5 สิ่งนอกเหนือจากสารเคมีในสมองที่อาจเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าได้
แม้ว่าโรคซึมเศร้าจะเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยคนทั่วไปมักมีความเข้าใจว่าสิ่งที่จะทำให้เป็นโรคซึมเศร้ามาจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง แต่ในความเป็นจริงนั้นแตกต่างไป เพราะสารเคมีในสมองที่หลั่งผิดปกติหรือทำงานไม่สมดุลนั้นมันสามารถเป็นได้ทั้งสาเหตุและเป็นได้ทั้งผล
กล่าวคือสาเหตุของโรคซึมเศร้านั้นเกิดจากสารเคมีในสมองผิดปกติ หรือเพราะมีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าจนทำให้สารเคมีในสมองหลั่งผิดปกติไป ซึ่งในบทความนี้จะมาพูดถึงแบบหลังโดยจะพูดถึง 5 สิ่งที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าที่นอกเหนือไปจากปัจจัยด้านสารเคมีในสมอง ได้แก่
1. ความโน้มเอียงของพันธุกรรม (Genetic predisposition)
พันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้าแบบ Major Depressive Disorder เช่น ญาติสายตรงของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าประชากรทั่วไปประมาณ 2-3 เท่า ในฝาแฝดจะมีโอกาสประมาณร้อยละ 37 และพบความผิดปกติของยีนที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคถึงแม้จะยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นยีนตำแหน่งใดที่มีความผิดปกติและสัมพันธ์กับการเป็นโรคซึมเศร้า
2. ประสบการณ์ในวัยเด็ก (Early life experiences)
วัยเด็กเป็นวัยที่คนเราไม่สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมที่มีความเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของตนเองได้ ซึ่งประสบการณ์ในวัยเด็กที่มักส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าขึ้นในภายหลังมักเป็นประสบการณ์อันเลวร้าย เช่น ถูกทารุณกรรม ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เติบโตในครอบครัวที่ยากจนมาก ๆ หรือผู้ใหญ่ในบ้านบกพร่องในการทำหน้าที่เลี้ยงดูเด็ก (household dysfunction)
รวมไปถึงการสูญเสียพ่อแม่ในช่วงที่เด็กมีอายุต่ำกว่า 11 ปี ซึ่งเหตุการณ์ในชีวิตเหล่านี้จะทำให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรงและสัมพันธ์กับการเกิดโรคซึมเศร้า
3. คิดลบจนติดเป็นนิสัย (Negative thought patterns)
อะไรที่คนเราทำบ่อย ๆ มันจะกลายเป็นนิสัย และนิสัยสามารถกลายมาเป็นบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลได้ ซึ่งบุคลิกภาพที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าได้มากก็คือการการมีบุคลิกภาพเป็นคนคิดลบ เช่น มองโลกในแง่ลบ เห็นแต่ความบกพร่อง
หรือเป็นคนที่มีความวิตกกังวลสูงเพราะมักจะคาดการณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ไปในทางลบก่อนล่วงหน้าทั้งที่มันเป็นเรื่องในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีบุคลิกภาพแบบไหนก็สามารถเป็นโรคซึมเศร้าได้หากมีสถานการณ์แวดล้อมที่ตึงเครียดเข้ามากระตุ้น
4. มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (Low self-esteem)
มุมมองที่คนเรามีต่อตนเองส่งผลต่อความรู้สึกที่มีต่อตนเองเป็นอย่างมาก คนที่มีมุมมองต่อตนเองในทางลบมักจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าและมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ ซึ่งความภูมิใจในตนเองที่ต่ำจะส่งผลต่อสภาพจิตใจตามไปด้วย ดังนั้น คนที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำจึงมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนที่มองเห็นคุณค่าในตนเอง
โดยตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์เชื่อว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความโกรธหรือความก้าวร้าวที่พุ่งเข้าหาตนเองซึ่งเป็นผลมาจากการสูญเสีย การต้องแยกจากบุคคลที่มีความสำคัญ หรือการสูญเสียความมั่นคงในตนเอง (collapse of self-esteem)
5. ขาดการสนับสนุนทางสังคม (Lack of social support)
ความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวหรือความรู้สึกสิ้นหวังนั้นทำให้สภาพจิตใจคนเราแย่ลง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาชีวิตคนเราย่อมต้องการกำลังใจ ถึงแม้ว่ากำลังใจนั้นสามารถมาจากตัวเองได้แต่ในบางครั้งคนเราก็อยากได้กำลังใจจากคนรอบข้างเหมือนกัน
การที่คนเราขาดการสนับสนุนทางสังคมจะนำไปสู่ความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวและอาจเรียนรู้ความสิ้นหวังซึ่งอาจจะนำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้าได้
จากที่กล่าวไปข้างต้นถึง 5 สิ่งที่นอกเหนือไปจากสารเคมีในสมองที่สามารถนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้จะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปัจจัยด้านจิตสังคม ซึ่งหากจะให้ระบุสาเหตุแบบฟันธงว่าอะไรคือสาเหตุ 100% ของการเกิดโรคซึมเศร้านั้นต้องบอกว่าแม้แต่ในทางการแพทย์ก็ยังฟันธงสาเหตุไม่ได้
ดังนั้น เพื่อให้ตนเองไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า สิ่งที่คุณสามารถทำได้ก็คือการดูแลปัจจัยที่คุณสามารถควบคุมได้ก็คือจิตใจอารมณ์ของตนเอง และไม่ต้องไปโฟกัสกับปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมอย่างพันธุกรรมและสารเคมีในสมอง โดยวิธีการดูแลตนเองด้านจิตสังคมมีหลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น
ปรับวิธีคิดและมุมมองให้เป็นทางบวก
โฟกัสกับสิ่งที่ตนเองมีหรือทำได้ แทนที่จะหมกมุ่นอยู่แต่กับสิ่งที่ตนเองขาดหรือทำไม่สำเร็จ
ตรวจสอบความคิดของตนเองเสมอว่าสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่
เพิ่มทักษะในการแก้ไขปัญหาให้กับตนเอง
ฝึกทักษะทางสังคมเพื่อให้มีความสัมพันธ์กับคนอื่นดีขึ้น ลดความขัดแย้งกับรอบข้าง
กล้าที่จะขอความช่วยเหลือหรือขอคำปรึกษาจากคนอื่น
ฝึกตั้งเป้าหมายชีวิต
หากิจกรรมให้ตัวเองทำเพื่อผ่อนคลายจากความเครียด รวมไปถึงฝึกทักษะในการรับมือกับความเครียดที่หลากหลายและเหมาะกับตนเอง
หากมีประสบการณ์ที่เลวร้ายในวัยเด็กควรปรึกษานักจิตบำบัดเพื่อจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกที่คั่งค้าง หรือค้นหาสิ่งที่เป็นอุปสรรคของการมีความสุขในชีวิตเพื่อจัดการที่ต้นเหตุของความรู้สึก
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง:
[1] จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี. มาโนช หล่อตระกูล, ปราโมทย์ สุคนิชย์ บรรณาธิการ
[2] High anxiety trait: A vulnerable phenotype for stress-induced depression. Retrieved from. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0149763417308187
[3] Major Depression and Genetics. Retrieved from. https://med.stanford.edu/depressiongenetics/mddandgenes.html
[4] Relationships Between Childhood Health Experience and Depression Among Older People: Evidence From China Retrieved from. https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpsyg.2021.744865/full
[5] How Does Self-Esteem Relate to Depression? Retrieved from. https://psychcentral.com/depression/is-low-self-esteem-making-you-vulnerable-to-depression
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ ISTRONG
Comments