ทำอย่างไรเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนก้าวร้าวรุนแรง
จากข่าวแก๊งชายฉกรรจ์ผู้มาร่วมงานบวชกว่า 20 คน บุกโรงเรียนที่เขากำลังสอบ GAT/PAT เพียงเพราะไม่พอใจที่โรงเรียนซึ่งอยู่ติดวัดขอความร่วมมือให้งดใช้เสียงเพราะเด็กๆ จะทำการสอบ สามารถสะท้อนอะไรให้แก่คุณผู้อ่านได้บ้างคะ อาจสะท้อนประเด็นความเหลื่อมล้ำทางจิตสำนึก? อาจสะท้อนประเด็นความแตกต่างของระดับจิตใจ? ไม่ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะสะท้อนอะไร อย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ การที่ชายหนุ่มกลุ่มหนึ่งเติบโตขึ้นมาในสังคมหนึ่งที่หล่อหลอมให้พวกเขานิยมความรุนแรง ถูกปลูกฝังความก้าวร้าวให้ฝังลึกในจิตใจ ใช้ชีวิตอยู่กับความหยาบคายจนเป็นเรื่องปกติ สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่แค่ "เรื่องของเขา" เพราะจากเหตุการณ์ข้างต้นทำให้เห็นว่า เราไม่สามารถต่างคนต่างอยู่กับคนกลุ่มนี้ได้ เพราะด้วยการใช้ชีวิตในประเทศเดียวกัน ชุมชนเดียวกัน ย่อมมีทางที่จะซ้อนทับกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะก่อให้เกิดปัญหา และก็เป็นปัญหาระดับอาชญากรรมเสียด้วย แล้วคนที่รับปัญหาคือใคร ก็ลูกหลานเราที่เราอุตส่าห์สั่งสอนดูแลมาอย่างดีนั่นแหละที่เป็นคนรับกรรม
ต้นเหตุของพฤติกรรมต่อต้านสังคม ก้าวร้าวรุนแรงมาจากไหน ผู้เขียนเคยได้กล่าวถึงไปบ่อยครั้งในหลายบทความก่อนหน้านี้ แต่ก็ขอหยิบยกมาเล่าให้คุณผู้อ่านฟังซ้ำอีกครั้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น ต้นเหตุของคนที่มีอาการพฤติกรรมผิดปกติแบบต่อต้านสังคม หรือ Anti-social มี 2 สาเหตุ คือ
1.โรคทางจิตเวช
โรคทางจิตเวชที่มีผลให้ผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงนั้น มักจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง จาก 3 โรค คือ Oppositional Defiant Disorder หรือโรคดื้อและต่อต้าน พบในเด็กอายุ 3 – 12 ปี โดยจะพบมากในวัย 8 ขวบ เด็กที่เป็นโรคดื้อต่อต้าน จะมีพฤติกรรมต่อต้านคำสั่งของคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง โมโหร้าย จงใจต่อต้านขัดขืน เมื่อเด็กโตขึ้นและอาการดังกล่าวยังไม่ได้รับการรักษา มีแนวโน้มสูงที่โรคจะพัฒนาเป็น Conduct Disorder ซึ่งเป็นอาการที่พบในเด็กตั้งแต่ก่อน 7 ขวบ ไปจนถึงอายุ 16 ปี อาการเด่น คือ ก้าวร้าวรุนแรง ชอบใช้ความรุนแรงในทุกสถานที่และทุกสถานการณ์ที่สามารถทำได้ เป็นต้นเหตุของอาชญากรรมเด็ก เช่น ต่อยตี ขโมยของ เสพยา ข่มขืน ทำร้ายร่างกาย วางเพลิง และสามารถฆ่าคนได้เลยทีเดียว และหากอาการข้างต้นยังคงไม่ได้รับการรักษา ก็สามารถพัฒนาโรคไปสู่ Antisocial Personality Disorder ในวัยผู้ใหญ่ คือ ตั้งแต่อายุ 16 ปี ขึ้นไปได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้พฤติกรรมทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และรักษายากมากยิ่งขึ้น
2. การเลี้ยงดู
หากเด็กๆ เติบโตมากับ “แม่พิมพ์” แบบไหนเขาก็จะมีรูปทรงแบบนั้น หากเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่เลี้ยงดูดี ให้ความใส่ใจอบรมสั่งสอน เด็กๆ ก็จะเติบโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพ แต่หากเด็กๆ ถูกเลี้ยงดูมาจากครอบครัวที่มีการทะเลาะตบตี ใช้คำหยาบ ผู้ใหญ่ในบ้านเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เช่น ติดยาเสพติด เล่นการพนัน ดื่มเหล้าหนัก ลักขโมย แน่นอนเลยว่าเด็กส่วนมากที่โตมาในครอบครัวเช่นนี้ย่อมเติบโตมาเหมือนผู้ใหญ่ในบ้านที่เด็กๆ เห็น และเป็นปัญหาให้แก่สังคมต่อไป
แล้วทีนี้มาถึงคำถามสำคัญของเหตุการณ์นี้กันค่ะ ว่าเราจะทำอย่างไรให้คนพวกนี้หายไปจากสังคม หรือจะมีวิธีรับมือกับคนพวกนี้อย่างไร เพราะเราก็ยังต้องอยู่ร่วมกับคนพวกนี้อยู่ดี คำตอบต่อไปนี้อาจจะดูโลกสวย ก็คือให้โอกาสพวกเขาพัฒนาตัวเอง เพราะว่าหากเรามองว่าคนพวกนี้เป็นขยะ เราก็จะไม่ใส่ใจ ขยะแขยง และหลีกหนี แต่นั้นยิ่งเป็นวิธีผลักดันให้คนเหล่านี้มุ่งไปในทางมืดมน ยิ่งดำดิ่งไปในทางอบายมุกมากขึ้นๆ แล้วก็กลับมาสร้างมลพิษที่กัดกินชีวิตพวกเราต่อไปไม่จบสิ้น แต่หากเรามองพวกเขาเป็น "คน" เช่นเดียวกับเรา เราจะเห็นพวกเขามีตัวตน เราจะมีความต้องการที่จะพัฒนาเขา แต่ก็นั้นละค่ะ ไม่ใช่ทุกคนที่พัฒนาได้ แต่ก็ยังมีบางคนที่สามารถพัฒนาได้เช่นกัน ดังนั้นแล้ว หากเรามีพื้นที่ มีหลักสูตร มีวิถีทางให้พวกเขาได้พัฒนาตัวเอง เราจะได้โอกาสในการผลักดันคนบางคนที่พัฒนาได้ให้ขึ้นมาอยู่ในสังคม และถ้าเราสามารถลดประชากรไร้คุณภาพด้วยการเพิ่มคุณภาพให้กับบางคนที่พัฒนาได้ สังคมมันก็คงปลอดภัยและน่าอยู่มากกว่าที่เป็นอยู่นี้แน่นอนค่ะ
เพราะทุกก้าวของชีวิตคือจิตวิทยา
iStrong บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า
Contact : https://www.istrong.co/service
Comments