top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เช็คพฤติกรรม คุณทำร้ายจิตใจลูกโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า



เมื่อรู้ตัวว่าจะได้เป็นพ่อ เป็นแม่คน ไม่ว่าใครก็ย่อมตั้งความคาดหวังกับตัวเองไว้ว่า “ฉันต้องเป็นแม่/เป็นพ่อ ที่ดีที่สุดให้กับลูก” แต่ในความเป็นจริงแล้วเราก็เผลอที่จะทำร้ายจิตใจลูกโดยที่เราไม่รู้ตัวกันเสียบ่อย ๆ นั่นก็เพราะเมื่อลูกโตขึ้นทุกวัน มีความเป็นตัวของตัวเอง มีบุคลิกลักษณะ หรือนิสัยบางอย่างเฉพาะตัว ก็ทำให้บางทีเราก็อดจะลงโทษ ห้ามปราม หรือขัดใจเขาไม่ได้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้น ก็มักจะเป็นผลทางลบก่อนเสมอ นั่นก็คือ การทำให้อารมณ์เสียใส่กัน ทั้งโมโห โกรธ น้อยใจ ไม่พอใจ เศร้า และนำไปสู่รอยร้าวในความสัมพันธ์ของพ่อ แม่ ลูก ไปอีก เพราะฉะนั้น เพื่อการรักษาความสัมพันธ์ที่ดี ในครอบครัว เราลองมาดูกันนะคะว่า คุณมีพฤติกรรมเข้าข่ายทำร้ายจิตใจลูกตามที่ทฤษฎีจิตวิทยา ว่าไว้กันบ้างหรือเปล่า


1. การไม่ยอมรับลูก (Rejecting)

การทำร้ายจิตใจลูกด้วยการไม่ยอมรับลูก มักพบได้มากในครอบครัวที่ลูกกำลังอยู่ในวัย ที่มีความชัดเจนใน Gender และต้องการเลือก Gender เอง แต่เมื่อลูกรวบรวมความกล้าเพื่อมาบอก ความต้องการในใจ กลับถูกคุณพ่อ คุณแม่ ซึ่งเป็นคนที่ลูกรักและไว้ใจมากที่สุด เมินเฉยต่อสิ่งที่ลูกเป็น จนถึงหนักที่สุด คือ แสดงท่าทีรังเกลียดอย่างชัดเจน ทั้งการตัดออกจากครอบครัว การผลักให้ลูกออกจากบ้าน ซึ่งในทางจิตวิทยาแล้ว การทำร้ายจิตใจด้วยวิธีนี้ สร้างบาดแผลในใจให้กับคนเป็นลูกอย่างมาก และยากที่จะรักษาได้


2. การทำให้ลูกหวาดกลัว (Terrorization)

การทำร้ายจิตใจวิธีต่อมา ซึ่งเป็นวิธีที่พ่อ แม่ นิยมกันใช้กันมาช้านาน แผลในทางจิตวิทยา กัดกร่อนความกล้า ความเป็นตัวของตัวเองของลูกมาก ก็คือ การทำให้ลูกหวาดกลัว ไม่ว่าจะเป็นการขู่ว่า จะส่งให้ตำรวจจับนะ บอกให้ครูตีเลย ถ้าดื้อจะให้ตุ๊กแกมากินตับ หรือการใช้กำลังในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งตี ทุบ หยิก ดุ ด่า ขว้างปาสิ่งของ หรือนำของที่ลูกรักไปทิ้ง ก็ล้วนทำให้ลูกหวาดกลัว ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าคิดเอง ไม่กล้าแม้แต่จะเป็นตัวของตัวเองค่ะ


3. การเพิกเฉยไม่ใส่ใจ (Ignoring)

