top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

10 เทคนิคจิตวิทยา ในการเป็นตัวของตัวเองอย่างไรให้ดีกว่าเดิม



เรามักจะได้เห็นคำกล่าวตลก ๆ เกี่ยวกับการเป็นตัวของตัวเอง ว่า “อย่าไปอยากเป็นเหมือนใครเลย เป็นเหมือนรูปโปรไฟล์ของตัวเองให้ได้ก่อน” ซึ่งถ้าตัดความหมายว่าเราแต่งรูปเก่งออกไป เราจะเห็นถึงความหมายที่ลึกซึ้งว่า จงเป็นตัวของตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีกว่าเดิมนั่นละดีกับชีวิตของเราที่สุดแล้ว


ซึ่งในบทความจิตวิทยานี้จะมาพูดกันถึงเทคนิคจิตวิทยาในการเป็นตัวของตัวเองอย่างไรให้ดีกว่าเดิมกันค่ะ โดยผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือชื่อ “12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต” หรือชื่อต้นฉบับ คือ 12 Rules For Life เขียนโดย Jordan B. Peterson แปลโดย ธีร์ ทิพกฤต ทั้งนี้ในหนังสือได้พูดถึงเทคนิค


จิตวิทยาในการใช้ชีวิตให้มีความสุข ซึ่งผู้เขียนก็ได้นำมาปรับเป็น 10 เทคนิคจิตวิทยา ในการเป็นตัวของตัวเองอย่างไรให้ดีกว่าเดิม โดย 10 เทคนิคที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง มาอ่านกันเลยค่ะ


1. ดูแลตัวเองให้เหมือนที่เราดูแลใส่ใจคนอื่น

โดยธรรมชาติแล้วเรามักจะดูแลและใส่ใจคนรอบข้างมากกว่าตัวเองใช่ไหมคะ จนเมื่อเรารู้ตัวอีกทีเราก็เจ็บป่วย หรือเหนื่อยล้าจนร่างพักไปเสียแล้ว เพราะฉะนั้นแล้วเทคนิคแรกที่จะแนะนำกัน ก็คือ ขอให้ทุกคนกลับมาดูแลตัวเองให้เท่ากับที่เราใส่ใจและดูแลคนรอบข้าง เพื่อให้ร่างกายของเราแข็งแรง เพื่อให้จิตใจของเราแจ่มใส พร้อมยิ้มรับวันใหม่ในทุก ๆ วัน


2. อยู่ท่ามกลางคนที่ปรารถนาดีต่อเรา

เมื่อเราอยู่กับคนที่มีพลังลบ หรือคนที่ใจร้าย เป็น Toxic ทุกวัน ๆ จิตใจของเราก็จะห่อเหี่ยว ไม่สดใส พาลจะเบื่อโลก จนไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต ดังนั้นเราจึงควรจะพาตัวเองไปรับพลังบวกจากคนที่มองโลกในแง่ดี ใจดีกับเรา ปรารถนาดีต่อเรา เพราะเมื่อเราอยู่กับคนเหล่านั้น เราจะรู้สึกอบอุ่นใจ ปลอดภัย และกล้าเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพราะเรารู้ว่านี่ละ Safe Zone ของเรา


3. อย่าเทียบตัวเรากับคนอื่น จงเทียบตัวเราวันนี้กับเราคนเมื่อวาน

คนทุกคนย่อมมีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เปรียบเสมือนว่าเราทุกคนเป็นสินค้า Limited Edition คือ ในโลกนี้มีเราแคคนเดียว ต่อให้คุณเป็นแฝดแท้ แฝดตัวติดกัน แต่ความคิด จิตใจของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรเปรียบเทียบตัวเรากับคนอื่น เพราะไม่มีใครเหมือนใคร


แต่จงเปรียบเทียบตัวเราวันนี้กับเราคนเมื่อวาน ว่าดีขึ้น หรือแย่ลงตรงไหน ตรงไหนที่ควรปรับปรุง เพราะเมื่อเราเทียบเรากับตัวเอง เราจะมองเห็นค่ะว่าเราสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้เราเป็นตัวเราเองที่ดีกว่าเดิม


4. ไม่ชอบแบบไหน อย่าไปทำแบบนั้น

พึงระลึกไว้ว่า หากเราเห็นใครบางคนเป็น Toxic ในชีวิตเรา ตัวเราเองก็อาจเป็น Toxic ในชีวิตคนอื่นเช่นกัน ดังนั้นแล้วหากเราอยากได้อะไรก็ให้เขาก่อน แต่ถ้าเราไม่ชอบแบบไหนก็อย่ากลายไปเป็นคนแบบนั้น เช่น เราไม่ชอบเพื่อนร่วมงานบางคนที่ชอบนินทา เราก็อย่านำเรื่องของเขาไปพูดด้วยอารมณ์ ใส่สีตีไข่ให้คนอื่นฟัง หรือหากเราไม่ชอบคนที่ปาดหน้าเค้ก เราก็ต้องให้เกียรติคนอื่น แบ่งผลงาน และซื่อสัตย์กับตนเอง


