Child Grooming การข่มขืนที่แยบยลจนเหยื่อกลายเป็นฝ่ายที่ถูกกล่าวโทษว่าสมยอม
หากใครได้ติดตามข่าวสารต่าง ๆ ก็คงจะเห็นอยู่บ่อยครั้งว่าสังคมไทยมักจะมีคดีทางเพศที่เกี่ยวข้องกับเด็กเกิดขึ้น และโดยมากแล้วข่าวมักจะหายเงียบไปโดยที่คนในสังคมไม่อาจรู้ได้ว่าต่อจากนี้เหยื่อจะมีชีวิตเป็นเช่นไร นอกจากนั้น ส่วนใหญ่แล้วในเนื้อหาของข่าวมักจะรายงานแต่ข้อมูลที่ผิวเผิน ทำให้คนที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของเหตุการณ์จะตัดสินและกล่าวโทษเหยื่อว่าสมยอมเอง วาทกรรมที่มักจะมีให้เห็นบ่อย ๆ ก็คือ “เด็กสมัยนี้ใจแตกไว” “เด็กก็ไม่เบา”
หรือแม้กระทั่งพูดถึงเหยื่อด้วยคำหยาบคายทั้งที่ไม่ได้รู้ข้อมูลโดยละเอียด บทความนี้จึงอยากนำเสนอเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในรูปแบบที่แยบยลจนเหยื่อกลายเป็นฝ่ายถูกกล่าวโทษว่าสมยอม ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Child Grooming” หมายถึง กระบวนการตระเตรียมเพื่อล่วงละเมิดทางเพศเด็ก (หรือ Grooming ในกรณีที่เหยื่อไม่ได้อยู่ในวัยเด็ก)
Child Grooming มีด้วยกัน 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ แบบตัวต่อตัวและแบบออนไลน์ ซึ่งแต่ละรูปแบบมีรายละเอียดดังนี้
แบบตัวต่อตัว
คนร้าย (abuser) มักจะเป็นคนที่เด็กรู้จักและให้ความไว้วางใจ โดยคนที่คิดจะล่วงละเมิดทางเพศเด็กจะมีกระบวนการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งข้อมูลจากมูลนิธิศานติวัฒนธรรมได้ระบุว่ามีด้วยกัน 7 ขั้นตอน ได้แก่
เลือกเป้าหมาย โดยเป้าหมายมักจะเป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น รู้สึกว่าครอบครัวของตนเองไม่อบอุ่น พ่อแม่ขาดการสอดส่องใส่ใจหรือปล่อยปละละเลย มีฐานะยากจนต้องการความช่วยเหลือด้านการเงินจากผู้อื่น กำลังมีปัญหาชีวิต
สร้างความไว้วางใจ ทำความรู้จักพ่อแม่ผู้ปกครองจนได้รับการฝากฝังให้ช่วยดูแลบุตรหลาน
ใช้บุญคุณ ทำทีเป็นใส่ใจให้ความดูแลช่วยเหลือ ทำให้เด็กรู้สึกว่านี่คือคนสำคัญในชีวิตหรือเป็นผู้มีพระคุณ
กระตุ้นให้อยู่ลำพัง หาโอกาสแยกเด็กให้อยู่ตามลำพังสองต่อสองด้วยกัน
ให้ฟังความลับ บอกเรื่องส่วนตัว ขอให้เด็กเก็บเป็นความลับ ทำให้เด็กรู้สึกเป็นคนพิเศษ
จับเนื้อต้องตัว เริ่มมีการล่วงเกินแตะต้องเนื้อตัวจากน้อยไปหามาก จนเด็กโอนอ่อนผ่อนตามเพราะเด็กรู้สึกสับสนจึงเลือกพฤติกรรมตอบสนองไม่ถูก โดยเด็กมีความสงสัยว่าตนเองถูกล่วงเกินแต่ก็รู้สึกไม่มั่นใจกลัวว่าจะคิดไปเอง เช่น คนร้ายเริ่มลูบหัวแล้วไล่ลงมาที่ต้นแขนซึ่งเป็นสัมผัสสับสนที่เด็กไม่รู้แน่ชัดว่าตนเองกำลังถูกลวนลามหรือไม่
ใช้การขู่บังคับหรือควบคุม มีการถ่ายคลิปหรือบันทึกภาพเพื่อเอาไว้ใช้ขู่ให้ทำตามที่คนร้ายต้องการ
แบบออนไลน์
เลือกเป้าหมาย (กลุ่มเป้าหมายคล้ายกับกรูมมิ่งแบบตัวต่อตัว)
สร้างความถูกใจไป private chat
ผูกพันใกล้ชิด
คิดคำนวณความเสี่ยง
เพียงเราสองคนเล่าความลับ
จับแลกกล้อง
บังคับให้ต้องทำตาม
