ความวิตกกังวล VS โรควิตกกังวล กังวลแค่ไหนถึงควรพบนักจิตวิทยา
ความวิตกกังวล (Anxiety) เป็นความรู้สึกปกติที่ใคร ๆ ก็สามารถรู้สึกได้เมื่อเกิดความเครียด หรือต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น ประชุมด่วน ประสบอุบัติเหตุ ชีวิตไม่เป็นไปตามแผน แต่เราก็สามารถจัดการกับความรู้สึกวิตกกังวลได้โดยใช้เวลาสักครู่หนึ่ง แต่ถ้าหากเราป่วยเป็นโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช เราจะมีความวิตกกังวลมากผิดปกติ นานมากกว่าปกติ และสร้างผลกระทบให้กับเรามากกว่าความวิตกกังวลทั่วไปอย่างเห็นได้ชัดค่ะ ซึ่งบทความจิตวิทยาบทความนี้จะขอแนะนำทุกท่านให้รู้จักกับ “โรควิตกกังวล” หรือ Anxiety Disorder เนื่องจากอาการในระยะเริ่มแรกคล้ายกับความวิตกกังวลทั่วไปมาก และจากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต เมื่อเดือนมกราคม 2563 พบว่า คนไทยมากกว่าหนึ่งแสนคนป่วยด้วยโรควิตกกังวล และผู้ป่วยส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่มาพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเพื่อทำการรักษา เพราะคิดว่าจะสามารถหายได้เองเช่นเดียวกับความวิตกกังวลค่ะ
โรควิตกกังวลคืออะไร?
โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) กรมสุขภาพจิตได้ให้คำนิยามไว้ว่า เป็นหนึ่งในอาการทางจิตเวชที่พบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีความแตกต่างไปจากความวิตกกังวลแบบปกติทั่วไป ซึ่งความกังวลนั้นเป็นความรู้สึกที่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน และสามารถหายได้เอง แต่โรควิตกกังวลจะมีความรุนแรงกว่ามาก โดยมีสาเหตุหลัก ๆ มาจาก 2 ปัจจัย ก็คือ ปัจจัยทางพันธุกรรม และสภาพแวดล้อม
โดยปัจจัยทางพันธุกรรม หมายถึง DNA กรรมพันธุ์ เช่น พ่อ แม่ หรือญาติสนิท ป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เราก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคทางจิตเวชด้วย ซึ่งปัจจัยทางพันธุกรรมนั้น รวมไปถึง สารเคมีในสมอง ฮอร์โมน และสภาพจิตใจส่วนบุคคลด้วยค่ะ
สำหรับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมนั้น หมายถึง การเลี้ยงดู การเลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อ แม่ หรือคนใกล้ชิด การประสบกับเหตุการณ์รุนแรงต่อจิตใจต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดโรควิตกกังวล เช่น อุบัติเหตุ การถูกทำร้ายร่างกาย หรือจิตใจ เป็นต้น
โรควิตกกังวลมีกี่ประเภท ?
โรควิตกกังวลที่พบได้บ่อย มีอยู่ 6 ประเภทด้วยกันค่ะที่ควรพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาในการขอรับการช่วยเหลือ ได้แก่
1. โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) อาการสำคัญ คือ มีความกังวลที่มากกว่าปกติในเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน ปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการเรียน ซึ่งจะมีความวิตกกังวลในเรื่องเดิมนานเกินกว่า 6 เดือน และอาจมีอาการข้างเคียง คือ อ่อนล้า อ่อนเพลีย เป็นเหนื่อย เป็นท้อ อยู่ไม่สุข กระวาย เครียด ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด มีปัญหาเรื่องการนอน มีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหาร รวมถึงมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ด้วยค่ะ
2. โรคแพนิค (Panic Disorder) อาการสำคัญ คือ มีความวิตกกังวลโดยไม่มีสาเหตุ ตื่นตระหนกมีความกังวลว่าจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ กลัวว่าตัวเองจะบาดเจ็บ ป่วย หรือตาย และมีอาการทางกายเมื่อวิตกกังวล คือ เหงื่อออกหนักมาก ใจเต้นแรง ใจสั่น รู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก หายใจติดขัด รู้สึกจะเป็นลมตลอดเวลา ร้อนผิว แน่นหน้าอก
3. โรคกลัวสังคม (Social Phobia) อาการสำคัญ คือ มีความวิตกกังวลเวลาอยู่ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก หรือกลัวการแสดงออกต่อหน้าคนอื่น ซึ่งคนที่ป่วยด้วยโรคกลัวสังคมจะรู้สึกประหม่า เมื่อออกนอกบ้าน ไม่มั่นใจในตัวเอง เสียอาการ มักมีความคิดทางลบว่าคนอื่นจะมองตนเองไม่ดี เมื่อต้องแสดงออก หรือทำอะไรต่อหน้าคนอื่นจะเครียดมาก คลื่นไส้ หัวใจเต้นแรง ปวดศีรษะอย่างแรง มือสั่น ร่างกายสั่นแบบควบคุมไม่ได้ พร้อมเป็นลมตลอดเวลา
4. โรคกลัวแบบเฉพาะ (Phobia) อาการสำคัญ คือ มีความวิตกกังวลมากในบางเรื่อง หรือบางสิ่งบางอย่างแบบเจาะจง เช่น กลัวสัตว์บางชนิด กลัวอาหารบางอย่าง กลัวสิ่งของบางอย่าง กลัวที่ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมความกลัวได้ และไม่สามารถควบคุมตัวเองเมื่อเกิดความวิตกกังวลได้ และมีปัญหาอย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวัน
5. โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) อาการสำคัญ คือ คิดย้ำ ๆ ในเรื่องเดิม และทำซ้ำ ๆ ในเรื่องเดิม เช่น กังวลว่ายังไม่ได้ปิดแก๊ส ก็จะเดินมาดูเตาแก๊สอยู่เรื่อย ๆ กังวลว่าไม่ได้ล็อกบ้าน ก็จะเดินมาดูประตูบ้านอยู่เรื่อย ๆ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยจะหยุดคิดกังวลไม่ได้ และต้องทำย้ำ ๆ ทำซ้ำ ๆ ให้สบายใจ ซึ่งก็จะไม่สบายใจง่าย ๆ ค่ะ ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำบางคนจึงมักมีบาดแผลทางร่างกายเพราะทำซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ เดิม ๆ เช่น ล้างมือบ่อยมากจนมือลอก อาบน้ำทั้งวันจนผิวเปื่อย เป็นต้น
6. โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder ; PTSD) อาการสำคัญ คือ เป็นความวิตกกังวลมากเกินปกติ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากประสบกับเหตุการณ์อันเลวร้ายมาก เช่น อุบัติเหตุครั้งใหญ่ สูญเสียคนที่รัก เป็นต้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการหวาดกลัวเมื่ออยู่ในสถานการณ์คล้ายเดิม ตกใจง่าย เสียสมาธิ เหม่อลอย มักฝัน หรือคิดถึงเหตุการณ์เดิมซ้ำ ๆ อย่างควบคุมไม่ได้
กล่าวโดยสรุป ก็คือ หากคุณผู้อ่านมีความวิตกกังวลที่รบกวนการใช้ชีวิตปกติ กังวลในเรื่องเดิมซ้ำ ๆ มีความวิตกกังวลแบบควบคุมไม่ได้ และคนรอบข้างเริ่มเป็นห่วงอย่างเห็นได้ชัด ขอให้ลองมารับคำปรึกษา หรือรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาใกล้บ้านนะคะ เพื่อจะได้รักษาบาดแผลในใจ และพื่อความปกติสุขในการใช้ชีวิตค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ : วิตกกังวลแค่ไหน ถึงเข้าข่ายเป็น "โรควิตกกังวล"
อ้างอิง : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. 2563, มกราคม 8. 6 อาการวิตกกังวลที่พบได้บ่อยในวัยทำงาน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2564 จาก https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30145
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต
Comments