3 แนวทางจูงใจให้คนในครอบครัวพาเด็กพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา
จากการรายงานข้อมูลปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวันรุ่นของยูนิเซฟ ที่เก็บข้อมูลร่วมกับกรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ประเทศออสเตรเลีย เรื่อง การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฉบับประเทศไทย พบว่า เด็กและรุ่นไทย อายุระหว่าง 10 - 19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน มีปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวันรุ่น แต่ที่น่าตกใจมากกว่านั้น ก็คือ เด็กไทยอายุ 5 - 9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีปัญหาสุขภาพจิต นอกจากนี้รายงานยังให้ข้อมูลอีกว่า การเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสามของวัยรุ่นไทย โดยวัยรุ่นไทยถึง 17.6% มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวว่า มีการขยายบริการเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น เพิ่มขึ้น 30 % และมีเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี มาขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา โดยไม่มีผู้ปกครองเพิ่มขึ้น 1.53 เท่า ซึ่งในกลุ่มนี้มีคนที่มีความคิดทำร้ายตนเองเพิ่มขึ้นถึง 2.67 เท่า และได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 70%
นั่นหมายความว่าปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นของประเทศไทยมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยสามารถพบปัญหาสุขภาพจิตได้ในเด็กอายุน้อย ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วกว่าที่ครอบครัวของเด็กจะพาเด็กมาพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเพื่อรักษาก็มีปัญหาสะสมและเรื้อรังเสียแล้ว ดังนั้น ด้วยความห่วงใยจากดิฉันและ Istrong จึงขอนำเสนอแนวทางการจูงใจให้คนในครอบครัวพาเด็กพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา แล้วยิ่งถ้าเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีปู่ ย่า ตา ยาย ด้วยแล้ว ยิ่งพูดยากเลยค่ะ เพราะทัศนคติต่อเรื่องปัญหาสุขภาพจิตเด็กของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญและส่งผลต่อชีวิตของเด็กไปตลอด อย่างครอบครัวดิฉันเอง ก็เคยพาลูกพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเช่นกันค่ะ ไปกันทั้งครอบครัวเลย ก็คือ ดิฉัน สามี ลูกสาว พ่อ แม่สามี และน้องชายสามี เพราะเราเห็นว่าเกิดปัญหาพฤติกรรมขึ้นกับลูก และด้วยความที่ดิฉันและสามีจบจิตวิทยา ก็เห็นตรงกันว่าปัญหามาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งในบทความนี้จึงขอมาแบ่งปันเทคนิคจูงใจให้คนในครอบครัวพาเด็กพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา มาฝากกัน 3 แนวทางค่ะ
1. ให้คนที่เหมาะสมที่สุดเป็นคนเจรจา
ในกรณีที่ให้คุณปู่ กับคุณย่า เป็นคนช่วยเลี้ยง ฝ่ายที่ควรเจรจาเรื่องพาลูกไปหาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ก็คือ คุณพ่อ เพราะพ่อ แม่ ลูก กันคุยกันง่ายกว่าให้ลูกสะใภ้เป็นคนคุย และเช่นเดียวกันหากคุณตา คุณยาย เป็นคนช่วยดูแลลูก คุณแม่ควรเป็นฝ่ายเจรจา เพราะรู้แนวทางการพูดคุยมากกว่าให้คุณพ่อคุย และที่สำคัญที่สุดในการเจรจา ก็คือ พูดด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ เมื่อใดที่รู้ตัวว่ากำลังหงุดหงิด โกรธ หัวร้อน หรือคนที่เราพูดคุยด้วยเริ่มโต้เถียงเราด้วยอารมณ์แล้วละก็ควรหยุดเจรจาก่อน แล้วพอมีช่วงเวลาเหมาะสมค่อยกลับมาคุยกันใหม่ โดยขอให้นึกถึงลูกเป็นสำคัญค่ะ