Child Grooming จะกลายเป็นภัยเงียบที่ไม่มีใครเข้าไปให้ความช่วยเหลือเด็กหากสังคมขาดความเข้าใจกระบวนการตระเตรียมเพื่อล่วงละเมิดทางเพศทั้ง 2 รูปแบบตามที่เล่าไปข้างต้น เพราะโดยมากแล้วสังคมมักจะรับรู้เมื่อเด็กถูกล่วงละเมิดไปแล้ว และแทบจะทุกครั้งที่สังคมมักจะตั้งคำถามต่อเด็กว่า “ได้ขัดขืนเขาหรือเปล่า” “ได้มีการตะโกนขอความช่วยเหลือไหม” หรือ “แล้วเธอจะไปกับเขาสองต่อสองทำไม” ซึ่งคำถามเหล่านี้นอกจากจะทำให้เด็กไม่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว ยังทำให้เด็กเกิดความรู้สึกโทษตนเอง รู้สึกไร้ค่า
และหากเด็กยังคงต้องอยู่ในวังวนของการถูกล่วงละเมิดทางเพศอยู่ เด็กก็จะรู้สึกสิ้นหวัง ซึ่งความรู้สึกสิ้นหวังนี้เองที่มักจะนำไปสู่การตัดสินใจจบชีวิตลงของเหยื่อหลาย ๆ คน และแน่นอนว่ามีเหยื่อส่วนหนึ่งที่จบชีวิตลงสำเร็จ ตัดภาพไปที่คนร้ายซึ่งได้มีโอกาสที่จะใช้ชีวิตอย่างปกติสุขต่อไป โดยคนร้ายจำนวนมากไม่มีความสำนึกผิดต่อสิ่งที่ตนได้กระทำ รวมถึงก็ยังคงมีการกระทำกับเหยื่อรายต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายครั้งเมื่อจับคนร้ายได้และนำไปทดสอบทางจิตเวชก็พบว่าคนร้ายมีอาการไซโคพาธ (psychopath)
ทำอย่างไรจึงจะช่วยกันป้องกันภัย Child Grooming ให้กับลูกหลานของเราได้?
ดูแลใส่ใจบุตรหลานอย่างเสมอต้นเสมอปลายตั้งแต่ปฐมวัย เด็กที่เติบโตมาพร้อมกับ Self-esteem ที่อยู่ในระดับดีมักจะกล้าปฏิเสธและกล้าเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองให้คนในครอบครัวฟัง ซึ่งหมายความว่าเด็กที่ครอบครัวอบอุ่นใส่ใจจะไม่ตกเป็นเป้าหมายของคนร้ายเพราะยากที่จะเข้ามาตีสนิทเพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็ก
เมื่อเด็กมาเล่าว่าถูกล่วงเกินด้วยสัมผัสสับสน เช่น ถูกลูบต้นขา ไม่ควรบอกเด็กว่า “คิดไปเอง” ควรเชื่อเด็กไว้ก่อนโดยไม่ต้องกลัวคดีพลิก เพราะหากเด็กกุเรื่องขึ้นมาก็จะไม่มีร่องรอยหลักฐานใด ๆ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นมลทินในที่สุด แต่หากเด็กมาเล่าแล้วผู้ใหญ่ทำท่าทีไม่เชื่อแล้วมันเป็นเรื่องจริง โอกาสที่เด็กจะถูกข่มขืนล่วงละเมิดอย่างต่อเนื่องจะมีมาก และหากเรื่องมันเกินเลยไปถึงขั้นที่เด็กถูกข่มขู่จากคนร้าย เด็กที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือมักจะตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองลง
ช่วยกันเผยแพร่บอกต่อความรู้เรื่อง Child Grooming เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจว่าการข่มขืนที่แยบยลมีอยู่จริง และการข่มขืนที่เหยื่อไม่ขัดขืนก็เป็นการข่มขืนอยู่ดีเพราะเหยื่อไม่ได้ต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคนร้าย ซึ่งก่อนที่เด็กจะมาถึงขั้นถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้น คนร้ายได้มีการตระเตรียมและลงมือตามขั้นตอนทั้ง 7 ขั้นตอนของการกรูมมิ่งโดยตลอดเวลาที่กระทำจะมีความแนบเนียนมาก
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง:
มูลนิธิศานติวัฒนธรรม https://www.peaceculturefoundation.org/
Child Online Protection Guideline 3.0
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยา
コメント