วิธีสร้างความมั่นใจให้ลูกรักของคุณ
ความมั่นใจ เมื่อพูดถึงคำนี้ แน่นอนว่าคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองท่านใดก็อยากสร้างให้กับลูกหลานของตนเพื่อเสริมให้เด็ก ๆ กล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าทำในสิ่งที่คิด กล้าเป็นในสิ่งที่ฝัน สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างไม่มีปัญหา ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า บางคนมีเส้นทางชีวิตที่ดีเพราะกล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าแสดงทัศนคติ กล้าเป็นตัวเอง แต่กับบางคน กลับไม่มีความกล้าเช่นนั้น เวลาอยู่กับกลุ่มเพื่อนจะเป็นนักยิ้มตัวยง ก็คือยิ้มอย่างเดียว แต่ไม่แสดงความเห็น ไม่แย้งเพื่อน หรือบางคนเวลาถูกเลือก หรือจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นจะสั่นตั้งแต่มือยันขา พูดผิดพูดถูกไปเลยก็มี หรือหนักกว่านั้น บางคนถึงขั้นแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อนไปเลยเพราะไม่มั่นใจในตัวเอง แล้วคนสองกลุ่มนี้มีอะไรที่แตกต่างกัน? คำตอบที่เห็นได้อย่างชัดเจนเลย นั้นคือ ความมั่นใจ แล้วที่นี่ ความมั่นใจ สามารถสร้างได้อย่างไร?
ตามหลักจิตวิทยาแล้ว ความมั่นใจ พัฒนามาจากความเชื่อใจ ดังนั้นเราจะไปรู้จักกับ ความเชื่อใจกันก่อน ความเชื่อใจ หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า trust ถูกพูดถึงในทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการอันโด่งดังของ Erik Erikson (1950) นักจิตวิเคราะห์ผู้สร้างทฤษฎีขั้นพัฒนาการทางจิตสังคม (Erikson's stages of psychosocial development) โดยได้แบ่งพัฒนาการของมนุษย์ออกเป็น 8 ขั้นตามช่วงวัย แต่ในบทความนี้เราจะพูดถึงเพียงขั้นที่ 1 ซึ่งก็คือ ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ กับ ความไม่ไว้วางใจ (Trust vs. Mistrust) โดยพัฒนาการขั้นนี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยเด็ก
กล่าวคือ หากคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองให้ความรักและการดูแลแก่เด็กอย่างสม่ำเสมอ ตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานทางกายและทางจิตใจอย่างต่อเนื่อง เช่น อุ้มเมื่อเด็กร้อง กอดเมื่อเด็กเสียใจ ไม่ปล่อยให้เด็กหิว จัดการกับความหงุดกหงิดของเด็กได้เร็ว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กพัฒนาความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจขั้นพื้นฐาน (Basic Trust) ต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เด็กไม่มีความวิตกกังวลมากจนเกินไป หรือไม่มีอารมณ์รุนแรง สามารถอยู่ตามลำพังในระยะเวลาสั้นๆ เป็นต้น
หรือกล่าวได้ว่า เด็กได้สร้างความมั่นใจให้กับตนเองแล้ว ซึ่งเป็นพื้นฐานเริ่มต้นของการพัฒนาอัตลักษณ์ (Ego Identity) หรือการรู้จักตนเองอย่างแท้จริงของเด็ก ซึ่งจะเกิดขึ้นชัดเจนในช่วงวัยรุ่นนั้นเอง นอกจากนี้แล้ว หากเด็กได้รับการส่งเสริมความมั่นใจอย่างต่อเนื่อง ความมั่นใจนั้นก็จะติดตัวเค้าไปตลอด
แต่สำหรับเด็กที่มีความรู้สึกไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น ถือเป็นความล้มเหลวของการพัฒนาความมั่นใจในตัวบุคคลคนนั้น ความไม่ไว้วางใจดังกล่าวอาจมาจากคุณแม่ คุณพ่อ หรือผู้ปกครองมีปฏิกิริยาตอบสนองไม่เหมาะสมต่อความต้องการของเด็ก เช่น แสดงท่าทีห่างเหิน ไม่ยอมรับในตัวเด็ก หรือแสดงอารมณ์ทางลบต่อเด็ก ไม่ว่าจะหงุดหงิด หรือโกรธก็ตาม ย่อมส่งผลให้เด็กขาดความเชื่อใจ และอาจมีพฤติกรรมเรียกร้องมากเกินควรอย่างไม่มีเหตุผล หรืออาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นๆ และพัฒนาความรู้สึกไม่ไว้วางใจต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม ไม่เข้าใจสิ่งแวดล้อม ไม่ไว้วางใจผู้อื่น
จะเห็นได้ว่าหากเด็กไม่มีความเชื่อใจ ความมั่นใจในตัวเด็กก็จะสร้างขึ้นมาได้ยาก อย่างไรก็ตาม ก่อนที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองจะทำให้เด็กมีความเชื่อใจนั้น ผู้ใหญ่เองก็ต้องเชื่อใจเด็กเสียก่อน นั้นคือ เชื่อมั่นในตัวเด็กว่าเด็กสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้โดยการสนับสนุนให้เด็กช่วยเหลือตนเองตามวัย สนับสนุนให้เด็กเลือกกิจกรรมตามความสนใจของเด็ก และสนับสนุนให้เด็กทำกิจกรรมนั้น ไม่บังคับหรือชี้นำเด็กมากเกินไป และที่สำคัญเมื่อเด็กผิดพลาด อย่าตำหนิ ดุด่า ลงโทษ เพราะความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และที่สำคัญที่สุด คือ อยากให้เด็กเป็นแบบไหน ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบนั้นก่อนเพื่อเป็นตัวแบบ (Role Model) ให้แก่เด็ก
เมื่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่เกิดความเชื่อใจระหว่างกันแล้วความมั่นใจของเด็กจะตามมาเอง และความมั่นใจที่เกิดขึ้นมานั้นไม่ใช่แต่เพียงความมั่นใจในตนเองเท่านั้น ยังเป็นความมั่นใจต่อคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง โดยเด็กจะมั่นใจว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจะมีคนเคียงข้างเขาเสมอ ไม่ว่าผลของการกระทำจะเป็นเช่นไรก็มั่นใจได้ว่ามีคนค่อยช่วยเหลือ หรือสนับสนุนอย่างแน่นอน ไม่ว่าเขาจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ก็ยังคงมั่นใจได้ว่าจะมีคนที่รักเขาอยู่เสมอ และความมั่นใจนี่เองที่จะพัฒนาให้สายใยในครอบครัวเข้มแข็งและมั่นคงต่อไป
อ้างอิง : Saul McLeod. 2018.Erik Erikson’s Stages of Psychosocial Development. www.simplypsychology.org/Erik-Erikson.html
コメント