เทคนิคดูแล แฟนที่เป็นโรคไบโพลาร์ (bipolar disorder)
รู้หรือไม่? วันที่ 30 มีนาคมของทุกปีได้ถูกกำหนดให้เป็นวันไบโพลาร์โลก ซึ่งผู้ป่วยโรคไบโพลาร์นั้น หากดูจากภายนอกจะแทบไม่เห็นความแตกต่างไปจากคนทั่วไปเลย หลายคู่จึงประสบกับสถานการณ์ที่เมื่อคบกันไปจนเกิดความรู้สึกรักและผูกพันอย่างลึกซึ้งกันไปแล้ว กลับมารู้ในภายหลังว่าคนที่ตัวเองคบหาอยู่นั้นมีอาการของโรคไบโพลาร์ ทำให้แม้ว่าจะต้องรู้สึกแย่เพราะพฤติกรรมของแฟนอยู่บ่อย ๆ
แต่ก็ยังอยากจะลองพยายามรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยเหตุผลส่วนตัวของแต่ละคน การมีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ในฐานะแฟน จัดว่าท้าทายและไม่ง่ายเลย อย่างไรก็ตาม ก็ยังพอจะมีวิธีการอยู่บ้าง ดังต่อไปนี้
1. ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของแฟน
คุณจะรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ได้ยากถ้าหากคุณไม่สามารถเข้าใจพฤติกรรมของแฟนได้เลย โดยเฉพาะหากคุณคบกับแฟนที่มีอาการของโรคไบโพลาร์ ซึ่งมีคนเปรียบเทียบเอาไว้ว่ามีพฤติกรรมเหมือน “รถไฟเหาะ” แตกต่างจากคนทั่วไปที่แม้อารมณ์จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์แต่ก็จะไม่เปลี่ยนมากจนน่าตกใจเท่าผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ ดังนั้น หากคุณยังต้องการที่จะคบกับแฟนของคุณต่อ ก็ควรจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องของโรคไบโพลาร์เอาไว้เพื่อจะได้รับมือได้ไม่ว่าแฟนของคุณจะอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” หรือ “ขาลง”
โดยโรคไบโพลาร์นั้นมีด้วยกันหลายแบบ เช่น
โรคไบโพลาร์วัน (Bipolar I) จะมีอาการของโรคซึมเศร้าและกลุ่มอาการแมเนียสลับกันเป็นระยะ
โรคไบโพลาร์ทู (Bipolar II) จะมีอาการของโรคซึมเศร้าเต็มรูปแบบ แต่มีกลุ่มอาการแมเนียที่ไม่มากและไม่ชัดเจน
โรคไซโคลโทมิก (Cyclothymic disorder) จะมีอาการของโรคซึมเศร้าและกลุ่มอาการแมเนีย แต่ไม่เต็มรูปแบบ
(หมายเหตุ: กลุ่มอาการแมเนีย คือ อาการคิดเร็ว พูดเร็ว และทำเร็ว มีความคิดเยอะแยะมากมายในเวลาเดียวกัน รวม
ถึงมีอาการพูดมากและทำมาก หุนหันพลันแล่น คิดอะไรขึ้นมาก็ทำเลยโดยไม่ไตร่ตรอง ขาดความยับยั้งชั่งใจ)
ทั้งนี้ ในฐานะของแฟน คุณอาจไม่จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลอย่างลึกซึ้งก็ได้ เพียงทราบข้อมูลเอาไว้คร่าว ๆ ก็พอ เช่น อาการที่สำคัญ ๆ ของโรคไบโพลาร์ เพราะการทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ ไม่ว่าจะจากการค้นคว้าด้วยตนเอง หรือขอรับความรู้เพิ่มเติมจากจิตแพทย์ประจำตัวของแฟน จะช่วยให้คุณเกิดความเข้าใจมากขึ้นว่า พฤติกรรมต่าง ๆ ที่แฟนของคุณแสดงออกมานั้นเป็นอาการของโรคไบโพลาร์ เพื่อจะได้เข้าใจว่าแฟนของคุณกำลังเผชิญอยู่กับอะไร และจะได้รู้ว่าคุณจะต้องรับมือยังไงหากแฟนของคุณมีอาการขึ้นมา
2. เปิดโอกาสให้แฟนเล่าประสบการณ์ในการเผชิญกับโรคไบโพลาร์
ลองถามแฟนว่าเขาทำยังไงเวลาที่อารมณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในช่วงขาขึ้นและขาลง เพื่อให้แฟนได้ทบทวนว่าวิธีไหนที่ใช้แล้วได้ผลบ้าง รวมถึงคุณเองก็จะได้มีวิธีการรับมือกับอาการของแฟนได้มากขึ้นจากการฟังประสบการณ์ที่แฟนเล่า เช่น ช่วงไหนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ช่วงขาขึ้นและขาลงแฟนจะมีอาการยังไงบ้าง และเวลาไหนที่คุณต้องให้ความช่วยเหลือแฟน
3. พยายามใจเย็น
คุณอาจจะต้องพบกับความรู้สึกผิดหวังหรือรู้สึกแย่เวลาที่แฟนของคุณอยู่ในช่วงอารมณ์เปลี่ยน เช่น แฟนของคุณเปลี่ยนมาอยู่ในช่วงซึมเศร้าและขอยกเลิกแผนที่จะไปเที่ยวด้วยกัน พยายามใจเย็นและทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เขาเป็นนั้นมันคืออาการของโรคไบโพลาร์ ไม่ใช่การที่เขาจงใจแกล้งให้คุณต้องผิดหวัง โดยคุณอาจจะใช้วิธีสูดหายใจลึก ๆ หรือขอตัวออกไปเดินข้างนอกสักพักแล้วค่อยกลับเข้ามาใหม่หลังจากที่อารมณ์ของคุณเย็นลงแล้ว
4. สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา
การเก็บความทุกข์เอาไว้คนเดียวอาจยิ่งทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง มันจึงสำคัญมากที่คุณจะต้องสื่อสารกับแฟนอย่างตรงไปตรงมาว่าคุณคิดยังไง รู้สึกยังไง อย่างไรก็ตาม วิธีการสื่อสารก็สำคัญไม่แพ้กัน คุณควรเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่สร้างสรรค์ เช่น การสื่อสารแบบ I-message หลีกเลี่ยงการพูดในเชิงตำหนิโดยเฉพาะตำหนิเกี่ยวกับอาการป่วยของแฟน
5. ให้กำลังใจและสนับสนุนให้แฟนไปพบจิตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
การไปพบจิตแพทย์ตามนัดหมายและรับประทานยาตามที่จิตแพทย์สั่ง จะช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จในการรักษาอาการของโรคไบโพลาร์ รวมถึงช่วยให้พฤติกรรมของแฟนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งกำลังใจจากคุณจะเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนให้เขาเกิดความรู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น
6. ขอความช่วยเหลือเมื่อคุณเริ่มไม่ไหว
เนื่องจากการมีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ซึ่งมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงสลับขั้วไปมานั้นไม่ง่ายเลย คุณจึงควรที่จะมีแหล่งกำลังใจของตัวเองเอาไว้บ้าง เช่น เพื่อน คนในครอบครัว คนที่คุณไว้วางใจ เอาไว้ระบายหรือช่วยเติมกำลังใจให้กับคุณ หรือในกรณีที่คุณรู้สึกว่าตัวเองเริ่มจะหมดพลังและกำลังใจอย่างมาก คุณก็สามารถที่จะไปขอรับความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักให้คำปรึกษา ได้เช่นกัน ซึ่งการที่คุณไปพบผู้เชี่ยวชาญไม่ได้หมายความว่าคุณได้กลายเป็นผู้ป่วยอีกคนไปแล้ว แต่มันหมายถึงการเริ่มต้นที่จะรักและดูแลตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ก็ต้องการกำลังใจและความช่วยเหลือด้วยเหมือนกัน
หากคุณและคู่ของคุณรู้สึกว่าความสัมพันธ์ของคุณกำลังประสบปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือ การเข้ารับคำปรึกษาสำหรับคู่รัก (Couple counseling) อาจเป็นทางเลือกที่ดีในการพัฒนาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ของคุณให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ คุณและคู่ของคุณจะได้รับเครื่องมือ คำแนะนำ และกลยุทธ์ที่เป็นประโยชน์ในการเพิ่มพูนความเข้าใจ ทักษะการสื่อสาร และความแน่นแฟ้นในความสัมพันธ์ เพื่อจับมือก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ไปด้วยกัน และมุ่งสู่ความสัมพันธ์ในฝันที่มั่นคงและยั่งยืน
ตัวช่วยเรื่องความสัมพันธ์จาก iSTRONG
• รายละเอียด Couple counseling : https://bit.ly/3xGGAdc • ทำแบบประเมิน สุขภาพความสัมพันธ์คุณและคนรัก : https://bit.ly/4b059jy
• บทความฟรี !! เรื่องความสัมพันธ์ ความรัก : https://bit.ly/3xEmQqm
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) การศึกษา: ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การทำงาน: พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
และเป็นนักเขียนของ istrong
อ้างอิง
[1] Guide to Bipolar Disorder and Relationships. Retrieved from. https://www.healthline.com/health/bipolar-disorder/relationship-guide#when-you-have-bipolar
[2] What It’s Like Living With a Bipolar Spouse. Retrieved from. https://www.verywellhealth.com/living-with-a-bipolar-spouse-5205006
[3] โรคไบโพลาร์ โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
บทความที่เกี่ยวข้อง
[1] ‘โรคซึมเศร้า’ ราคาที่ต้องจ่ายของผู้ประกอบการและนักธุรกิจ https://www.istrong.co/single-post/depression-entrepreneur
Comments