‘ดีใจหาย ร้ายสุดขั้ว’ รู้จักกับ Borderline Personality Disorder
ในอดีต คำว่า “Borderline Personality Disorder (BPD)” อาจยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนักสำหรับคนไทย แต่ในปัจจุบันโดยเฉพาะคนที่ได้ติดตามข่าวการพิพาทระหว่าง Johnny Depp และอดีตแฟนสาวของเขา Amber Heard อาจจะได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง เนื่องจาก BPD เป็นอาการที่นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา (forensic psychologist) ได้ให้การในศาลว่าจากการทดสอบทางจิตวิทยาพบว่า Amber Heard มีอาการของโรคนี้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า BPD หรือโรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่งจากสื่อต่าง ๆ แต่ก็อาจจะยังนึกภาพไม่ออกว่ามันมีอาการอย่างไร รวมถึงหลายคนก็มีคำถามว่ามันแตกต่างจากโรคไบโพลาร์อย่างไร เนื่องจากทั้ง BPD และโรคไบโพลาร์ ต่างก็มีอาการเด่นที่คล้ายกันคือ ‘เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย’
Borderline Personality Disorder (BPD) เป็นโรคทางจิตเวชศาสตร์ชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อวิธีการคิดที่ผู้ป่วยมีต่อตนเองและผู้อื่น รวมถึงกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยด้วย โดยผู้ป่วยจะมีปัญหาเกี่ยวกับ Self-image, การควบคุมอารมณ์พฤติกรรมของตนเอง และรูปแบบความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ผู้ป่วยไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวกับใครได้ ซึ่งอาการของ BPD ที่ผู้ป่วยต้องเผชิญนั้นสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยเนื่องจากต้องพบปัญหาในชีวิตมากมาย โดยพบว่าผู้ป่วย BPD จำนวนหนึ่งมีการทำร้ายตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรือพยายามฆ่าตัวตาย
จะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็น Borderline Personality Disorder BPD?
การประเมินว่าใครเป็น BPD นั้น จะต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ สำหรับในเมืองไทยหมายถึงจิตแพทย์ โดยจิตแพทย์จะใช้เกณฑ์ของ Diagnostic and statistical manual of mental disorders. 5th edition (DSM 5) เพื่อประเมินอาการ โดยผู้ที่มีแนวโน้มจะมีอาการของ BPD นั้น มักพบอาการพบดังนี้
รู้สึกว่างเปล่าอย่างต่อเนื่อง (Chronic feelings of emptiness)
อารมณ์ขึ้น ๆ ลงๆ ทุกวัน โดยแต่ละอารมณ์มีความเข้มข้นมาก เช่น เศร้ามาก วิตกกังวลมาก หงุดหงิดฉุนเฉียว แต่จะมีอารมณ์เหล่านั้นอยู่เพียงไม่นาน พบได้น้อยที่ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ใดอารมณ์เดียวอยู่นานหลายวัน
พยายามอย่างมากที่จะทำให้ตัวเองไม่ถูกทอดทิ้ง เนื่องจากผู้ป่วยจะกลัวการถูกทอดทิ้งเป็นอย่างมาก
มีการรับรู้เกี่ยวกับตัวเองที่ไม่มั่นคง จึงมีลักษณะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเอาแน่เอานอนไม่ได้
หุนหันพลันแล่นขาดการยับยั้งชั่งใจ จึงมักมีพฤติกรรมเสี่ยงหรือเป็นอันตรายต่อตนเอง เช่น ใช้จ่ายไม่ยั้งคิด มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ใช้สารเสพติด ขับรถเร็วมาก กินไม่หยุด (binge eating)
โกรธรุนแรงอย่างไม่สมเหตุสมผล และแสดงอารมณ์โกรธออกมาอย่างควบคุมไม่ได้ เช่น ใช้กำลังทำร้ายคนที่ผู้ป่วยรู้สึกโกรธ
รักแรงเกลียดแรง เวลามีความสัมพันธ์กับใครก็จะมีพฤติกรรมที่ไม่คงเส้นคงวา เช่น เวลารู้สึกดีด้วยก็รักมาก แต่ถ้าบุคคลเดียวกันทำอะไรให้ไม่พอใจก็จะเกลียดไปเลย (splitting: all good-all bad)
มีการพยายามฆ่าตัวตาย มีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง ซึ่งผู้ป่วยมักทำซ้ำ ๆ
หากมีความเครียดสูง ๆ อาจเกิดความคิดหวาดระแวง หรือมีอาการที่เรียกว่า “dissociative symptoms” เช่น จำอะไรไม่ได้ไปชั่วคราว ตัดขาดตัวเองจากโลกความเป็นจริง
ในบางช่วงผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคจิต แต่จะเป็นเพียงระยะสั้น ๆ (short lived psychotic episode)
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการ Borderline Personality Disorder (BPD)
พันธุกรรม มีวิจัยที่ศึกษาในฝาแฝดหรือสมาชิกในครอบครัวเดียวกันอยู่หลายงานที่พบว่าคนที่มีสมาชิกในสายเลือดเดียวกันป่วยเป็น BPD จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็น BPD ด้วยเช่นกัน
ความผิดปกติของสมอง บุคคลที่มีการเปลี่ยนแปลงของสมองในส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์และการยับยั้งชั่งใจ หรือสารสื่อประสาททำงานผิดปกติไป เช่น serotonin ก็จะส่งผลให้บุคคลมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์และการยับยั้งชั่งใจได้
ความเครียดรุนแรงในวัยเด็ก หมายถึง บุคคลที่มีประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดรุนแรงในวัยเด็ก เช่น ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทอดทิ้ง ต้องแยกจากหรือสูญเสียพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูใช้สารเสพติดจนมีการปล่อยปละละเลยหรือทำร้าย
จะทำอย่างไรหากสงสัยว่าตนเองมีอาการของ Borderline Personality Disorder (BPD)?
หากคุณเริ่มสังเกตตนเองแล้วพบว่ามีอาการที่ตรงกับอาการในเกณฑ์การประเมินหลายข้อ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการประเมินอาการ เนื่องจาก BPD ค่อนข้างมีความซับซ้อน ผู้ที่จะทำการวินิจฉัยได้จึงต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านจิตเวชศาสตร์ ได้แก่ จิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญจะสามารถใช้เครื่องมือในการวินิจฉัยได้อย่างชำนาญและมีความแม่นยำในการแปลผลจากเครื่องทดสอบ รวมไปถึงมีความเข้าใจเกี่ยวกับเกณฑ์การวินิจฉัยเป็นอย่างดี
การรักษา
จิตบำบัด เป็นการรักษาหลัก บางครั้งอาจใช้พฤติกรรมบำบัดร่วมด้วยเพื่อควบคุมพฤติกรรมที่ก้าวร้าว หุนหันพลันแล่น ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นได้ โดยในปัจจุบันมีจิตบำบัดสมัยใหม่ที่มีงานวิจัยรองรับในระดับนานาชาติว่าสามารถรักษาอาการของ BPD ได้ เช่น Schema Therapy (ST), Dialectical behavior therapy (DBT), Mentalization-based therapy (MBT)
รักษาด้วยยา โดยจิตแพทย์จะเป็นผู้ให้ยาตามอาการที่ปรากฏ
แม้ว่าอาการของ Borderline Personality Disorder (BPD) จะดูน่ากลัวสำหรับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อเราเห็นพฤติกรรมของบุคคลที่มีอาการของ BPD ที่มองเผิน ๆ แล้วดูน่าขยาดไม่อยากเข้าใกล้ แต่ในโลกของผู้ป่วยเองก็มีความทุกข์ทรมานกับอาการที่เกิดขึ้นไม่น้อย ซึ่ง BPD เป็นโรคทางจิตเวชศาสตร์ที่พบว่ามีพฤติกรรมฆ่าตัวตายเกิดขึ้นได้มากโรคหนึ่ง ดังนั้น คงจะเป็นการดีกว่าหากเราสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ BPD เพื่อหาวิธีอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้โดยไม่ไปรังเกียจ ในขณะที่ก็ไม่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเมื่อผู้ป่วยมีอาการกำเริบ หากผู้ป่วยเป็นบุคคลในครอบครัวของคุณเอง คุณสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยได้ด้วยการติดตามให้ผู้ป่วยไปพบผู้เชี่ยวชาญตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงให้ความเข้าใจผู้ป่วยว่าพฤติกรรมที่ปรากฏนั้นเกิดจากอาการของ BPD โดยให้ความช่วยเหลือเท่าที่คุณรู้สึกไหว หากเกินความสามารถควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงหากคุณต้องเผชิญกับสภาพจิตใจที่ย่ำแย่จากการต้องรับมือกับผู้ป่วย BPD คุณเองก็สามารถรับการปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือนักให้คำปรึกษาได้เช่นกัน
แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการของ BPD และเกิดความคิดฆ่าตัวตายหรืออยากทำร้ายตนเองขึ้นมา โปรดอย่าลังเลที่จะติดต่อผู้ให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตใจ เช่น นักจิตวิทยา นักให้คำปรึกษา เพื่อประคับประคองสภาพจิตใจและลดพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)
และเป็นนักเขียนของ iSTRONG Mental Health
อ้างอิง
[1] Borderline Personality Disorder (BPD) Criteria for Diagnosis. Retrieved from. https://www.verywellmind.com/borderline-personality-disorder-diagnosis-425174
[2] Borderline personality disorder. Retrieved from. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/borderline-personality-disorder/symptoms-causes/syc-20370237
[3] Amber Heard Has Borderline Personality Disorder, Forensic Psychologist Tells Court. Retrieved from. https://www.thewrap.com/amber-heard-borderline-personality-disorder-forensic-psychologist-testimony/
[4] What Is Dissociation in Borderline Personality Disorder (BPD)?. Retrieved from. https://www.verywellmind.com/dissociation-in-borderline-personality-disorder-425482
Comments