top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg
iStrong team

แก้ Brownout Syndrome ปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยของคนวัยทำงาน ด้วยหลัก 4C


brownout syndrome, man working, work from home,

คุณเคยเห็นคนเก่ง ๆ Talent หรือผู้บริหารมากความสามารถในองค์กรที่อยู่ดี ๆ ก็ลาออกหนีหายไปจากองค์กรบ้างรึเปล่า คนที่ดูตั้งหน้าตั้งตา ขยันทำงาน โดยไม่เคยปริปากบ่นปัญหาใด ๆ ซักคำ แถมยังดูมองโลกในแง่ดี ให้กำลังใจคนอื่น แต่พอถึงเวลาก็ลาออกโดยที่คนอื่นไม่ทันได้คาดคิด อาการนี้อาจเข้าข่าย Brownout Syndrome


ภาวะ Brownout Syndrome ถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในภาวะทางสุขภาพจิตโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทำงาน คำว่า Brownout มาจากศัพท์ทางไฟฟ้า ที่แปลว่า พลังงานอาจจะขาดช่วงจนเกิดไฟดับบางช่วงหรือไฟตก อาการ Brownout Syndrome ในการทำงาน คือรูปแบบของความเครียดสะสมในการทำงานอย่างหนึ่ง เป็นภาวะที่พลังใจเริ่มร่อยหรอจนคิดจะลาออก หรือโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยก็ลาออกไปเลย


อาการของ Brownout จะสังเกตยากกว่า Burnout Syndrome หรือภาวะหมดไฟ เพราะ Burnout คือหมดพลังจนไม่อยากเอาอะไรแล้ว และที่สำคัญคือ เจ้าตัวก็มักจะรู้ตัวเอง หากเข้าข่าย Burnout บางอาการจะคล้ายความเครียดสะสม รวมไปถึงซึมเศร้า เช่น เครียด หมดแรง ไม่อยากลุกจากเตียง รู้สึกทุกอย่างมันท่วมท้น เกินกำลัง อยู่ ๆ ก็ร้องไห้ หรือเริ่มคิดลบกับทุกอย่างในงานจนอยากลาออก


แต่ Brownout จะสังเกตยาก เพราะเจ้าตัวอาจจะทำงานหนักตามปกติ วันหยุดก็ยังทำงาน ดูขยันมาก ส่วนมากมักพบในผู้บริหารระดับสูงหรือเป็น Talent ขององค์กรด้วยซ้ำ ดังนั้นเราจึงมักจะเจอว่า คนที่ทำงานเก่ง ๆ เอางานเอาการ แต่อยู่ดี ๆ ก็ลาออก แบบไม่มีสัญญาณมาก่อน ซึ่ง Michael Kibler ซึ่งเป็นโค้ชสำหรับผู้บริหาร ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ใน harvard business review ด้วยเช่นกัน


แม้แต่ตัวผู้เขียนเองที่ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตให้องค์กรมาจำนวนมาก ก็ยอมรับว่าภาวะ Brownout นั้นสังเกตได้ยาก เพราะบางครั้งเจ้าตัวเองก็ยังไม่รู้ตัว แต่สำหรับทีมงานของตัวเอง ผู้เขียนมักจะใช้วิธีถามทีมงานออกไปตรง ๆ ว่าคิดจะอยู่ที่นี่อีกนานมั้ย พร้อมกับการสังเกตพฤติกรรมการทำงานร่วมด้วย


ปัจจัยใดที่กระตุ้นให้เกิด Brownout Syndrome

แต่ละคนอาจจะมีปัจจัยที่แตกต่างกันไป ซึ่งอาจเกิดจากการสะสมของความหงุดหงิดในงานหรือองค์กรเอง จนเริ่มหมด passion ไปเรื่อย ๆ ความน่าหงุดหงิดเหล่านั้นมีตัวอย่าง เช่น


1. ทำงานหนักจนกระทบชีวิตส่วนตัวอื่น ๆ นอนน้อย ไม่มีเวลากินอาหารดี ๆ ทำงานหนักแต่คนในครอบครัวไม่ได้สนับสนุนเท่าไหร่นัก

2. เบื่อหน่ายกับปัญหาเดิม ๆ ที่ไม่มีทางแก้ เช่น ปัญหาในงาน หัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน

3. การเมืองในองค์กร การรับรู้ความไม่ยุติธรรม รู้สึกมีเด็กนายที่ได้ดีกว่า ทั้งที่ทำงานไม่ทุ่มเทเท่าตัวเขา

4. เริ่มไม่มีเป้าหมายที่น่าตื่นเต้น ทั้งในงานและชีวิตส่วนตัว


อาการของคนที่เข้าข่ายภาวะ Brownout Syndrome

1. บางคนอาจดูทำงานหนัก ทำงานเยอะ งานยุ่ง เสาร์อาทิตย์บางทีก็ยังทำ แต่ก็ไม่ได้แสดงความชอบหรือหลงใหลในงาน จนกระทบชีวิตด้านอื่น ๆ

2. ไม่ค่อยมีไอเดียใหม่ ๆ กับงาน หรือคนอื่นเสนอไอเดียอะไร ก็จะปฏิเสธ ทั้ง ๆ ที่อาจจะเป็นโอกาสในการเติบโต หรือบางครั้งก็ไปดับไฟไอเดียคนอื่นอีก

3. เริ่มมีข้ออ้างในการไม่มาทำงาน หรือไม่ทำงานบางอย่าง ทั้งที่เมื่อก่อนกระตือรือร้น

4. เริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพกาย เช่น ป่วยบ่อย ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และมีปัญหาด้านอารมณ์มากขึ้น เช่น ฉุนเฉียว โมโหง่าย

5. เริ่มถอยห่างจากทีมหรือแม้แต่เพื่อน ๆ เย็นชากับคนรัก หรือคนในครอบครัว

ลาออก หรือคิดจะลาออก


อย่างไรก็ตาม แต่ละคนก็อาจจะมีอาการและการแสดงออกที่แตกต่างกันออกไป



วิธีการทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด Brownout Syndrome ในการทำงาน

ผู้เขียนแนะนำสูตร 4Cs สำหรับในการทำงานร่วมกัน ดังนี้


1. Conversation คนทำงานควรหาโอกาสพูดคุยกับหัวหน้า เกี่ยวกับปัญหาหรือความหงุดหงิดที่สะสมมานาน จนเริ่มก่อกวนจิตใจ หัวหน้าเองก็ควรจัดสรรเวลาได้พูดคุยส่วนตัวกับทีมงานแต่ละคนด้วย เพราะหลายครั้งที่คนไม่กล้าพูดในที่ประชุม บางคนจึงใช้วิธีเอาไปบ่นให้เพื่อนร่วมงานฟัง แต่เข้าไม่ถึงหัวหน้า


2. Counseling หากเจ้าตัวเริ่มรู้สึกว่ารับมือเองไม่ไหว การคุยกับนักจิตวิทยาที่มีกระบวนการในการให้คำปรึกษา จะช่วยหาสาเหตุของความไม่สบายใจ ตลอดจนจัดระเบียบความคิดที่อาจกำลังยุ่งเหยิงให้เป็นระบบระเบียบ จนคุณมองเห็นทางออก ซึ่งการไปพูดคุยกับนักจิตวิทยาไม่ใช่เรื่องแปลกหรือน่ากลัว แต่เป็นเรื่องปกติที่คนเราควรต้องมีที่ปรึกษาทางจิตใจไว้ด้วย


รวมทั้งหัวหน้างานเองควรเตรียมตัวรับมือและพัฒนาทักษะการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ (Empathic Listening) รวมถึงทักษะการเป็นที่ปรึกษาเบื้องต้น (Counseling Skills) สำหรับการสนทนาที่ลึกซึ้งและช่วยทีมงานได้จริง


3. Clear goals บางครั้งงานที่ยุ่งมากนั้นทำให้คนเราหลงลืมเป้าหมายชีวิตที่เคยตั้งไว้ ทำงานหนักมากจนวันหนึ่งอาจตั้งคำถามขึ้นมาในใจว่า “เรามาทำอะไรที่นี่” ทางที่ดีคือกลับมาหยุดพักบ้าง และหาเวลานั่งเงียบ ๆ เพื่อตกผลึกกับเป้าหมายของตัวเองอีกครั้ง แล้วเริ่มจัดสรรเวลามาใส่ใจเป้าหมายและ Passion ส่วนตัวของตัวเองบ้าง เป็นการสร้างสมดุลให้ชีวิต


4. Create balance นอกจากสมดุลด้านเป้าหมายชีวิตและการทำงานแล้ว อย่าลืมที่จะดูแลชีวิตด้านอื่น ๆ ด้วย เพราะคนเราต้องดูแลเป็นองค์รวม หากด้านหนึ่งเสียไป ด้านอื่น ๆ ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่น สุขภาพกาย สุขภาพใจ ความสัมพันธ์ ความมั่นคงทางการเงิน การเข้าสังคม เป็นต้น อย่าลืมกลับไปให้ความสำคัญกับชีวิตด้านอื่น ๆ ดูแลตัวเอง นอนเพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ดูแลความสัมพันธ์ ดูแลสุขภาพการเงิน เมื่อชีวิตมีสมดุลไม่สุดโต่ง เราก็สามารถดำเนินชีวิตอย่างสุขภาพดีไปอีกยาวนาน


การทำงานย่อมมาพร้อมกับความเครียด แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล หากคนทำงาน รวมถึงองค์กรเองมีวิธีการจัดการความเครียดให้คนทำงานอย่างเหมาะสม ติดทักษะการดูแลสุขภาพใจตัวเอง รวมถึงออกแบบโปรแกรมการดูแลสุขภาพจิตให้ดี แค่นี้ ไม่ว่าทำงานคร่ำเคร่งแค่ไหน ก็ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้อย่างแน่นอน


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน

พิชาวีร์ เมฆขยาย

ผู้บริหาร iSTRONG Mental Health ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาองค์กร (M.Sc./B.Sc. Organizational & Industrial Psychology) ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาศักยภาพและ Mindset และ Positive Psychology Certified

コメント


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page