การเพิกเฉยไม่ใส่ใจ เป็นการทำร้ายจิตใจที่แตกต่างจากการไม่ยอมรับ ในแง่ที่ว่า การไม่ยอมรับลูก เป็นการเมินเฉยต่อสิ่งที่ลูกเป็น หรือสิ่งที่ลูกเสนอ แต่การเพิกเฉยไม่ใส่ใจ เป็นการไม่ให้ความสำคัญกับลูก เหมือนลูกเป็นอากาศ ไม่ว่าจะเรื่องเล็ก เช่น อาหารการกิน ความเป็นอยู่ จนไปถึงเรื่อง ที่มีความสำคัญกับอนาคตลูก เช่น เรื่องผลการเรียน การเลือกคณะ เลือกมหาวิทยาลัย เลือกงาน ซึ่งการ ทำร้ายจิตใจโดยการเพิกเฉยไม่ใส่ใจเป็นสาเหตุหนึ่งของบุคลิกภาพที่ผิดปกติในทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “พฤติกรรมต่อต้านสังคม” หรือ (Antisocial Personality Disorder) ซึ่งผู้ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้จะก้าวร้าว มักจะก่อความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ เพราะเขาไม่เชื่อมั่นในสังคม ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง และไม่เห็นคุณค่าของคนอื่นในสังคมค่ะ


4. การแยกเด็กออกจากสังคม (Isolation)

การทำร้ายจิตใจลูกโดยการแยกลูกออกจากสังคม เป็นการทำให้ลูกมีทัศนคติทางสังคม ในเชิงลบ เช่น การห้ามลูกคบเพื่อนบางกลุ่ม และสนับสนุนให้ลูกคบเพื่อนบางกลุ่ม ก็สามารถทำให้ลูก เกิดทัศนคติแบ่งแยกชนชั้น เลือกคบเฉพาะเพื่อนที่พ่อ แม่ ยอมรับ เช่น เรียนเก่ง บ้านรวย หน้าตาดี โดยไม่สนใจนิสัยใจคอ แต่กับเพื่อนบางกลุ่มที่นิสัยดี แต่เรียนไม่เก่ง บ้านไม่รวย หน้าตากลาง ๆ ก็จะถูกมองข้ามไป ซึ่งวิธีการเช่นนี้เป็นการปลูกฝังนิสัยที่ไม่ดีให้กับลูกโดยไม่รู้ตัว ทำให้เมื่อลูกโตมา ลูกอาจ กลายเป็น Toxic People ของคนรอบข้างก็เป็นได้


5. การเอาเปรียบเด็ก (Corruption)

การทำร้ายจิตใจเด็ก โดยการเอาเปรียบเด็ก เป็นรูปแบบการทำร้ายจิตใจที่พ่อ แม่ ไม่ค่อย ทำร้ายจิตใจลูกค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่มักพบในเคสที่เด็กเป็นลูกเลี้ยง หรือเด็กฝากเลี้ยง เช่น การใช้ให้เด็กทำงานเกินตัว ใช้ให้เด็กหาเงินให้ตนเอง ใช้ให้เด็กทำงานอันตราย วิธีการเหล่านี้ทำให้เด็กรู้สึกกดดัน มีปมด้อย ขาดความอบอุ่น รู้สึกไม่ปลอดภัย เป็นการผลักดันให้เด็กหนีออกจากบ้านในที่สุด ซึ่งจะสร้างปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมายค่ะ



การทำร้ายจิตใจกัน ไม่ว่าจะตั้งใจ ไม่ตั้งใจ จะโดยตรง หรือโดยอ้อม ย่อมส่งผลเสีย ในทางจิตวิทยาทั้งนั้นเลยค่ะคุณผู้อ่าน เพราะฉะนั้นแล้ว หากคุณผู้อ่าน Check List พฤติกรรม แล้วพบว่า เข้าข่ายมีพฤติกรรมทำร้ายจิตใจลูก ขอให้เบาได้เบานะคะคุณพ่อ คุณแม่ แต่ถ้าต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม สามารถติดต่อพวกเรา iSTRONG ได้เสมอเลยค่ะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์. กันยายน 2559. คู่มือหลักสูตรการพัฒนานักจิตวิทยาโรงเรียน. กรุงเทพฯ : บริษัท บียอนด์ พับลิสชิ่ง จำกัด. หน้า 76.

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช.

และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี

เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี

ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยา ในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page