5. ดูตัวเราก่อนจะไปวิจารณ์คนอื่น

ก่อนจะไปวิจารณ์ หรือชี้นิ้วบอกให้คนอื่นเปลี่ยนตัวเองให้เป็นไปอย่างที่ใจเราต้องการ ขอให้ย้อนกลับมาพิจารณาตัวเราเองเสียก่อนว่าเราดีพอหรือยัง เราเก่งพอที่จะวิจารณ์คนอื่นหรือไม่ เราสร้างคุณประโยชน์ หรือทำตัวมีค่าพอที่จะประเมินคุณค่าคนอื่นหรือไม่ เพราะฉะนั้นแล้ว ก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์ใคร หรือบอกให้ใครเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือแก้ไขอะไร อย่าลืมย้อนมาดูตัวเราก่อนว่าเราเปลี่ยนตัวเองได้ไหม สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองหรือไม่


6. ทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์

ชีวิตคนเรามีเพียงแค่ชีวิตเดียว และยังไม่มีวันหมดอายุบอกไว้ เราจึงควรใช้ชีวิตของเราให้คุ้มค่า โดยการทำสิ่งที่ดี สร้างสิ่งที่มีประโยชน์ ออกไปโชว์ของ โชว์ความสามารถ ไปฉายแสงให้โลกได้เห็นตัวตนของเรา ไปโชว์เขาว่าเรามีดี เพราะเมื่อเราจากไปแล้ว สิ่งที่ยังคงเหลืออยู่ให้คนอื่นจดจำและพูดถึงก็คือความดี ความสามารถ และสิ่งที่เราได้ทำนั่นเอง


7. จริงใจกับตัวเองและผู้อื่น

การยอมรับความจริงและการพูดความจริง หรือทำอะไรตรงไปตรงมา เป็นสิ่งที่จะทำให้ชีวิตของเราง่ายที่สุดแล้วค่ะ เพราะเราไม่ต้องมาแต่งเรื่องให้คนอื่นเชื่ออย่างที่เราต้องการให้เขาเชื่อ หรือไม่ต้องเสียเวลาปั้นคำโกหกเพื่อให้คนอื่นเห็นเราอย่างที่เราต้องการให้เขาเห็น เพียงเรายอมรับตัวตนของเราว่าเราเป็นเช่นนี้ แล้วแสดงออกตามความเป็นจริง ทุกคนก็สามารถยอมรับเราได้อย่างที่เราเป็นจริง ๆ ค่ะ


8. รับฟังให้มาก

บ่อยครั้งที่เราพูดมากกว่าฟัง จะทำให้เราพลาดสิ่งดี ๆ หรือเกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด แล้วเกิดผลร้ายตามมา แต่ถ้าเราลองเป็นฝ่ายรับฟังคนอื่นพูดบ้าง ตั้งใจฟังเรื่องราวของคนอื่นบ้าง เราอาจจะได้เห็นบางแง่มุมของชีวิตที่เราไม่เคยได้สัมผัส หรือจุดประกายความคิดที่สามารถพลิกชีวิตให้เราดีขึ้นได้ทันตาก็เป็นไปได้ค่ะ


9. พูดและทำให้ชัดเจน

การพูดและทำให้ชัดเจน จะช่วยให้เราสื่อสารกับคนรอบข้างได้ง่ายมากขึ้น สะดวกมากขึ้น และเข้าใจกันได้มากขึ้น เพราะบ่อยครั้งที่เราพูดจาอ้อมค้อม หรือประชดประชัด ก็จะทำให้ผู้รับสารเข้าใจเราผิดไปได้ จนอาจผิดใจกัน และทะเลาะเบาะแว้งกันได้ ดังนั้นหากต้องการอะไรขอให้พูดกันตรง ๆ สื่อสารกันตรง ๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องจะดีกว่าค่ะ


10. เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การอยู่บนโลกใบนี้เราย่อมไม่ได้อยู่คนเดียวตามลำพัง แต่เรายังใช้ชีวิตอยู่กับคนอื่น ๆ สิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิตอื่น ๆ หากเราไม่มีความเป็นมิตร ไม่มีความเมตตา เราก็จะรู้สึกว่าโลกน่าเบื่อ โลกไม่น่าอยู่ แต่ถ้าเราเป็นมิตรกับคนรอบข้าง สิ่งรอบข้าง เราจะรู้สึกว่าโลกนี้มีอะไรน่าสนใจอยู่มาก ทั้งเพื่อบ้านที่ใจดี เพื่อนร่วมงานที่น่ารัก แมวจรที่น่าจกพุง และอื่น ๆ อีกมากมายที่จะแต่งเติมสีสันให้กับชีวิตของเรา


คนทุกคนย่อมมีธรรมชาติของตัวเอง มีอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวของตัวเอง หากเราพยายามที่จะเป็นเหมือนใครเราย่อมจะเกิดความรู้สึกฝืน ผิดธรรมชาติ ไม่สบายใจ และใช้ชีวิตแบบไม่มีความสุข ดังนั้น เพื่อความสุขอย่างยั่งยืนของชีวิต เรามาเป็นตัวของตัวเองในแบบที่ดีกว่าเดิมกันเถอะค่ะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา  : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง :

Jordan B. Peterson แปลโดย ธีร์ ทิพกฤต . (2020, กุมภาพันธ์). 12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต : 12 Rules For Life. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์ How To.


 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก อดีตนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page