top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ลีโอกิ้งก่านักให้คำปรึกษากับภาพสะท้อนบทบาทของนักจิตวิทยาในโรงเรียน



ผู้เขียนได้มีโอกาสลองดูแอนิเมชันเรื่อง “ลีโอ” ตามคำแนะนำของเพจดังเพจหนึ่ง ซึ่งเมื่อดูแล้วก็อดนึกถึงบทบาทของนักจิตวิทยาในโรงเรียน/สถานศึกษาไม่ได้เพราะว่ามีความคล้ายคลึงอยู่มาก และเนื่องจากผู้เขียนเองก็เคยมีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเป็นเวลากว่า 11 ปี จึงอยากบอกเล่าถึงบทบาทและความสำคัญของการมีนักจิตวิทยาอยู่ในสถานศึกษา โดยขอนำแอนิเมชันเรื่องลีโอเข้ามาช่วยให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้นว่าทำไมจึงควรมีนักจิตวิทยาโรงเรียน ได้แก่


  1. Coming of age ไม่เคยเป็นเรื่องง่ายแม้ว่าจะเกิดขึ้นในวัยเด็ก

แม้จะมีความพยายามจากทุกภาคส่วนที่ช่วยให้ข้อมูลความรู้แก่พ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ก็ยังพบว่ามีหลายครอบครัวที่ยังคงมีความเชื่อว่าปัญหาของเด็กเป็นเรื่องเล็กน้อยและดูไร้สาระในสายตาของผู้ใหญ่ ทำให้เมื่อเด็กมาพูดคุยถึงสิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่สบายใจกับคนในครอบครัว ก็มักจะถูก ‘ด้อยค่า’ ปัญหาด้วยการเอาไปเทียบกับปัญหาของคนอื่น เช่น เด็กรู้สึกกลุ้มใจกับร่างกายของตัวเองที่ทำให้ไม่มั่นใจ แต่คนในบ้านกลับหัวเราะขบขันแทนที่จะรับฟังความรู้สึกของเด็ก แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาทุกแขนงรวมถึงนักจิตวิทยาจะถูกฝึกฝนด้านการให้คำปรึกษาซึ่งนำไปสู่การมีท่าทีที่แตกต่างจากคนทั่วไปเวลาที่เด็ก ๆ มาเล่าปัญหาให้ฟัง ซึ่งเป็นท่าทีเดียวกับที่ลีโอมีต่อเด็ก ๆ คือ อบอุ่น เป็นมิตร อ่อนโยน และทำให้รู้สึกปลอดภัยที่จะเล่าออกมา


2. ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาได้โดยธรรมชาติ

จะเห็นได้ว่าลีโอ(กิ้งก่า) และสเควอเทิล(เต่า) มีธรรมชาติที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แม้ว่าทั้งสองจะมีใจที่อยากจะช่วยเด็ก ๆ ให้สบายใจมากขึ้น แต่ทั้งท่าทีและวิธีการของทั้งสองส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของเด็กไม่เหมือนกันเลย โดยลีโอจะมีการฟังและการสะท้อนความรู้สึกผ่านท่าทีที่อบอุ่นใจเย็น ส่วนเต่านั้นกลับถามไปตรง ๆ และเร่งรัดให้เด็กบอกว่าเด็กมีปัญหาอะไร ซึ่งเมื่อเด็กเล่าออกมาเต่ากลับให้คำแนะนำที่ไม่ได้ช่วยให้เด็กรู้สึกดีขึ้นมาเลย ต้องขออภัยที่เต่าทำให้ผู้เขียนนึกถึงผู้ใหญ่หลายคนที่มีจิตเมตตากรุณาแต่ขาดความเข้าใจกระบวนการให้การปรึกษาที่ถูกต้อง ทำให้แทนที่จะช่วยเหลือเด็กได้กลับกลายเป็นทำให้เด็กถอยตัวออกห่างไม่อยากกลับมาปรึกษาอีก ดังนั้น การให้การปรึกษาที่ทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจึงมักจะมีประสิทธิภาพมากกว่า ยกเว้นว่าจะเป็นคนที่ born to be มากจริง ๆ ซึ่งก็มีอยู่จริง..แต่มีไม่เยอะ


3. ทุกคนล้วนอยากถูกรักและไม่อยากถูกคนอื่นเกลียด…โดยเฉพาะเด็กวัยทีน

สังเกตว่าตัวละครนักเรียนแต่ละคนมักจะมีปัญหาหลัก ๆ เกี่ยวกับการเข้าสังคม เช่น รู้สึกว่าเพื่อนไม่ชอบแต่ก็ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรและต้องทำยังไงถึงจะเป็นที่รักของเพื่อน ๆ ถูกพ่อแม่ปกป้องมากเกินไป (Overprotection) จนไม่มีโอกาสได้สนิทสนมกับเพื่อน ๆ เท่าที่ควร ไม่มั่นใจในร่างกายของตัวเองทำให้กังวลว่าเพื่อน ๆ จะคิดยังไงที่เขาเป็นแบบนี้ ซึ่งหากผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องพัฒนาการตามวัยของมนุษย์ ก็จะมองว่าปัญหาพวกนี้ไม่ควรจะเป็นปัญหา หรือเอาตัวเองมาเป็นมาตรฐานว่าสมัยที่ตัวเองอายุเท่ากันก็ไม่เห็นว่าจะต้องทุกข์อะไร ทำให้มีท่าทีที่ตัดสินเด็ก เช่น ไม่สู้ชีวิต อ่อนแอ ซึ่งผู้เขียนก็พบว่ามีผู้ใหญ่หลายคนที่คิดแบบนี้จริง ๆ โดยไม่จำกัดด้วยว่าต้องเป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุมาก แต่ผู้ใหญ่ที่มีอายุยังไม่ถึงวัยกลางคนหลายคนก็มีความคิดแบบนี้เหมือนกัน นักจิตวิทยา/ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจึงมีบทบาทสำคัญเพราะเป็นผู้ที่เข้าใจแนวคิดทฤษฎีทางจิตวิทยาพอสมควร ทำให้พอจะมองเห็นภาพว่าการที่บางคนมีท่าทีตัดสินนั้นมีที่มา และไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ทุกคนก็ยังมีเด็กน้อยข้างใน (inner child) ที่ต้องการการปลอบโยนในแบบฉบับที่อาจจะเหมือนหรือต่างกันไป หากไม่เข้าใจจุดนี้ก็จะเกิดความขัดแย้งกันซึ่งในบางครั้งก็เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงถึงขั้นแตกหักกันในครอบครัว

   

4. แม้จะรู้ดีอยู่แก่ใจตัวเอง แต่บางครั้งก็ยังอยากจะได้ยินจากคนอื่นอยู่ดี

“It’s not bad at all to be not that great!” ตัวอย่างที่ปลอบประโลมใจที่ใคร ๆ ก็รู้ดีหรืออาจจะเคยอ่านคำคมผ่านตามาบ้าง แทบทุกคนรู้อยู่แล้วว่าไม่จำเป็นต้องพยายามที่จะต้องเป็นคนที่เจ๋งอยู่ตลอดเวลา เป็นคนธรรมดาบ้างก็ได้ แต่ปัญหาคือ ‘รู้แต่ทำไม่ได้’ เพราะแม้สมองจะเข้าใจแต่ความรู้สึกมันยังคงอยู่ แต่มันกลับเป็นเรื่องที่น่าประหลาดที่หากคนที่มาพูดให้กำลังใจเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเองมันกลับทำให้รู้สึกดีกว่า หรือบางอย่างที่เหมือนจะเป็นสิ่งที่ธรรมดาสามัญแต่กลับเป็นเหมือนเส้นผมบังภูเขาที่เกิดทั้งมาทั้งชีวิตไม่เคยรู้ แต่ พอมีใครสักคนมาจุดประกายความคิดให้กลับทำให้เข้าใจและปลดล็อคจากความรู้สึกแย่ ๆ ได้เฉยเลย 


5. ครูอาจารย์เองก็ต้องการกำลังใจและใครสักคนที่รับฟังด้วยเหมือนกัน

ในหนังจะเห็นว่า Mrs. Malkin ที่มาสอนแทนครูประจำชั้นเองก็มีสภาวะทางใจบางอย่างเหมือนกัน บ่อยครั้งที่เรามักจะเห็นจากข่าวว่าครูบางคนก็ทำตัวไม่น่ารักหรือไม่มีเหตุผล แต่ส่วนมากเมื่อสำรวจไปก็พบว่าครูเองก็มีเรื่องราวในใจที่เป็นที่มาให้ทำตัวแบบนั้น หากในโรงเรียนจะมีนักจิตวิทยาที่คอยรับฟังครูอย่างเข้าใจและช่วยลดความเครียดของครูไม่ว่าจากปัญหาส่วนตัว ปัญหาสุขภาพจิต หรือเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบความรู้สึกของครูก็คงจะดีไม่น้อย 


อย่างไรก็ตาม  เป็นที่เข้าใจได้ว่าบางสถานศึกษาอาจจะไม่พร้อมที่จะจัดให้มีนักจิตวิทยาอยู่ประจำ ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นการจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจากหน่วยงานภายนอกเข้ามาให้บริการเป็นระยะแทนก็ได้ค่ะ


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong


 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comentarios


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page