2. ชี้ให้เห็นถึงปัญหา
การเจรจาเรื่องสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตของลูกหลานในบ้าน ประเด็นสำคัญ ก็คือ ชี้ให้คนในบ้านเห็นถึงปัญหาว่าเพราะอะไรถึงควรพาลูก หลาน ไปพบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ลูกงอแงหนักมาก เอาแต่ใจ ขี้หงุดหงิด ทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนอื่น ซึ่งเราควรบอกคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ว่าพฤติกรรมเหล่านี้ของลูกกำลังเป็นปัญหา เพราะทำให้คนในบ้านไม่มีความสุข มีความเครียด ทำให้คนอื่นเดือดร้อน พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของปัญหาในอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับลูกของเรา เช่น ลูกจะอยู่กับคนอื่นลำบาก ลูกจะกลายเป็น Toxic People เมื่ออยู่กับคนอื่น และเขาจะอยู่ในสังคมลำบาก โดยสิ่งที่เราต้องเน้นย้ำให้คนในครอบครัวตระหนักถึง ก็คือ ลูกไม่ได้อยู่กับเราตลอด เขาต้องออกไปใช้ชีวิตอยู่กับคนอื่น เขาต้องอยู่กับโลกภายนอก ไม่ใช่ทุกคนที่ยอมรับพฤติกรรมทางลบของเขาได้ ต้องรีบแก้ตั้งแต่ตอนนี้ก่อนจะติดไปจนโต
3. ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการพบผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยา
นอกจากเราจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาของพฤติกรรม และข้อเสียของการไม่พาลูกไปพบผู้เชี่ยวชาญแล้ว เราควรชี้ให้คนในบ้านเห็นถึงข้อดีของการพาลูกไปพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา เพราะผู้เชี่ยวชาญสามารถประเมินให้เรารับทราบถึงความหนักหนาของปัญหาสุขภาพจิตของลูกเรา รวมถึงสามารถปรับพฤติกรรมของลูกเราได้อย่างตรงจุด อีกทั้งเราเองก็ยังจะได้ทบทวนตัวเราเองว่า จริง ๆ แล้วปัญหาของลูก มีสาเหตุมาจากอะไร เราควรปรับตัวเองอย่างไร เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างถาวร รวมถึงเรายังสามารถลดความเครียดในเรื่องต่าง ๆ ของเราได้ด้วยการระบายให้ผู้เชี่ยวชาญฟัง และได้รับคำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ในการนำมาใช้ดูแลลูก นำมาใช้ในการดูแลตัวเองต่อไป
การให้ความดูแลปัญหาสุขภาพจิตในเด็กนั่นสำคัญพอ ๆ กับการดูแลปัญหาสุขภาพกายของเด็ก ๆ เพราะทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตต่างก็ส่งผลต่อพัฒนาการของลูก ความปกติสุขในการใช้ชีวิต และการใช้ชีวิตของเขาในอนาคต หากเราเห็นปัญหาไว เราก็สามารถช่วยรักษาสุขภาพจิตของลูกให้เข้มแข็ง พร้อมสำหรับใช้ชีวิตต่อไปในอนาคตได้อย่างเข้มแข็ง และมีพลังบวกค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
[1] 9 สัญญาณเตือน ควรพบจิตแพทย์ด่วน (https://www.istrong.co/single-post/psychiatrist)
[2] ทำอย่างไรถึงจะพาคนที่รู้จักไปพบจิตแพทย์ได้ (https://www.istrong.co/single-post/take-people-to-psychiatrist)
อ้างอิง :
[1] Unicef. (31 สิงหาคม 2565). ยูนิเซฟและกรมสุขภาพจิตชี้สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยน่าเป็นห่วง ต้องยกระดับบริการสุขภาพจิตโดยเร่งด่วน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2565 จาก https://shorturl.asia/5w8dP
[2] กรุงเทพธุรกิจ. (3 มิถุนายน 2565). วัยรุ่นรับบริการสุขภาพจิตไม่มีผู้ปกครองเพิ่ม1.5 เท่า ย้ำสิทธิทำได้. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2565 จาก https://www.bangkokbiznews.com/social/1008029
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์กับคนอ่าน
Comments