ฟังเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน ชวนเช็คตัวเองว่าคุณเป็นผู้ฟังระดับไหน
- นิลุบล สุขวณิช
- Apr 3
- 1 min read
Updated: Apr 4

เมื่อพูดถึงคำว่า “การให้คำปรึกษา” หลายคนก็อาจจะนึกถึงในส่วนของคำแนะนำ คำพูดปลอบใจ หรือการให้แนวทางในการแก้ไขปัญหาเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เวลาที่มีคนมาปรึกษา หลายคนก็มักจะเป็นฝ่ายพูดมากกว่าเพราะคิดว่าคนที่มาปรึกษาน่าจะต้องการแนวทางหรือวิธีการแก้ไข
รวมถึงหลายคนก็รู้สึกว่าตัวเองก็รับฟังคนที่มาปรึกษาอย่างเต็มที่แล้ว แต่ทำไมปัญหาของเขายังวนลูปไม่เห็นจะดีขึ้นเลย หรือที่แย่ไปกว่านั้นก็คือคนที่มาปรึกษากลับรู้สึกว่าไม่ได้รับความเข้าใจ ซึ่งในบางครั้งมันก็เกิดขึ้นมาจากการที่ผู้ให้การปรึกษาไม่ได้เป็นผู้ฟังในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากการฟังนั้นมีหลายแบบและมีหลายระดับ
โดยในบทความนี้จะขอหยิบยกแนวคิดของ Stephen R. Covey เรื่องการฟัง 5 ระดับ และอยากจะชวนผู้อ่านเช็คตัวเองไปด้วยกันว่าคุณเป็นผู้ฟังระดับไหน
ไม่ฟัง
การฟังในระดับนี้เป็นเพียงการได้ยินเสียงผ่านเข้ามาในหูแต่ไม่ใช่การรับฟัง โดยภาษากายของผู้ฟังก็มักจะสอดคล้องตามไปด้วย เช่น มองไปทางอื่น ทำอย่างอื่นโดยไม่ได้หันมามองหรือหันมาให้ความสนใจคนที่พูด
ซึ่งการฟังในระดับนี้ไม่เหมาะแก่การนำไปใช้เลยแม้แต่ในสถานการณ์เชิงลบ เช่น โดนพูดจาดูถูก เพราะมันจะทำให้คนที่พูดยิ่งรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจและมันจะยิ่งทำให้สถานการณ์เป็นไปในทางลบมากขึ้นไปอีก
อาจเกิดความสับสนหรือบาดแผลทางจิตใจ รวมถึงเด็กอาจสูญเสียความมั่นคงทางจิตใจและความมั่นใจในตัวเองจากการที่ถูกกระทำหรือควบคุมจากผู้ใหญ่ที่มีความตั้งใจที่จะใช้ประโยชน์จากพวกเขา
แกล้งทำเป็นฟัง
แม้ว่าภาษากายจะดูเหมือนกำลังตั้งใจฟังอยู่แต่ผู้ฟังกลับใจลอยไปคิดเรื่องอื่น โดยอาจจะเป็นความตั้งใจหรือเป็นเพราะมีเรื่องที่ตัวเองกำลังจดจ่อครุ่นคิดถึงมัน แต่ในที่สุดผู้ฟังก็มักจะถูกจับได้เพราะไม่สามารถตอบคำถามหรือทวนสิ่งที่อีกฝ่ายเล่าให้ฟังหรือไม่สามารถไปต่อกับต่อการสนทนาได้
เลือกฟังแค่บางช่วงบางตอน
การฟังแบบนี้มีความคล้ายกับการแกล้งทำเป็นฟังคือจะมีการแสดงภาษากายที่เหมือนว่ากำลังตั้งใจฟังอยู่ แต่ก็จะมีการฟังอย่างตั้งใจอยู่บ้างในส่วนที่ตัวเองรู้สึกสนใจ ซึ่งผลก็จะเป็นเช่นเดียวกันคือในที่สุดก็จะถูกจับได้เพราะเมื่อถูกโยนคำถามหรือต้องเป็นฝ่ายพูดบ้างก็อาจจะตอบไม่ได้ถ้าหากมันตรงกับช่วงที่ไม่ได้ฟังพอดี
ฟังอย่างตั้งใจ
เป็นการฟังที่ผู้ฟังจดจ่อให้ความสนใจต่อคนที่พูดจึงทำให้สามารถโต้ตอบการสนทนาได้อย่างสอดคล้อง รวมถึงสามารถใช้ภาษากายได้อย่างถูกจังหวะกับเรื่องที่กำลังฟังอยู่ ซึ่งการฟังอย่างตั้งใจมันต้องเริ่มตั้งแต่การตั้งใจว่า “ฉันต้องการที่จะรับฟัง” โดยการฟังในระดับนี้จะต้องใช้ทักษะการฟังร่วมด้วยเพื่อทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าผู้ฟังนั้นตั้งใจฟังจริง ๆ และไม่มีการรบกวนหรือขัดจังหวะ
ฟังอย่างเข้าใจ
เป็นการฟังที่ไม่ใช่แค่เพื่อรับรู้เรื่องราวของอีกฝ่ายแต่เพื่อเข้าใจอีกฝ่ายผ่านเรื่องที่เขาเล่า การฟังในระดับนี้จึงต้องทำความเข้าใจภาษากายของอีกฝ่ายขณะที่เล่าควบคู่กันไปด้วย เช่น จากแววตาระหว่างที่เขาเล่ามันกำลังบ่งบอกถึงความรู้สึกอะไร เขาต้องการให้เรารู้สึกยังไงกับสิ่งที่เขาเล่า การฟังอย่างเข้าใจจะช่วยให้ผู้ฟังสามารถตอบสนองอีกฝ่ายได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
ถ้าคุณอยากจะทำให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าคุณเป็นผู้ฟังที่ดีควรทำอย่างไร?
สบตา ใช้การสบตาหรืออย่างน้อยมองหน้าอีกฝ่ายระหว่างที่สนทนากัน
ใช้ภาษากาย เช่น พยักหน้าเมื่อรู้สึกเห็นด้วยกับเรื่องที่เขาเล่า เอียงคอเล็กน้อย ยิ้ม (ให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่เขาเล่า)
ใช้เสียงที่มีความหมายเหมือนกับการพยักหน้า เช่น อืม
ทำท่าทางแบบเดียวกับอีกฝ่าย เลียนแบบภาษากายบางอย่างที่อีกฝ่ายทำ ทั้งนี้ ผู้เขียนขอเพิ่มเติมว่าการเลียนแบบท่าทางของอีกฝ่ายค่อนข้างมีความเป็นศิลปะ เพราะหากเลียนแบบทุกท่าทางหรือเลียนแบบผิดจังหวะก็อาจจะทำให้อีกฝ่ายเข้าใจผิดไปว่าผู้ฟังล้อเลียนเขา การเลียนแบบท่าทางจึงควรเลือกในส่วนที่ผู้ฟังรู้สึกว่ามันมีประโยชน์
เช่น มันน่าจะมีความหมายบางอย่างจึงอยากทำซ้ำเพื่อให้เขาได้เห็นมันชัดเจนมากขึ้นและอาจจะเกิดความเข้าใจตัวเองขึ้นมาจากการเห็นท่าทางของตัวเองผ่านการเลียนแบบของผู้ฟัง
ทวนประโยคของอีกฝ่าย หยิบเอาสิ่งที่อีกฝ่ายพูดมาเรียบเรียงแล้วพูดออกไปในแบบของผู้ฟัง การทำเช่นนี้จะเป็นการช่วยเช็คไปในตัวว่าผู้ฟังเข้าใจอีกฝ่ายถูกต้องหรือไม่
ถาม แสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าผู้ฟังสนใจในเรื่องที่เขาเล่าด้วยถาม ทั้งนี้ ผู้เขียนขอเพิ่มเติมว่าการถามนั้นค่อนข้างจะมีความละเอียดอ่อน หากผู้ฟังตั้งคำถามที่ไม่เหมาะสมอาจจะทำให้เขารู้สึกถูกตัดสินหรือตำหนิได้
นอกจากนั้น การถามไม่ควรเป็นไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นเรื่องส่วนตัวของอีกฝ่าย แต่ควรมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่ออีกฝ่ายเป็นหลัก เช่น เพื่อให้เขาเกิดความเข้าใจตัวเองมากขึ้น เพื่อเช็คว่าทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันหรือไม่
เลือกใช้คำเชิงบวก เช่น “คิดแบบนี้ก็ดีนะ”
เรียกชื่อของอีกฝ่าย การเรียกชื่อของเขาในระหว่างที่สนทนากันจะช่วยให้เขารู้สึกดีมากขึ้น
สรุป หลังจากที่ฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้วให้ผู้ฟังเป็นฝ่ายสรุป เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าผู้ฟังตั้งใจฟังตั้งแต่ต้นจนจบ
แม้ว่าการเป็นผู้ฟังที่ดีนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน แต่การฟังนั้นมีลักษณะเป็น “ทักษะ” นั่นหมายความว่าหากได้รับการฝึกฝนและฝึกปฏิบัติบ่อย ๆ ก็จะสามารถทำได้ไปจนถึงเกิดความชำนาญ
นอกจากนั้น การฟังถือว่าเป็นทักษะที่ต้องนำมาใช้มากที่สุดในการให้คำปรึกษา เพราะแม้ชื่อของมันคือ “ให้” คำปรึกษา แต่ส่วนมากแล้วที่มีความทุกข์ใจมักมาด้วยความอัดอั้นและต้องการหาพื้นที่ปลอดภัยให้กับตัวเองในการระบายความอัดอั้นนั้น ๆ ออกมา จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการเป็นผู้ฟังที่ดีที่สำคัญมากในการให้คำปรึกษา
หากคุณสนใจพัฒนาทักษะการฟังหรือทักษะด้านจิตวิทยาจาก iSTRONG สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ คอร์สนักให้คำปรึกษาระดับ Fundamental
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
The 5 Levels of Listening. Retrieved from
What is Effective Listening? Retrieved from
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) เคยมีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นนักเขียนบทความให้กับ ISTRONG และเป็นทาสแมวคนหนึ่ง
Nilubon Sukawanich (Fern) have had experience working as a counseling psychologist at a university and as a speaker on mental health issues and self-development for students for 11 years. Currently, I am a writer for ISTRONG and a cat slave.