พระดลเปลี่ยนมาเป็นพระวัดบ้าน ที่มีวัตรปฏิบัติต่างกัน ก็สร้างความลำบากใจให้พระดลแล้วหนึ่ง พอมาถึงวัดภุมราม พระดลก็ได้พบกับเดียร์ สาวน่ารัก หนึ่งในแก๊งตัวเอก จิตใจของพระดลก็หวั่นไหว หากพระดลไม่รับรู้และเท่าทันความรู้สึกขัดแย้งของตนเอง ก็อาจจะจัดการกับความรู้สึกไม่เหมาะสม และสร้างผลร้ายต่อความรู้สึกให้กับพระดลเองและคนรอบข้างได้
2. ชั่งน้ำหนักของสิ่งที่ต้องทำ กับสิ่งที่อยากจะทำ
เมื่อเรารู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเองแล้วว่าเรารู้สึกอย่างไรกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เช่น โกรธ เสียใจ สับสน เราต้องจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นเสียก่อน โดยการชั่งน้ำหนักของสิ่งที่ขัดแย้งกันทั้งสองฝั่ง ดังเช่นพระดลที่อึดอัดและวิตกกังวลกับการที่ต้องเปลี่ยนตัวเองจากพระวัดป่ารักสงบ ไปเป็นพระวัดบ้านที่วุ่นวายกว่า ต้องเผชิญกับสิ่งยั่วยุมากกว่า แต่ด้วยการชั่งน้ำหนักว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่ศาสนา เป็นการเผยแพร่หลักธรรมคำสอนที่พระดลศรัทธา พระดลจึงตัดสินใจที่จะไปอยู่วัดภุมราม
3. รับฟังความเห็นของคนรอบข้าง
หากว่าเราเองมีความขัดแย้งในตัวเองแล้วเกิดความรู้สึกสับสน ไม่รู้จะตัดสินใจทำอย่างไรดี การรับฟังความคิดเห็นของคนรอบข้างก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยหาทางออกให้ได้ค่ะ โดยเริ่มถามจากคนที่เราไว้ใจที่สุดก่อน เช่น พ่อ แม่ คนรัก พี่ น้อง เพื่อนสนิท แล้วนำคำตอบของหลาย ๆ คนที่มองในมุมบุคคลที่สาม มาคิด วิเคราะห์ และชั่งน้ำหนักถึงผลดี ผลเสีย ก่อนจะตัดสินใจเลือกค่ะ
4. เตรียมรับผลที่จะตามมา
ทั้งนี้ ไม่ว่าคำตอบของสิ่งที่เราเลือกจะทำคืออะไร เราต้องตระหนักก่อนว่าทุกการเลือก ทุกการกระทำมีผลตามมาเสมอ เมื่อตัดสินใจเลือกไปแล้ว ไม่ว่าทางใดก็ตาม เราต้องรับกับผลที่จะตามมาให้ได้ ทั้งผลดี และผลเสีย โดยเฉพาะเรื่องที่ชี้เป็นชี้ตาย หรือเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเราตลอดไป เช่น เรื่องเลือกสายการเรียน เรื่องการเปิดเพศสภาพที่แท้จริง หรือการเลือกคู่ชีวิต เป็นต้น ดังที่พระดลในซีรีส์สาธุ ที่ตัดสินใจบอกรักเดียร์ แม้รู้ว่าผลที่ตามมาจะออกมาในทางเลวร้ายก็ตามแต่พระดลก็พร้อมที่จะรับผลที่จะเกิดขึ้น
5. ต้องยอมรับว่าบางอย่างก็เกินที่เราจะควบคุมได้
ถึงแม้ว่าเราจะเป็นผู้กำหนดชีวิตของเราเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีตัวแปรอีกมากมายที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเรา และบ่อยครั้งเราก็ไม่สามารถควบคุมตัวแปรเหล่านั้นได้ เช่น โรคระบาดที่จู่ ๆ ก็โผล่มา สภาวะเศรษฐกิจที่วันดีคืนดีก็พังลงมา สภาวะการเมืองที่ไม่มั่นคง สงคราม หรือการสูญเสียคนสำคัญในชีวิตแบบกะทันหัน ล้วนส่งผลให้ชีวิตของเราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น “สติ” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากเรามีสติในสถานการณ์ฉุกเฉินเราก็สามารถเอาตัวรอด หรือช่วยชีวิตใครหลาย ๆ คนไว้ได้ เพราะฉะนั้นแล้ว ถึงแม้จะมีหลายอย่างในชีวิตที่ควบคุมไม่ได้ แต่เราต้องคุมสติของเราให้ได้ค่ะ
อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่า ความขัดแย้งในตัวเอง เป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสามารถสร้างความอึดอัด ความไม่สบายใจให้แก่เรา แต่ถ้าหากเรามีการรับมือที่ดี เราก็สามารถก้าวผ่านความขัดแย้งในใจของเราได้ อีกทั้งยังเป็นตัวเตือนให้เราตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเลือกทางเดินชีวิตอย่างมีสติด้วยค่ะ
และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
1. คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2019, 10 พฤศจิกายน). Cognitive dissonance – ความไม่คล้องจองของปัญญา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2567 จาก https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/cognitive-dissonance
2. ธรรมนิติ. (2563, 21 สิงหาคม). 6 วิธีการขจัด Cognitive Dissonance เพื่อลดความขัดแย้งในตัวเอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2567 จาก https://www.dst.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=3990:6-ways-cognitive-dissonance&catid=29&Itemid=180&lang=th
3. Tareef Jafferi. (2023, 18 เมษายน). Cognitive Dissonance และ Burnout: ทำความเข้าใจและเรียนรู้แนวทางแก้ไข เพื่อสร้างที่ทำงานที่ Productive. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2567 จาก https://blog.happily.ai/th/cognitive-dissonance-and-burnout-in-the-workplace-understanding-the-connection-and-finding-solutions-th/
4. tuxsablog. (2023, 7 กรกฎาคม). ติดอยู่กับความขัดแย้งจะทำยังไงดี ?! 4 เทคนิคพาตัวเองออกจากความขัดแย้งที่รู้สึกว่าเจอทางตัน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2567 จาก https://tuxsablog.skilllane.com/2023/07/07/free-yourself-from-conflict/
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Kommentare