Betrayal Trauma บาดแผลจากการถูกหักหลังที่ทำให้ความสามารถในการเชื่อใจพังทลาย
‘การถูกหักหลัง’ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่แต่ละคนน่าจะเคยเจอในชีวิตจนดูเหมือนว่ามันเป็นเพียงเหตุการณ์ทั่วไป แต่เชื่อหรือไม่ว่าการถูกหักหลังครั้งใหญ่มันสามารถสร้างผลกระทบและทำให้เกิดบาดแผลทางใจได้ด้วยเช่นกัน โดยบาดแผลทางใจจากการถูกหักหลัง (Betrayal Trauma) สามารถเกิดขึ้นได้จากรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลาย ดังนี้
ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ เช่น เด็กที่ต้องเติบโตมากับการถูกพ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูทารุณทำร้าย*
ความสัมพันธ์เชิงระบบ เช่น ระบบการทำงานขององค์กร ระบบการสนับสนุนทางสังคม ระบบกฎหมาย
ความสัมพันธ์กับคนรัก เช่น การถูกคู่รักทารุณทำร้าย*
ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เช่น มีความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน สมาชิกในครอบครัว
*การทารุณทำร้ายที่ส่งผลให้เกิดบาดแผลทางใจจากการถูกหักหลัง ยกตัวอย่างเช่น การทำร้ายร่างกาย การใช้คำพูดรุนแรงทำร้ายจิตใจ การทำร้ายทางอารมณ์ความรู้สึก การทอดทิ้ง การควบคุมบงการ การนอกใจ การไม่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา การมีพฤติกรรมปิดบังซ่อนเร้นที่รวมไปถึงการแอบไปสร้างหนี้สินจนทำให้เกิดปัญหาการเงิน
ผลกระทบและสัญญาณของการมีบาดแผลทางใจจากการถูกหักหลัง
- มีความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (Post-traumatic Stress Disorder: PTSD)
- มีอาการของโรคซึมเศร้า
- มีอาการของโรควิตกกังวล
- มีภาวะสูญเสียสติสัมปชัญญะและความรู้ตัว (Dissociation)
- มีปัญหาเรื่องสมาธิความจำ
- ควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ได้
- มีปัญหาในการเชื่อใจและการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น
- มีอาการปวดตามร่างกายหรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
- มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้สารเสพติด
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับการกินอาหาร (Eating disorders)
วิธีการรับมือกับบาดแผลทางใจจากการถูกหักหลัง
1. ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมไปถึงความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากถูกหักหลัง ซื่อสัตย์กับตัวเองและประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างตรงไปตรงมา
2. เขียนความรู้สึกออกมาเป็นตัวอักษร การเขียนหรือการบันทึกอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะช่วยให้สามารถสะท้อนประสบการณ์และอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และช่วยให้ได้ระบายออกมาแทนที่จะเก็บกดหรือหลีกเลี่ยงที่จะรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเองซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพจิต
3. ประมวลอารมณ์ของตนเอง เข้าไปสำรวจบาดแผลทางใจที่เกิดจากประสบการณ์ในอดีตที่มันก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกโศกเศร้า หวาดกลัว โกรธแค้น เสียดาย สูญเสีย และวิตกกังวล ซึ่งการประมวลอารมณ์ของตัวเองจะมีความสำคัญมากเพราะมันคือก้าวแรกของการเยียวยาบาดแผลทางใจ
4. ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นหรือเข้ารับการทำจิตบำบัด การได้พูดคุยกับเพื่อนหรือนักจิตบำบัดก็สามารถช่วยเยียวยาได้ด้วยเหมือนกัน เพราะคนที่มีบาดแผลทางใจจากการถูกหักหลังมักจะเชื่อใจคนอื่นได้ยากและพยายามที่จะแยกตัวเองออกมาจากคนอื่น การที่ได้ทำอะไรตรงข้ามกับความคุ้นเคยอย่างการขอความช่วยเหลือจากคนอื่นจึงเป็นการฝึกตัวเองและช่วยให้มีประสบการณ์รูปแบบใหม่ ๆ
5. ขีดเส้นให้ชัดเจน (Set boundaries) โดยเฉพาะถ้าคนที่หักหลังคุณยังอยู่ในชีวิตของคุณ คุณยิ่งควรที่จะขีดเส้นให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เขาล้ำเส้นเข้ามาและเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ
6. จดจำรูปแบบเอาไว้ใช้เป็นบทเรียน (Recognize patterns) เพื่อไม่ให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์ที่คุณเป็นฝ่ายถูกหักหลังซ้ำขึ้นมาอีก ขอให้คุณเข้าใจให้ถูกต้องว่าคุณคู่ควรกับการความสัมพันธ์ในรูปแบบที่ต่างฝ่ายต่างเกื้อกูลสนับสนุนกันและกัน
การทำจิตบำบัดช่วยอะไรได้บ้าง?
บ่อยครั้งที่มันเป็นการยากที่จะเผชิญบาดแผลทางใจด้วยตัวเองตามลำพัง นักจิตบำบัดคือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการนำกระบวนการจิตบำบัดมาใช้โดยจะต้องผ่านการฝึกฝนให้มีทักษะในการทำจิตบำบัดตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ ทั้งนี้คุณควรเลือกนักจิตบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านที่เหมาะกับปัญหาของคุณ เช่น ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจากการนอกใจก็ควรเลือกรับบริการจากนักจิตบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหาคู่สมรส ซึ่งในหลายครั้งก็พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตสมรสนั้นมีความเชื่อมโยงกับบาดแผลทางใจในวัยเด็ก หากผู้ช่วยเหลือไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ก็อาจทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนเพราะไม่ได้เข้าไปเยียวยาบาดแผลทางใจในจุดที่มันถูกต้อง
นอกจากการทำจิตบำบัดจะช่วยในเรื่องของการเยียวยาบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในอดีตแล้วยังสามารถช่วยในเรื่องอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น
- ช่วยให้คุณเช้าไปสำรวจความรู้สึกโทษตัวเอง (self-blame) ที่เกิดขึ้น
- ช่วยฟื้นฟู self-esteem ที่ถูกทำลายไปให้กลับคืนมา
- ช่วยให้คุณเรียนรู้และฝึกฝนทักษะในการรับมือกับอารมณ์ที่เป็นปัญหารบกวนการใช้ชีวิต
กล่าวโดยสรุปคือบาดแผลทางใจจากการถูกหักหลังเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บผสมกับความรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถที่จะเชื่อใจใครได้อีก โดยผลกระทบของบาดแผลทางใจจากการหักหลังสามารถคงอยู่เป็นเวลานานและจำเป็นต้องอาศัยเวลาในการเยียวยาอยู่พอสมควร และการเยียวยาบาดแผลก็อาจทำด้วยตัวเองได้ยาก การไปพบนักจิตบำบัดจึงเป็นตัวช่วยที่ดีในการเยียวยาบาดแผลทางใจและเพิ่มทักษะต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวันให้กับตัวเอง
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] What is betrayal trauma, and where can a person seek help? Retrieved from https://www.medicalnewstoday.com/articles/betrayal-trauma#effects-and-symptoms
[2] Why Betrayal Can Cause Trauma and How to Start Healing. Retrieved from https://www.healthline.com/health/mental-health/betrayal-trauma
[3] Betrayal Trauma—The Impact of Being Betrayed. Retrieved from https://www.verywellmind.com/betrayal-trauma-causes-symptoms-impact-and-coping-5270361
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments