กัญชาเสรีกับเหรียญสองด้าน ประโยชน์ทางการแพทย์ และผลกระทบต่อสุขภาพจิต
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันแรกที่กฎหมาย "ปลดล็อก กัญชง กัญชา" หรือเรียกอีกชื่อว่า “กฎหมายกัญชาเสรี” มีผลบังคับใช้ ทำให้คนทั่ว ๆ ไปอย่างเรา ๆ สามารถปลูกกัญชาได้ในบ้านเรือน ถึงแม้ว่าในส่วนของการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง และยาสมุนไพร ยังคงต้องขออนุญาตอยู่ก็ตาม แต่นั้นก็ถือว่าเราสามารถใช้กัญชาเสรีได้มากพอในการใช้งาน และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตหากใช้มากเกินไปค่ะ
ทีนี้ ก่อนจะไปพูดถึงโทษหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพจิต เรามาดูประโยชน์ทางการแพทย์ของกัญชากันก่อนนะคะว่าหากสามารถใช้กัญชาเสรีได้แล้วจะสามารถนำมารักษาโรคอะไรได้บ้างจากบทความทางการแพทย์ของแพทย์หญิง ชลลดา เวชชศาสตร์ ได้กล่าวไว้ว่า ประโยชน์ของกัญชาในการรักษาโรคนั้น สามารถใช้รักษาโรคต่าง ๆ ดังนี้
ช่วยลดภาวะคลื่นไส้อาเจียน ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
ช่วยรักษาอาการของโรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา
ช่วยรักษาอาการจากภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อม
ช่วยลดภาวะอาการปวดเรื้อรัง ปวดประสาทส่วนกลาง ที่ใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล
ช่วยรักษาภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย HIV ที่มีน้ำหนักตัวน้อย
เพิ่มความสุขในการใช้ชีวิต ลดความเจ็บปวดจาดอาหารทางกายของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคอง
โดยแพทย์หญิง ชลลดา ได้ให้ข้อมูลว่า ส่วนของกัญชาที่นิยมนำมาใช้มากที่สุดก็คือ “ช่อดอก” เพราะมีสารสำคัญที่สามารถนำมาสกัดได้ปริมาณมากกว่าส่วนอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงกับผู้ใช้ เช่น มีอาการง่วงซึมหลังใช้สาร มีอาการเวียนศีรษะ ร่างกายเสียการควบคุม หัวใจเต้นเร็วขึ้นมาก หรือช้าลงมาก ความดันเลือดผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้สารสกัดจากกัญชาต้องระมัดระวัง และอาจต้องงดทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันขณะใช้งาน เช่น งดการขับรถ ไม่ทำงานกับเครื่องจักร งดกิจกรรมนอกบ้าน เป็นต้น แต่ถ้าหากมีความผิดปกติที่รุนแรงมาก ไม่ว่าจะเป็น เกิดอาการสับสน กระวนกระวาย วิตกกังวล ประสาทหลอน หูแว่ว อยู่ไม่สุข หรือมีอาหารแพ้รุนแรง เช่น มีผื่นขึ้น หน้าบวม ตาบวม ริมฝีปากบวม ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ทันที นอกจากนี้แล้วการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ยังมีข้อห้ามใช้ในบางกรณี ได้แก่ ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้สารสกัดจากกัญชา ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร หญิงที่วางแผนในการมีบุตร ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ห้ามใช้ในผู้ที่มีมีความผิดปกติของตับและไตที่รุนแรง ห้ามใช้ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท โรคจิตจากสารเสพติด โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว ผู้ที่มีความเสี่ยงในการทำร้ายตนเอง ผู้ที่ติดสารเสพติด รวมไปถึงนิโคติน หรือติดสุราอย่างหนักด้วย
สำหรับโทษของกัญชาที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต ก็มีไม่น้อยเช่นกันค่ะ จากการศึกษาของนายแพทย์บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ จิตแพทย์ผู้เขียนบทความทางจิตวิทยา เรื่อง กัญชากับสุขภาพจิต โดยมีใจความสำคัญว่า งานวิจัยทางจิตวิทยา ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่ใช้กัญชาอาจเกิดภาวะพึ่งพากัญชา จะมีลักษณะเหมือนกับ “ความผิดปกติในการใช้สาร” (Substance use disorder) แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า โดยการใช้เป็นประจำจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพจิต ดังนี้
1. เกิดอาการถอนยา (withdrawal)
หรืออาการที่เกิดจากการหยุดยาที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดการเสพติด ทำให้เกิดอาการหงุดหงิด กระวนกระวาย และเกิดอาการทางกาย เช่น สะบัดร้อนสะบัดหนาว เหงื่อแตก น้ำมูกไหล ท้องเสีย สะอึก เบื่ออาหาร แต่ที่พบมากจากการถอนยาในกัญชา ก็คือ คลื่นไส้ ปวดท้อง เวียนศีรษะ โดยจะมีอาการเกิดขึ้นภายใน 2 วันหลังหยุกใช้สาร และจะเกิดนานสุดถึง 26 วันหลังหยุดใช้สาร และโดยส่วนมากจะหายได้ภายหลังหยุดใช้สารไป 4 วัน
2. เกิดความรู้สึกวิตกกังวลอย่างรุนแรง (desensitization)
โดยบางรายจะเกิดความรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังจะเป็นบ้า ควบคุมความคิด อารมณ์ ความรู้สึกไม่ได้ เครียดไปหมด กลัวว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น โดยอาการจะคงอยู่ประมาณ 2 – 6 ชั่วโมง หลังใช้สารกัญชา และนานถึง 1 – 2 วันเลยทีเดียว แต่อาการจะหายไปเองได้ใน 1 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราจะสามารถใช้กัญชาเสรีได้แล้ว แต่ก็ขอให้พึงตระหนักว่ากัญชามีฤทธิ์ทำให้เราเสพติดได้ และยังไม่มีงานวิจัยทั้งทางจิตวิทยาและอื่น ๆ ที่ชัดเจนว่าสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคทางจิตเวชได้ แต่ทุกงานวิจัยพบตรงกันว่า กัญชามีฤทธิ์รบกวนการทำงานของสมอง และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตเวชได้ เช่น เกิดอาการหลงผิด หูแว่ว ประสาทหลอน อารมณ์แปรปรวน ซึมเศรา วิตกกังวลอย่างผิดปกติ เป็นตน โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ จึงเกิดความกังวลค่อนข้างมากว่า เมื่อเรามีการใช้กัญชาเสรีแล้ว กลุ่มเด็กและเยาวชนจะสามารถเข้าถึงกัญชาได้ง่ายขึ้น และเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตมากขึ้นไปด้วย
ถึงแม้ว่าการใช้กัญชาจะมีการใช้กันในประเทศไทยมานานมากแล้วแบบลับ ๆ และมีความนิยมใช้มากขึ้นทางการแทพย์ แต่การปลดล็อกกัญชาเสรี ก็จะยิ่งทำให้มีการนำกัญชามาใช้กันอย่างมากขึ้น และแพร่หลาย ซึ่งก็เป็นการยากที่จะจำกัดการใช้งาน ด้วยความห่วงใย จึงขอส่งถ้อยความมาสร้างความตระหนัก ว่า “สิ่งใดมีคุณอนันต์ สิ่งนั้นย่อมมีโทษมหันต์” กัญชาก็เช่นกันนะคะ โปรดมีสติในการใช้งานนะคะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง :
[1] BBC News. (9 มิถุนายน 2565). กัญชา กัญชง : เสรี ปลดล็อก ข้อกังวล กับ คำชี้แจงจากรัฐบาล. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2565 จาก https://www.bbc.com/thai/61741342
[2] ชลลดา เวชชศาสตร์. (มปป.). กัญชาทางการแพทย์ ทางเลือกเพื่อช่วยผ่อนคลาย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2565 จาก https://th.yanhee.net
[3] บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์. (มปป.). กัญชากับสุขภาพจิต. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2565 จาก https://mnfda.fda.moph.go.th/narcotic/wp-content/uploads/2021/02/3kick-off_DOMH-2.pdf
บทความแนะนำ : กัญชากับการบำบัดโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ (https://www.istrong.co/single-post/marijuana-adhd-adult)
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ในการนำศาสตร์จิตวิทยามาใช้ในการดูแลครอบครัว มากว่า 7 ปี อีกทั้งยังประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต และมีความสุขกับการเขียนบทความจิตวิทยา
Comments