ทำไมบางคนถึงรักแมวและการเป็นคนรักแมวสะท้อนถึงอะไรในตัวของทาสแมวบ้าง
มันอาจจะเป็นการยากสำหรับคนที่เฉย ๆ กับแมวในการที่จะเข้าใจว่าจะรักแมวอะไรขนาดนั้น แต่สำหรับคนที่เป็น “ทาสแมว” ก็น่าจะมีความรู้สึกร่วมกันว่าแมวเป็นมากกว่าสัตว์เลี้ยง แมวทำให้รู้สึกเหมือนมีเพื่อนที่ไว้วางใจได้และช่วยปลอบโยนจิตใจในช่วงเวลาที่เหงา ซึ่งเหตุผลว่าทำไมจึงทำให้บางคนถึงรักแมวนั้นก็มีทั้งเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์และเหตุผลในทางความรู้สึกส่วนตัว ได้แก่
ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมาแต่โบราณ มีงานวิจัยบางชิ้นที่กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับแมวนั้นเริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่ 9,500 ปีที่แล้ว โดยหลักฐานแรกสุดที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับแมวถูกค้นพบที่เกาะแห่งหนึ่งในแถบเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศไซปรัส และจากการศึกษาของ Dr. Eva-Maria Geig ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส (CNRS) พบว่ามีแมวกว่า 13 สายพันธุ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรมจากสัตว์ดุร้ายกลายเป็นสัตว์ที่เป็นมิตร ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการเรียนรู้อันเกี่ยวข้องกับการได้รับรางวัลเป็นอาหารที่ทำให้แมวกลัวคนน้อยลง ซึ่งจากข้อมูลของสถาบันแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (NIH) ก็พบว่าในปัจจุบันมีแมวกว่า 85 ล้านตัวอาศัยอยู่ในบ้านของคนอเมริกัน และอีก 70 ล้านตัวที่เป็นแมวจร
แมวคือผู้นำความสุขมาให้ จากบทความ “Why we love cats. A Personal Perspective: The felines that bring joy to our lives.” หรือแปลชื่อบทความเป็นภาษาไทยได้ว่า “ทำไมพวกเราถึงรักแมว มุมมองส่วนตัว: สัตว์สายพันธุ์แมวที่นำความสุขมาสู่ชีวิตของพวกเรา” เขียนโดย E E Smith ซึ่งปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของ Psychology Today ได้มีส่วนหนึ่งที่กล่าวว่า การมีสัตว์เลี้ยงจะช่วยให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีสุขภาวะ (well-being) และสุขภาพจิต (mental health conditions) ที่ดีขึ้น
คนที่มีความอ่อนไหวทางอารมณ์สูงมักจะมีความรู้สึกผูกพันกับแมวมากเป็นพิเศษ โดย Dr. Patricia Pendry จาก Washington State University ได้ทำการศึกษาในหัวข้อ “แมวในมหาวิทยาลัย? ตัวทำนายการตอบสนองของเจ้าหน้าที่และนักศึกษาต่อการเยี่ยมชมแมวในวิทยาเขต” ผลการศึกษาพบว่านักศึกษาที่มีบุคลิกภาพอ่อนไหวทางอารมณ์ (emotionality trait) จากแบบทดสอบ Big Five เลือกที่จะไปเยี่ยมชมแมวมากเป็นพิเศษ นอกจากนั้น Dr. Pendry ยังกล่าวอีกว่า “การตอบสนองอันละเอียดอ่อนและในบางครั้งก็คาดเดาได้ยากที่แมวให้กับเรา มันทำให้รู้สึกว่าเราได้รับการเลือกจากแมวหรือทำให้รู้สึกว่าเรา 'พิเศษ' เวลาที่มีการตอบสนองจากแมวเกิดขึ้น ฉันยังเชื่ออีกว่า กว่าเราจะรู้ได้ว่าแมวจะตอบสนองยังไงมันต้องใช้เวลา เราจึงถูกดึงดูดโดยความอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับแมวต่อไป"
ปฏิกิริยาการตอบสนองทางจิตวิทยาในเชิงบวก Dr. Pendry ได้ระบุว่า การที่แมวให้ความสนใจแก่เรา นั้นช่วยบรรเทาความเหงา ช่วยมอบความสบายใจและความสนุกสนาน รวมไปถึงการเล่นของแมว การอ้อน และการอนุญาตที่พิเศษและไม่เหมือนใคร เช่น การให้เราลูบหรือสัมผัสพวกมัน การที่มันมานั่งตักของเรา จะช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซินซึ่งจะไปยับยั้งการผลิตคอร์ติซอลที่เป็นฮอร์โมนความเครียด
แนวโน้มบุคลิกภาพของคนรักแมวเป็นอย่างไร?
จากบทความในเว็บไซต์ WebMD ที่มีชื่อว่า “Slideshow: The Truth About Pets and Personality. ที่ได้กล่าวถึงบุคลิกภาพของคนรักหมา (dog person) และคนรักแมว (cat people) โดยอ้างอิงจากทฤษฎีบุคลิกภาพ 5 แบบ (Big Five) ได้ระบุว่าคนรักแมวมีแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพ ดังนี้
เปิดกว้างต่อประสบการณ์ใหม่ (Open) คนรักแมวประมาณ 11% จะมีบุคลิกภาพแบบเปิดกว้างต่อประสบการณ์ใหม่ โดยมีลักษณะเด่น ๆ ได้แก่
- ขี้สงสัย
- ชอบใช้ความคิดสร้างสรรค์
- มีความเป็นศิลปิน
- มีความเป็นนักคิดที่ไม่ชอบทำตามขนบธรรมเนียมปฏิบัติในสังคม
วิตกกังวลและอารมณ์แปรปรวน (Neurotic) คนรักแมวจะมีโอกาสมีบุคลิกภาพเป็นแบบวิตกกังวลและอารมณ์แปรปรวนมากกว่าคนรักหมาไปประมาณ 12% โดยลักษณะของบุคลิกภาพแบบ Neurotic ที่เด่น ๆ ได้แก่
- เครียดง่าย
- วิตกกังวลง่าย
- คิดมาก
ซึ่งในบทความดังกล่าวได้ระบุถึงผลสำรวจที่พบข้อมูลว่า คนที่ชอบเลี้ยงแมวมักเป็นคนขี้สงสัย ชอบคิดนอกกรอบหรือชอบทำอะไรที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงเป็นคนที่วิตกกังวลง่ายกว่า เมื่อเทียบกับคนที่ชอบเลี้ยงหมา
ข้อดีของการเลี้ยงแมว: แมวรักอิสระ
แมวถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่ไม่ต้องดูแลมาก (low-maintenance) เช่น ไม่ต้องอาบน้ำก็ได้ ไม่ต้องพาออกไปเดินก็ได้ รวมถึงแมวสามารถอยู่บ้านเองตามลำพังได้ (ถ้ามีน้ำ อาหาร และที่ขับถ่ายให้แมวอย่างเพียงพอ) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแมวจะสามารถอยู่เองได้อย่างอิสระแต่แมวก็ต้องการความรักและความสนใจจากเจ้าของด้วยเช่นกัน จึงไม่ควรที่จะนำแมวมาเลี้ยงแล้วปล่อยทอดทิ้งแมวในอารมณ์แบบ ‘มีเจ้าของก็เหมือนไม่มี’
ข้อเสียของการเลี้ยงแมว: อาจจะมีบ้างที่แมวดูห่างเหินเย็นชา
แมวบางตัวอาจจะชอบสังคม แต่แมวบางตัวก็ชอบซ่อนตัวโดยเฉพาะเวลาที่มีคนแปลกหน้ามาที่บ้านจนบางทีแขกที่มาบ้านอาจจะไม่รู้เลยว่าคุณเลี้ยงแมว แมวที่ตอนเป็นลูกแมวเคยเจอเหตุการณ์ที่ทำให้กลายเป็นแมวขี้กลัวก็อาจจะไม่ชอบมาคลอเคลียอยู่กับคน หรือบางครั้งแมวก็อาจจะกระโดดลงจากตักหรือเดินหนีไปหลังจากที่มันเบื่อที่จะเล่นกับคุณหรือใช้เวลาอยู่กับคุณจนมันพอใจแล้ว
ทั้งนี้ ผู้เขียนได้หยิบยกข้อมูลมาจากบทความของต่างประเทศ และการศึกษาที่ถูกอ้างถึงก็ทำในกลุ่มประชากรจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นการสำรวจจากประชากรคนเลี้ยงแมวทุกคนบนโลกใบนี้ ดังนั้น หากคุณพบว่ามีบางส่วนที่คุณรู้สึกไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องที่ปกติมากเลยค่ะ อย่างไรก็ตาม หากคุณมีความเครียดวิตกกังวลสูง โดยการมีสัตว์เลี้ยงไม่อาจจะปลอบประโลมใจคุณได้อีกต่อไป การพาตัวเองไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตก็อาจเป็นเรื่องจำเป็นนะคะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] Why do humans love cats, according to science, and is it healthy? Retrieved from https://www.medicalnewstoday.com/articles/why-do-humans-love-cats-according-to-science-and-is-it-healthy
[2] Why We Love Cats: A Personal Perspective: The felines that bring joy to our lives. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/us/blog/not-born-yesterday/202302/why-we-love-cats
[3] The Truth About Pets and Personality. Retrieved from https://www.webmd.com/pets/ss/slideshow-truth-about-cat-people-and-dog-people
[4] Dogs or cats? For highly emotional people, this animal may offer better support. Retrieved from https://www.medicalnewstoday.com/articles/dogs-or-cats-for-highly-emotional-people-this-animal-may-offer-better-support
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments