top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 เทคนิคต้องรู้สำหรับการอยู่เคียงข้างผู้ป่วยโรคซึมเศร้า


เวลาที่เราเห็นข่าวคนฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง และคนส่วนใหญ่มักจะคาดเดาว่าเป็นเพราะคนเหล่านั้นป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” ในขณะที่ความเป็นจริงแล้ว คนที่ฆ่าตัวตายอาจเป็นคนที่ผิดหวัง หรือผิดหวังรุนแรงจนหมดพลังใจในการสู้ต่อก็เป็นได้ เชื่อหรือไม่คะ คนที่ใคร ๆ ก็เห็นว่าปกติธรรมดา ไม่มีประวัติของการเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามาก่อน แต่พอคนเหล่านี้ผิดหวังรุนแรงกลับมีโอกาสทำร้ายตัวเองได้มากกว่าคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเสียอีก นั่นก็เพราะคนรอบข้างมักจะมองว่าเขาเข้มแข็ง เรื่องแบบนี้ใคร ๆ ก็เจอกัน เดี๋ยวก็ผ่านไป โดยไม่รู้ว่าภายในใจของคนที่ผิดหวังรุนแรงจะแตกร้าวขนาดไหน





เคียงข้างผู้ป่วยโรคซึมเศร้า


ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจึงได้รวบรวม 5 วิธีเติมพลังใจให้คนที่ผิดหวัง จนถึงขั้นผิดหวังรุนแรง แม้กระทั่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้กลับมายืนได้อย่างสตรอง ตามคำแนะนำของนักจิตวิทยา เผื่อให้ทุกท่านได้นำไปใช้เติมพลังใจให้ตัวเองและคนรอบข้างกัน



วิธีที่ 1 เก็บคำว่า “สู้ ๆ “ ทิ้งไปให้ไกล

เวลาเราผิดหวังแล้วเราไปโพสลง Facebook หรือไปเล่าให้ใครฟัง คำให้กำลังใจยอดฮิตที่จะได้รับกลับมา คือ “สู้ ๆ นะ” โดยคนพูดอาจจะมีความหมายว่า “ฮึบ ๆ หน่อยเดี๋ยวก็ผ่านไป” หรือไม่ก็ ไม่รู้จะพูดอะไรเลยพิมพ์ไปว่า “สู้ ๆ” ให้คนที่ผิดหวังรู้ว่ามีคนรับรู้แล้วนะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยได้ผลในแง่การเติมพลังใจเท่าไรหรอกค่ะ โดยเฉพาะกับคนที่ผิดหวังรุนแรง เพราะคนที่เจ็บมาหนักเขาได้สู้จนไม่รู้ว่าจะสู้อย่างไรแล้ว พอมีคนมาบอกให้เขา “สู้ ๆ” เขาจะยิ่งท้อค่ะ ว่า “นี่ฉันยังสู้ไม่พออีกเหรอ แล้วฉันต้องสู้ไปถึงเมื่อไรละถึงจะชนะ” เพราะฉะนั้นแล้ว โปรดอย่าทำร้ายกันด้วยคำว่า “สู้ ๆ” เลยค่ะ หากมีคนไว้ใจระบายความทุกข์ให้ฟังแล้วคุณผู้อ่านไม่รู้ว่าจะพูดอะไร แค่จับมือ ตบไหล่ หรือกอดเขาไว้ ก็เติมพลังใจได้มากแล้วค่ะ หรือในกรณีที่มีคนโพสเรื่องผิดหวังรุนแรงใน Facebook แค่กด Love ให้ แล้วหลังไมค์ไปถามไถ่ด้วยความห่วงใย ก็สามารถดึงคน ๆ หนึ่งให้กลับมามีกำลังใจได้แล้วค่ะ



วิธีที่ 2 เข้าใจในความรู้สึก

เวลาคนที่ผิดหวังรุนแรงเขามาระบายเรื่องทุกข์ใจให้เราฟัง สิ่งที่เราสามารถช่วยเขาได้ในขั้นแรกเลย คือ รับฟัง และเข้าใจในความรู้สึก เพราะการเข้าใจในความรู้สึก (Empathy) และแสดงออกให้คนที่ผิดหวังรุนแรงรับรู้ว่าเราเข้าใจความรู้สึกเขาจริง ๆ ด้วยการสะท้อนความรู้สึก (Reflection) ซึ่งเป็นการบอกเขาว่าหลังจากฟังเรื่องเขาแล้ว เขาน่าจะรู้สึกอย่างไร เช่น “ฟังดูเหนื่อยเนาะ” “ถ้าเรื่องนี้เกิดกับฉัน ฉันคงเศร้ามากเลย” เป็นต้น เวลาที่คนเรารับรู้ได้ว่ามีคนเข้าใจความรู้สึกเรา มันจะมีความรู้สึกหายใจโล่งขึ้นมาเลยค่ะ รู้สึกว่ามีคนมาแบ่งความทุกข์ของเราไป ถึงแม้ว่าเรื่องที่ผิดหวังรุนแรงยังคงอยู่แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเผชิญปัญหาตามลำพังอีกต่อไปแล้ว ซึ่งวิธีทำความเข้าใจในความรู้สึก (Empathy) เป็นวิธีที่นักจิตวิทยานิยมใช้มากเลยละค่ะ เพราะสามารถช่วยให้เข้าถึงคนป่วยได้ดี แถมยังสร้างสัมพันธภาพได้ดีด้วยละ



วิธีที่ 3 พาเขาออกมาจากที่มืดสู่ที่สว่าง

เวลาที่คนเราผิดหวังรุนแรงมักจะมีความรู้สึกว่ากำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกมืดที่รายล้อมไปด้วยความซึมเศร้า ถึงแม้เราจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา แต่เราสามารถช่วยเหลือเขาได้ด้วยการการพาเขามาสู่ที่สว่างโดยการเตือนสติให้รู้ว่า ปัญหาที่เขาเจอยังแก้ไขได้ ปัญหาที่เขาเจอไม่ได้มีเขาเพียงลำพังที่ต้องแก้ปัญหา ยังมีคนที่รักเขาคอยเคียงข้างเขาอยู่ และเมื่อเขามีสติมากพอที่จะเผชิญปัญหาได้ ก็แสดงออกให้เขารู้ว่าเขามีคุณค่า โดยเคารพการตัดสินใจในการเลือกทางแก้ปัญหาของเขา (ที่ไม่ใช่การทำร้ายตัวเอง) และเชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเขาเองได้



วิธีที่ 4 พาเขาออกมาจากที่แคบสู่ที่กว้าง

ในข้อด้านบนเราได้พาเขาออกมาจากที่มืดสู่ที่สว่างแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือพาเขาออกมาจากที่แคบสู่ที่กว้างค่ะ คือ คนที่ผิดหวังรุนแรงมักจะโทษว่าทั้งหมดเป็นความผิดของเขาเอง และขังตัวเองอยู่กับความซึมเศร้า ความรู้สึกผิด แล้วก็จะเริ่มลดคุณค่าตัวเอง จนเริ่มทำร้ายตัวเองในที่สุด ดังนั้น ก่อนที่จะไปถึงขั้นทำร้ายตัวเอง เราต้องพาเขาออกมาจากห้องขังที่เขาสร้างขึ้น โดยการกระตุ้นให้เขามองเห็นทางเลือกในชีวิต เช่น “ใครที่เจอเรื่องแบบนี้ก็รู้สึกแย่เหมือนเธอทั้งนั้น แล้วเราจะทำยังไงกับความรู้สึกนี้ดี” หรือ “ถ้าเธอรู้สึกดีขึ้นแล้ว เธอวางแผนยังไงต่อไป” หรือ “เรื่องนี้เราสามารถปรึกษาใครได้บ้าง” เพราะการตั้งคำถามที่กระตุ้นให้เขาได้คิดแก้ปัญหา จะเป็นการเพิ่มตัวเลือก เพิ่มทางให้เขาเดินมากขึ้น และเมื่อเขาได้ออกมาสู่ที่กว้าง (กว้างด้วยตัวเลือกในชีวิตที่มากขึ้น) เขาจะมีกำลังใจในการใช้ชีวิตและแก้ปัญหาต่อไปค่ะ



วิธีที่ 5 ชี้ให้เขาเห็นข้อดีของสถานการณ์ที่เจออยู่

ไม่มีอะไรเลวร้ายสุดขีด และดีสุดโต่ง ทุกอย่างย่อมมี 2 ด้านเสมอ แต่คนที่กำลังเป็นโรคซึมเศร้า และผิดหวังรุนแรงมักจะมองเห็นแค่ว่า “เขาเสียอะไรไป” หน้าที่ของคนที่เติมพลังใจให้เขา ก็คือ การทำให้เขามองเห็นว่า “เขายังมีอะไรอยู่” ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่เคียงข้างเสมอ ความเข้มแข็งที่เพิ่มขึ้น และประสบการณ์ในการแก้ปัญหาแบบนี้ในครั้งต่อไป ซึ่งสิ่งที่เขามีอยู่นี่แหละที่จะทำให้เขาใช้ชีวิตต่อไปอย่างรู้คุณค่า และพร้อมเผชิญหน้ากับทุกปัญหาที่จะเข้ามา





ทั้ง 5 วิธีที่แนะนำมานั้นเป็นวิธีที่นักจิตวิทยาให้คำปรึกษานิยมใช้มาก แต่สำหรับเราที่ไม่ใช่นักจิตวิทยาก็สามารถนำมาใช้ได้ค่ะ เพราะทั้ง 5 วิธี ช่วยทำให้เราสามารถเป็นคนที่อยู่เคียงข้างเพื่อเติมพลังใจในการชีวิตให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และคนที่ผิดหวังรุนแรงได้อย่างดีทีเดียว และรับรองเลยค่ะว่านอกจากเราจะกลายเป็นสปอร์ตไลท์ให้ชีวิตเค้าแล้ว เรายังรู้สึกดี มีคุณค่าเพราะได้พัฒนาตัวเองผ่านการช่วยเหลือคนอื่นด้วยค่ะ

 

iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)


และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page