ลูกไม่อยากไปโรงเรียน! แก้ไขได้หากรู้และเข้าใจสาเหตุที่แท้จริง
ตอนนี้บ้านเราก็เข้าสู่ฤดูเปิดเทอมกันอีกแล้ว และปัญหาที่คุณพ่อ คุณแม่บ้างบ้านแสนจะปวดหัว ก็คือ ลูกไม่อยากไปโรงเรียน บางคนก็แสดงอาการเบา ๆ เช่น บ่น ตื่นสาย แต่งตัวช้า แต่บางรายคุณพ่อ คุณแม่แทบจะกรีดร้องออกมาเพราะน้องงอแงหนักมาก ต้องลากกันไปโรงเรียนเลยทีเดียว ในฐานะของคุณแม่ท่านหนึ่งที่โชคดีว่าลูกรักการไปเม้ามอยกับเพื่อน กับคุณครูที่โรงเรียนมากจึงไม่ต้องปวดหัวกับอาการลูกไม่อยากไปโรงเรียน แต่ก็มีความห่วงใยไปถึงคุณพ่อ คุณแม่ที่กำลังร้อนใจเรื่องของลูก ๆ จึงนำข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยามาฝากกันค่ะ
ก่อนที่เราจะไปดูวิธีแก้ไขปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียนนั้น เรามาทำความเข้าใจถึงสาเหตุและข้อสังเกตที่บอกว่าลูกมีปัญหาที่โรงเรียนกันก่อนดีกว่า โดยสาเหตุหลัก ๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา และนักจิตวิทยาโรงเรียนพบได้บ่อย ก็คือ
1. เด็กมีพัฒนาการไม่สมวัย
เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ไม่สมวัย จะมีความเครียด ความกังวลอย่างมากต่อการไปโรงเรียนเพราะเรียนไม่ทันเพื่อน มีพัฒนาการไม่เท่าเพื่อน ส่งผลให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้น้อยกว่าเพื่อน เข้ากับเพื่อนไม่ได้ หากคุณพ่อ คุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกพูดช้า ทรงตัวช้า หยิบจับอะไรลำบาก สามารถพาน้องมาประเมินพัฒนาการได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านได้นะคะ
2. กลัวการแยกจาก
โดยปกติแล้วเด็กที่เพิ่งเข้าเรียนครั้งแรกมักจะมีความวิตกกังวลต่อการแยกจาก (Separation Anxiety) ซึ่งเป็นพฤติกรรมปกติตามพัฒนาการ ที่เด็กจะกังวล จนงอแงออกมาเพราะต้องไปใช้ชีวิตในสถานที่ใหม่ ต้องแยกจากพ่อ แม่ หรือคนที่เด็กคุ้นเคย แต่ไม่นานเด็ก ๆ จะปรับตัวได้ แต่ถ้าเด็กมีอาการหนักมาก เช่น ไม่ยอมรับประทานอาหาร ไม่ยอมหลับยอมนอน งอแงหนักมาก นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าความกังวลอาจพัฒนาเป็นโรควิตกกังวลต่อการแยกจาก (Separation Anxiety Disorder) ได้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาโดยด่วนค่ะ
3. ถูกแกล้ง
ปัญหาสามัญที่พบเจอได้แทบทุกโรงเรียน คือ ลูกถูกแกล้งจนไม่อยากไปโรงเรียน หรือหนักกว่านั้นคือถูกครูทำโทษโดยการทำร้ายร่างกายก็ตาม ทำร้ายจิตใจก็ตามจนไม่อยากไปโรงเรียน
4. เด็กมีปัญหาด้านการเรียน
เด็กที่มีการเรียนรู้ช้า หรือมีภาวะการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disability: LD) โดยเด็กจะมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้งสามด้าน ดังนี้ (1) การเรียนรู้บกพร่องด้านการอ่าน (2) การเรียนรู้บกพร่องด้านการเขียน และ (3) การเรียนรู้บกพร่องด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งจะทำให้เด็กมีความเครียดสูงในการเรียน จนไม่อยากไปโรงเรียน
5. เจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช หรือใช้สารเสพติด
นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน ก็คือ มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคเครียด โรควิตกกังวลผิดปกติ โรคย้ำคิดย้ำทำ Phobia เป็นต้น หรือหากเด็กติดสารเสพติดก็มีปัญหาในการใช้ชีวิต และการเรียนเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ คุณพ่อ คุณแม่สามารถสังเกตพฤติกรรมของลูกที่ผิดแปลกไปได้ว่าลูกมีปัญหาที่โรงเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว และตรงจุด โดยข้อสังเกตดังกล่าว ได้แก่
6. มีบาดแผลที่ร่างกาย หรือมีความผิดปกติที่ร่างกาย
หากเด็ก ๆ มีร่อยรอบฟกช้ำ จ้ำเขียว รอบเล็บ รอยฟันกัด มีบาดแผลตามร่างกาย หรือไม่ยอมให้เราดูร่างกาย ขอให้ลองสอบถาม หรือสืบดูให้แน่ชัดว่าลูกเราโดนทำร้ายมาหรือไม่ เพราะเด็กส่วนใหญ่มักไม่กล้าบอกว่าถูกเพื่อนแลก้ง หรือถูกครูทำร้าย
7. อารมณ์ผิดปกติ
หากลูกมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หรือซึมเศร้า เก็บตัว หรือมีอารมณ์ใด ๆ ก็ตามที่ผิดแปลกไปจากเดิม นั่นเป็นสัญญาณว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกแล้วค่ะ ควรสอบถาม หรือหาสาเหตุเพื่อช่วยเหลือน้องโดยด่วน ก่อนที่จะพัฒนาเป็นโรคทางจิตเวชได้
8. มีพฤติกรรมแปลกไปอย่างเห็นได้ชัด
ไม่ว่าจะเป็น ลูกเปลี่ยนจากเด็กร่าเริงกลายเป็นเด็กเก็บตัว กลัวคนแปลกหน้า ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสินใจด้วยตนเอง ฝันร้าย นอนไม่ดี ละเมอแปลก ๆ ก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย หรือเมื่อต้องไปโรงเรียนจะมีอาการป่วยที่หาสาเหตุไม่ได้เสมอ ๆ นั่นเป็นสัญญาณว่าลูกได้รับการกระทบกระเทือนจิตใจค่ะ
9. มีพัฒนาการถดถอย
การมีพัฒนาการถดถอย ก็คือ การที่ลูกมีพฤติกรรมหรือการแสดงออกที่เด็กกว่าวัย เช่น ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ บ้วนข้าว บ้วนน้ำลายไปเรื่อย ลงไปงอแงกับพื้น นั่นก็เป็นสัญญาณอันตรายที่บอกว่าลูกต้องการความช่วยเหลือค่ะ
ทีนี้เมื่อเราทราบสาเหตุและข้อสังเกตแล้วว่าลูกมีปัญหาที่โรงเรียน เราจะมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ ดังนี้ค่ะ
10. ลดความกังวลของตนเองลงก่อน
สิ่งแรกที่คุณพ่อ คุณแม่ควรทำเพื่อตระหนักได้ว่าลูกมีปัญหาจนลูกไม่อยากไปโรงเรียน ก็คือ ควบคุมความวิตกกังวลของตนเองให้ได้เสียก่อน เพราะความกังวลของเราอาจแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธ ความเศร้า หรืออารมณ์ทางลบอื่น ๆ ได้แล้วจะพาลทำให้เรื่องใหญ่ขึ้นไปอีก จากที่จะแก้ปัญหา กลายเป็นเราสร้างปัญหาขึ้นมาเพิ่ม โดยปัญหาเดิมก็ไม่ได้แก้
11. สืบหาสาเหตุให้แน่ชัด
เมื่อเราตั้งสติได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป ก็คือ สืบหาสาเหตุให้แน่ชัดว่าสิ่งที่เรารู้เป็นจริงหรือไม่ หรือสิ่งที่ลูกบอกมานั้นจริงแท้แค่ไหน ไม่ใช่ว่าเราไม่เชื่อใจลูก แต่เพื่อความกระจ่างชัดและยุติธรรมกับทุกฝ่าย เราควรหาความจริงและหลักฐานให้เพียงพอก่อน เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงค่ะ ไม่เช่นนั้นเราจะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
12. ปรึกษาครู หรือผู้บริหารโรงเรียนเพื่อหาแนวทางแก้ไข
เมื่อเรามีข้อมูลจากข้อเท็จจริงเพียงพอแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่คุณพ่อ คุณแม่ควรทำก็คือแจ้งครูประจำชั้น หรือครูที่ปรึกษาเพื่อให้ครูทราบปัญหา ก่อนขอปรึกษาเพื่อหาทางแก้ไข แต่ถ้าปัญหาใหญ่เกินไป อาจจะต้องขอพบผู้บริหารโรงเรียนเพื่อปรึกษาหาทางออกร่วมกันค่ะ
13. ถ้าแก้ไขไม่ได้แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนย้ายโรงเรียน
หากที่สุดของที่สุดแล้ว เห็นว่าลูกอยู่โรงเรียนนี้ต่อไปคงไม่ปลอดภัยและไม่มีความสุข ขอแนะนำให้คุณพ่อ คุณแม่ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญสายต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจย้ายโรงเรียน เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา หรือแม้แต่นักกฎหมายก็ตาม เพื่อให้การย้ายครั้งนี้เป็นการจบปัญหา ไม่ใช่การหนีปัญหา และป้องกันการเกิดปัญหาเดิม ๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วยค่ะ
โรงเรียนเปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองของลูก แต่เป็นบ้านที่พ่อ แม่อย่างเราเข้าไปมีส่วนร่วมค่อนข้างน้อย จริง ๆ แล้วโรงเรียนควรเป็นสถานที่ที่เขาจะได้ฝึกเข้าสังคม ฝึกการเรียนรู้ต่าง ๆ รวมถึงเป็นสถานที่บ่มเพาะ สร้างตัวตนของลูกขึ้นมา เพราะฉะนั้นแล้วความสุขในการอยู่ที่โรงเรียนของลูกจึงสำคัญมาก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียนค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : พญาไท. (2563, 15 ตุลาคม). ทำไมลูกไม่อยากไปโรงเรียน? นี่คือสาเหตุและอาการผิดปกติที่พ่อแม่ควรรู้. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2023 จาก https://www.phyathai.com/article_detail/3396/th
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก อดีตนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments