top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

รู้จัก Atypical Depression ผ่านหนังสือ “ฉันเป็นโรคซึมเศร้าไหมนะ”


Atypical Depression หมายถึง โรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติ โดยจากผลวิจัยทางระบาดวิทยาสุขภาพจิต สหรัฐอเมริกา พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติสูงกว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแบบปกติ 1.6 เท่า และเมื่อเปรียบเทียบผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั้งสองแบบก็พบว่า ผู้หญิงวัยรุ่นส่วนใหญ่เริ่มเป็นโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติจากความกังวลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในสังคม


โดยมักวางแผนฆ่าตัวตายหลายครั้งและแสดงอารมณ์สองขั้วออกมาบ่อยครั้ง โรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติจึงเป็นอีกอาการหนึ่งที่สังคมควรรู้จักและเข้าใจมัน โดยหนังสือ “ฉันเป็นโรคซึมเศร้าไหมนะ” เขียนโดย นายแพทย์ฮิซาโนบุ ไคยะ ผู้อำนวยการสมาคมจิตแพทย์ประเทศญี่ปุ่น ได้บอกเล่าถึงอาการของโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติ (Atypical Depression) ไว้ดังนี้

  • อาการของโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติจะซ่อนอยู่ในภาวะต่าง ๆ

จากผลการศึกษาทบทวนประวัติการรักษาของผู้ป่วย พบว่า มีผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแบบปกติ 27.7 % และ 53.7% ของโรคอารมณ์สองขั้วชนิดที่ 2 (Bipolar II disorder) มีอาการของโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติร่วมด้วย


  • ขอบเขตของโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติยังไม่ชัดเจนจึงส่งผลต่อความแม่นยำในการวินิจฉัย

เมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรคตื่นตระหนกหรือโรคกลัวสังคม ผู้ป่วยมักจะมีความผิดปกติทางอารมณ์อื่น ๆ ร่วมด้วย ส่งผลให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ยากขึ้น เพราะอาการสามารถเป็นได้ทั้งโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติหรือโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์อื่น ๆ


  • ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติบางรายอาจมีอาการแสดงตรงข้ามกับโรคซึมเศร้าแบบปกติ

อาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติอาจมีดังนี้


  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย เช่น เมื่อเจอเรื่องที่ตัวเองชอบ อาการซึมเศร้าก็จะหายไปเป็นปลิดทิ้ง อารมณ์จะดีขึ้น แต่พอเจอเรื่องที่ไม่ชอบแม้เพียงเล็กน้อยก็จะเกิดอารมณ์หดหู่ขึ้นมาทันที จึงทำให้คนรอบข้างเข้าใจผิดและถูกมองว่า “ก็เป็นแค่คนเอาแต่ใจ” หรือ “ขี้เกียจ”

  • หิวตลอดเวลา นอนได้ทั้งวัน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติมักใช้ชีวิตอยู่แต่บนเตียง นอนหลับได้มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน และมักรู้สึกว่าร่างกายหนักอึ้งไม่มีเรี่ยวแรงจนทำให้ลุกขึ้นมาไม่ได้ มีพฤติกรรมการกินในปริมาณที่มากเกินปกติโดยเฉพาะของหวาน ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

  • กังวลไปหมดทุกอย่าง พอตกกลางคืนก็ร้องไห้ไม่หยุด เมื่อมีเรื่องมากระทบจิตใจ ผู้ป่วยอาจคิดว่าไม่มีใครรัก บางคนอาจรู้สึกว่าน้ำตาไหลไม่หยุด หรือโดดเดี่ยวอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยช่วงเย็นไปจนถึงช่วงกลางคืนจะรู้สึกเศร้าเพิ่มขึ้น คิดทำร้ายตัวเองหรือวางแผนฆ่าตัวตาย

  • อาการแสดงออกมีหลายระดับ ผู้ป่วยบางคนอาจทำลายข้าวของ บางคนอาจทำร้ายตัวเอง เช่น กรีดข้อมือ กินยาเกินขนาด ซึ่งหากผู้ป่วยถูกคนรอบข้างต่อว่าก็จะทำให้อาการของโรคหนักขึ้นไปอีก

  • หงุดหงิดง่ายและชอบโยนความผิดให้คนอื่น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ค่อนข้างรุนแรงจนเหมือนผู้ป่วยเปลี่ยนไปเป็นคนละคน ซึ่งบางคนอาจกลายเป็นคนไม่มั่นใจจนต้องขอร้องให้ผู้อื่นช่วยอยู่ตลอดเวลา

  • มีอาการทางกาย เช่น หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก มือเท้าชา หน้ามืด หายใจไม่อิ่ม เหงื่อออกมาก ตัวสั่น ซึ่งบางครั้งเกิดขึ้นจากความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรง


การรักษา

  • จิตบำบัด (Psychotherapy)

ผู้เชี่ยวชาญส่วนมากมักให้จิตบำบัดแบบ cognitive behavioral therapy (CBT) กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติ โดยที่นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดจะให้ผู้ป่วยทำงานกับความคิดและอารมณ์ของตนเองที่มันส่งผลซึ่งกันและกัน สนับสนุนให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดอัตโนมัติทางลบที่ส่งผลต่อการเกิดพฤติกรรม ซึ่งจิตบำบัดจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีสุขภาวะ (Well-being ที่ดีขึ้น)


  • รักษาด้วยยา (Antidepressant medications)

จิตแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและสั่งยาให้เหมาะกับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน โดยยาต้านเศร้า (Antidepressant) ในยุคปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 6 กลุ่ม ได้แก่

  • Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs).

  • Serotonin and noradrenaline reuptake inhibitors (SNRIs).

  • Tricyclic antidepressants (TCAs).

  • Monoamine oxidase inhibitors (MAOIs).

  • Norepinephrine and dopamine reuptake inhibitors (NDRIs).

  • Noncompetitive N-methyl-D-aspartate receptor antagonists.


ทำยังไงจึงจะลดโอกาสเสี่ยงของการเป็นโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติ?

1. ฝึกฝนตนเองให้มีทักษะในการบริหารจัดการกับความเครียดของตนเองอย่างเหมาะสม

โดยคุณสามารถเลือกเทคนิคคลายเครียดในรูปแบบที่คุณชอบและเหมาะกับคุณได้เลย เช่น การฝึกหายใจ การใช้จินตนาการ หรือทำงานอดิเรกเพื่อความผ่อนคลาย


2. รีบไปพบจิตแพทย์ทันทีที่พบว่าตนเองมีอาการที่เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิต

โดยเฉพาะอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น กินไม่หยุดจนน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว มีความคิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้นบ่อยผิดปกติ ใช้สารเสพติดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีความขัดแย้งกับบุคคลรอบข้างบ่อย ๆ มีพฤติกรรมขาดลามาสายมากจนผิดสังเกต เป็นต้น


3. พูดคุยกับคนที่รู้สึกไว้วางใจเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

หรือหากไม่มีใครที่คุณรู้สึกไว้วางใจเลยจริง ๆ ก็สามารถปรึกษาผู้ให้บริการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็ได้ค่ะ


ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนอยากให้ทุกคนที่มีอาการเข้าข่ายหมั่นสังเกตอาการ ดูแลรักษาตนเอง รู้ก่อนรักษาก่อนเพื่อจะได้มีแนวทางในการรับมือกับอาการก่อนที่ระดับความรุนแรงของโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติจะเพิ่มมากขึ้นจนสายเกินไป


และหากคุณต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เพื่อช่วยเหลือให้คำแนะนำในเรื่องนี้ สามารถติดต่อเพื่อพูดคุยปรึกษานักจิต จิตแพทย์ ผ่านบริการดูแลสุขภาพจิต จากทาง iSTRONG


ทางผู้เขียนและ iSTRONG ขอส่งกำลังใจให้ทุกท่านให้มีสุขภาพใจที่ดีขึ้นในทุกๆ วันนะคะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

[1] Hisanobu Kaiya (2023). ฉันเป็น “โรคซึมเศร้า” ไหมนะ. สำนักพิมพ์ไลฟ์พลัส

[2] https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21131-atypical-depression


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page