top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

หนัง Barbie ที่จิกกัดสังคมชายแท้ และปัญหาสุขภาพจิตที่หลายคนคาดไม่ถึง



วันก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูหนังเรื่อง Barbie ตามคำโน้มน้าวชักชวนของหลาย ๆ คนโดยไม่ได้คาดหวังอะไร แต่เมสเสจหรือสารที่หนังเรื่องนี้จงใจส่งออกมากลับทำให้ผู้เขียนรู้สึกสนใจ โดยเฉพาะประเด็นของความเป็นชายแท้ (Toxic Masculinity) และสังคมชายเป็นใหญ่ (Patriarchy)


ย่อหน้าต่อไปนี้จะเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์


ชีวิตใน Barbie Land นั้นผู้หญิงถูก empower สุด ๆ ผู้หญิงเป็นได้ทุกอย่างทั้งช่างซ่อมนั่นนี่ ประธานาธิบดี นักบิน หรือนักบินอวกาศ ในขณะที่ผู้ชายทำหน้าที่เป็นเพียง “เคน” เพื่อนชายของบาร์บี้ โดยไม่ได้มีบทบาทสำคัญอะไร แต่ทันทีที่บาร์บี้ก้าวออกมาสู่โลกมนุษย์ เธอกลับพบความจริงว่าแท้จริงแล้วโลกนี้ถูกปกครองด้วยเพศชาย และแนวความคิดแบบชายเป็นใหญ่ รวมถึงความชายแท้เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปและเป็นที่ยอมรับในสังคม แม้แต่ในบริษัทที่ผลิตบาร์บี้เองนั้นก็มีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่อยู่ในตำแหน่งบริหาร


ความ “ชายแท้” ไม่ได้หมายถึงเพศสภาพหรือรสนิยม แต่หมายถึงวิธีคิดและลักษณะนิสัยที่แสดงออกซึ่งด้านมืดของความเป็นชายแบบสุดโต่ง หรือที่เรียกว่า Toxic Masculinity ซึ่งอาจไม่ได้เกิดแค่เฉพาะกับผู้ชาย เพราะแม้แต่ผู้หญิงหรือ LGBTQ+ บางคนก็ยังมีชุดความคิดที่สนับสนุนความชายแท้โดยไม่รู้ตัว


Toxic masculinity นั้นสร้างผลกระทบทางลบให้กับคนทุกเพศ รวมถึงสังคมโดยรวม


วิธีสังเกตลักษณะของ Toxic masculinity


1.อุดมการณ์แบบ “ปิตาธิปไตย”: Toxic masculinity มีรากฐานมาจากความเชื่อที่ว่าเพศชายเหนือกว่าเพศหญิง สิ่งนี้นำไปสู่การเกลียดผู้หญิง ความรุนแรงต่อผู้หญิง และการกีดกันทางเพศในหลาย ๆ ด้าน เช่น ไม่ให้ผู้หญิงขึ้นเป็นผู้นำ หรือไม่รับสมัครงานในบางตำแหน่ง รวมไปถึงการปฏิบัติกับเพศหญิงในฐานะที่ด้อยกว่าตน เช่น ข่มความสำเร็จ ไม่ยอมรับในฐานะผู้นำ หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้งและมองว่าผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ


2.การเก็บซ่อนความอ่อนแอ: วิธีคิดแบบชายแท้มักสอนผู้ชายว่าพวกเขาไม่ควรแสดงอารมณ์ โดยเฉพาะความเศร้า ความกลัว หรือความเปราะบาง ผู้ชายห้ามร้องไห้ อ่อนไหว หรืออ่อนแอ ทำให้ผู้ชายเก็บกดอารมณ์ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตในระยะยาว เช่น ติดสารเสพติด ซึมเศร้า หรือฆ่าตัวตาย


3.ความรุนแรง: ชายแท้มักเชิดชูความรุนแรง ทั้งเป็นวิธีแก้ปัญหาและวิธีแสดงอำนาจเหนือกว่า เป็นเหตุให้ผู้ชายมีพฤติกรรมสร้างความรุนแรงทั้งกับตนเอง คนรอบข้าง และสังคม


4.ความกลัวพวกรักร่วมเพศ (Homophobia): ชายแท้มักมองการรักร่วมเพศว่าอ่อนแอหรือมีลักษณะของผู้หญิง ซึ่งนำไปสู่อาการกลัวการรักร่วมเพศ รวมถึงการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงต่อกลุ่ม LGBTQ+


5.ความรุนแรงแบบลูกผู้ชาย (Machismo): ชายแท้มักเน้นย้ำถึงความสำคัญของความเป็น "ลูกผู้ชาย" สิ่งนี้นำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยง เช่น ขับรถเร็วเกินไป ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ยกพวกตีกัน หรือมีพฤติกรรมความรุนแรงอื่น ๆ


เน้นย้ำอีกครั้งว่าความชายแท้นั้นไม่ได้เกิดกับผู้ชายทุกคน แต่หากมี Toxic masculinity แล้วนอกจากจะสร้างผลกระทบทางลบให้กับสังคม สิ่งนี้ยังส่งผลต่อตัวผู้ชายเองโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพจิตด้วย ซึ่งหลายคนอาจคาดไม่ถึง



ปัญหาสุขภาพจิตที่ตามมาจาก Toxic masculinity


สถิติทั่วโลกพบว่า ในปี 2020 ผู้ชายมีการฆ่าตัวตายสำเร็จ 791,000 เคส ในขณะที่ผู้หญิงฆ่าตัวตายสำเร็จ 258,000 เคส อีกทั้ง WHO รายงานว่า ในประเทศไทย สถิติการฆ่าตัวตายของผู้ชาย คือ 10.44 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ผู้หญิงคือ 2.97 คน มาดูกันว่า นอกเหนือจากนั้น ชายแท้ มักประสบปัญหาทางสุขภาพจิตด้านไหนอีกบ้าง


1.ความวิตกกังวล: ผู้ชายที่คิดว่าตัวเองต้องเข้มแข็งและต้องควบคุมสิ่งต่าง ๆ ให้ได้ตลอดเวลามักมีภาวะวิตกกังวลสูง รวมทั้งความเก็บกดอารมณ์นำไปสู่ความเครียด ความกังวลใจ รวมถึงความรู้สึกกลัวได้ด้วย


2.ภาวะซึมเศร้า: ผู้ชายที่แสดงความอ่อนไหวทางอารมณ์ออกมาไม่ได้อาจเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า โดยอาจเป็นเพราะเมื่อพวกเขาแสดงออกไม่ได้พวกเขาก็ไม่ได้รับการเยียวยาหรือปลอบโยน ซึ่งยิ่งทำให้พวกเขากลับรู้สึกเศร้า สิ้นหวัง หรือไร้ค่า


3.การติดสารเสพติด: การใช้สารเสพติด ดื่มสุราอย่างหนัก หรือสูบบุหรี่จัดเป็นทางออกหนึ่งที่ชดเชยการไม่สามารถแสดงความเครียด ความกังวล ความอ่อนไหว หรือความเปราะบางออกมาได้


4.การฆ่าตัวตาย: ความรู้สึกสิ้นหวังหรือไร้ค่า และไม่มีใครคอยให้กำลังใจ เยียวยา หรือปลอบโยน จนบางคนไม่รู้จะจัดการกับความเจ็บปวดของตัวเองอย่างไร อาจนำไปสู่ความคิดที่จะจบชีวิตตัวเอง


5.ความโดดเดี่ยว: บางครั้งการแสดงออกถึงความเข้มแข็งมาก ๆ จะยิ่งผลักให้ผู้ชายไม่สามารถผูกพันกับใครได้อย่างลึกซึ้ง บางคนกลัวที่จะแสดงความเป็นตัวเองที่มีด้านอ่อนแอออกมาให้ใครเห็น นำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยว บางคนอาจมีพฤติกรรมเจ้าชู้ ไม่ยอมผูกพันอย่างลึกซึ้งกับใคร


6. การทำงานหนักจนเสียสมดุล: ชายแท้หลายคนที่ผูกตัวเองไว้กับความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือธุรกิจมักจะทุ่มเทเวลาชีวิตให้กับการทำงานจนกระทั่งสูญเสียเวลาดูแลตัวเอง นำไปสู่ความเครียดเรื้อรัง ภาวะหมดไฟ หรือปัญหาความสัมพันธ์ตามมา


7.ปัญหาสุขภาพกาย: ชายแท้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น การสูบบุหรี่จัด การดื่มสุราอย่างหนัก หรือความคิดแบบ work hard play hard ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจยิ่งเพิ่มโอกาสของโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งได้ รวมทั้งพฤติกรรมที่ชอบความเสี่ยง อย่างการขับรถเร็วเกินไป การมีเรื่องต่อยตี หรือการพกอาวุธ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสต่อการเกิดอันตรายต่อชีวิตตนเองเช่นกัน


นอกจาก Toxic masculinity จะทำให้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตแล้ว ในขณะเดียวกันยังเป็นอุปสรรคต่อการรับความช่วยเหลือ ป้องกัน หรือเยียวยาด้วย สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้ปัญหาซับซ้อนและเรื้อรังมากขึ้น


ด้วยเหตุนี้เอง พวกเราทุกคนไม่ว่าเพศไหนควรร่วมหันมาตระหนักและช่วยกันท้าทายแนวคิดนี้เพื่อสร้างความเท่าเทียมและสังคมที่เป็นบวกมากขึ้น สิ่งที่จะช่วยบรรเทาเบาบางพิษจาก Toxic masculinity ได้ ยกตัวอย่างเช่น


  • ให้ความรู้ที่ถูกต้อง: ช่วยกันทำให้สังคมตระหนักรู้ในเรื่องนี้ ทั้งบทบาทของพ่อแม่ที่ต้องไม่สอนลูกให้ยึดติดกับเพศแบบผิด ๆ บทบาทของโรงเรียนที่ต้องห้ามปรามพฤติกรรมรุนแรงแบบเด็กผู้ชาย หรือสถานที่ทำงานที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทุกเพศ

  • มีบุคคลต้นแบบที่ดี: อย่างน้อยพ่อแม่เองที่เป็นบุคคลแรก ๆ ที่จะเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเด็กผู้ชาย หรือผู้นำในทุกระดับที่สามารถแสดงทัศนคติที่ให้ความสำคัญกับทุกเพศอย่างเท่าเทียม

  • อนุญาตให้ผู้ชายเจ็บได้ ร้องไห้เป็น: การร้องไห้เป็นปฏิกิริยาเยียวยาทางอารมณ์โดยธรรมชาติของมนุษย์ เช่นเดียวกับความรู้สึกเปราะบาง อ่อนแอ หรือกลัวเป็นบางครั้งก็เป็นอารมณ์โดยธรรมชาติของมนุษย์เช่นกัน ผู้ชายไม่ควรถูกกดหรือห้ามไม่ให้มีสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งควรกระตุ้นให้ผู้ชายมองหาและยอมรับความช่วยเหลือจากคนอื่นบ้าง

  • ท้าทายความคิดแบบเหมารวม (Stereotype): ไม่ส่งเสริมความคิดที่เหมารวมว่าผู้ชายต้องเป็นแบบนั้น หรือผู้หญิงต้องเป็นแบบนี้ แต่ต้องปลูกฝังว่าคุณสมบัติต่าง ๆ เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลไม่เกี่ยวกับเพศ ไม่ว่าใครก็สามารถเข้มแข็ง มีความสามารถ และประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน

  • ไม่ตำหนิเหยื่อที่ถูกกระทำ (Victim blaming): เมื่อพบเห็นผู้ที่ถูกกระทำจากพฤติกรรมของ Toxic masculinity สิ่งที่พวกเราควรทำคือช่วยเหลือให้พวกเขาพ้นจากอันตราย วิพากษ์พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของ Toxic masculinity ไม่ใช่กล่าวตำหนิเหยื่อ เช่น ตำหนิผู้หญิงที่ถูกลวนลามทางเพศว่าแต่งตัวยั่วยวนหรือพาตัวเองไปอยู่ในที่เสี่ยง


ความเป็นชายนั้นมีคุณค่าอย่างมากต่อสังคมและโลกใบนี้ แต่หากใช้ด้านมืดจนเป็น Toxic ย่อมเกิดผลในตรงข้ามคือทำลายล้างคนอื่น ๆ และสังคม ปัญหาสุขภาพจิตของคนเราจะลดลงได้ หากถูกโปรแกรมด้วยชุดความคิดและความเชื่อที่เหมาะสม มีประโยชน์ และไม่ทำร้ายตนเองและคนอื่น เราทุกคนมาร่วมกันสร้างสังคมที่เคารพและให้เกียรติกันได้ไม่ว่าจะเป็นเพศ วัย หรือมีความเฉพาะตัวด้านไหน มาช่วยกันนะคะ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ


หากพบว่าคุณอยากเริ่มต้นในการเยียวยาความกดดันในเรื่องเหล่านี้ การคุยกับนักจิตวิทยาก็เป็นทางออกหนึ่งที่คุณสามารถคุยกับคนแปลกหน้าได้ โดยที่พวกเขาไม่ตัดสินคุณ แต่รับฟัง และพร้อมเข้าใจ


---------------------

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong


---------------------

ผู้เขียน


พิชาวีร์ เมฆขยาย

M.Sc. จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ

B.Sc. จิตวิทยา

ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตในองค์กร / นักออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ / Youtuber / Blogger


---------------------


ที่มาภาพ:

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page