การมีครรภ์ในภาวะซึมเศร้า
หลาย ๆ คนอาจคิดว่า การตั้งท้องควรที่จะเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข แต่หลาย ๆ ครั้งคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ กำลังประสบกับปัญหาสุขภาพจิต บางรายหนักถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงยิ่งนัก
ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่จะประสบกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย (มีงานวิจัยค้นพบว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มีความกังวลกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป) และฮอร์โมนภาย ในร่างกายทำให้ส่งผลต่อสุขภาพจิต คุณแม่จะมีอารมณ์หลากหลาย ตั้งแต่มีความสุข ตื่นเต้น วิตกกังวล และอาการอารมณ์แปรปรวนได้ในช่วงตั้งครรภ์ ดังนั้น นักจิตวิทยาแนะนำให้คุณแม่สังเกต การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ตัวเองอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะสามารถจัดการกับมันได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้นักจิตวิทยายังค้นพบว่าคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงในการเป็นโรคซึเศร้า เนื่องจาก เมื่อพวกเขาพยายามอธิบายถึงอาการที่เกิดขึ้น หลายครั้งที่คนรอบตัวตอบกลับมาว่า เป็นแค่เพียงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากเรารู้สึกว่าเรามีอาการซึมเศร้า ขอให้ทราบไว้ว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เพราะ 1 ใน 8 ของผู้หญิง มีภาวะซึมเศร้าในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด
คุณแม่ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ได้แก่ ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน ผู้ที่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ กำลังประสบปัญหาบางอย่างในชีวิตในช่วงเวลานั้น มีปัญหาด้านการเงิน ขาดการสนับสนุนและดูแลจากคนใกล้ตัว มีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ และ การตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผน เป็นต้น
(บทความแนะนำ “6 วิธีเยียวยาอาการซึมเศร้าอันเนื่องมาจากการเลิกรา”)
มีการศึกษาพบว่า เมื่อให้ผู้หญิงสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งไม่ได้ตั้งครรภ์ และ อีกกลุ่มหนึ่งตั้งครรภ์ ดูรูปเด็กที่กำลังร้องไห้ในเวลาเท่า ๆ กัน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ รู้สึกยากที่จะหยุดดูรูปนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากสัญชาตญาณของความเป็นแม่ที่อยากช่วยเหลือเด็กคนนั้น แต่อย่างไรก็ตาม มีการทำการศึกษาแบบเดียวกันกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะซึมเศร้า และพบว่าคนกลุ่มนี้ละสายตาจากรูปเด็กที่ร้องไห้ได้อย่างง่ายดายกว่ากลุ่มผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ปกติมาก
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคซึมเศร้าของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ได้แก่ ผลกระทบต่อการเติบโตของทารกในครรภ์ ความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูก เมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว ก็ไม่มีความเข้มแข็งทางใจและแรงจูงใจที่จะดูแลลูกแรกเกิด ซึ่งจะส่งผลต่อเด็กเมื่อเขาโตขึ้น ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
แพรเข้าใจว่า จากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างที่ตั้งครรภ์ อาจส่งผลต่อความเครียด และนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้อย่างง่ายดาย แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงตั้งครรภ์ นอกจากตัวเราเองที่จะต้องดูแลแล้ว ยังมีอีกหนึ่งชีวิตที่เขาต้องการการดูแลจากเราด้วย และชีวิตของเขาขึ้นอยู่กับเรา
เราสามารถสังเกตสัญญาณและอาการของโรคซึมเศร้าได้ดังต่อไปนี้
- รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- รู้สึกเศร้า ว่างเปล่า และสิ้นหวัง
- ไม่รู้สึกมีความสุข หรือ สนุกกับกิจกรรมที่เคยทำให้เรารู้สึกมีความสุขกับมัน
- ไม่อยากพบปะผู้คน อยากอยู่คนเดียว
- มีอาการทางกาย เช่น ปวดศรีษะ ปวดท้อง เป็นต้น
- ไม่รู้สึกยินดีกับการตั้งครรภ์ หรือ มีลูก หรือ อยากจะเลี้ยงลูก เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว
- นอนไม่หลับ หรือ อยากนอนอย่างเดียว
- ไม่อยากกินอาหาร หรือ กินอาหารมากกว่าปกติ
- มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย
- ร้องไห้บ่อย ๆ และโกรธโดยหาสาเหตุไม่ได้
- รู้สึกเหนื่อย ไม่มีเรี่ยวแรง
หากคุณคิดว่าคุณกำลังมีความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้า ควรจัดการตัวเองตามคำแนะนำต่อไปนี้
- พบแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งการรักษา สามารถทำควบคู่กันไป ระหว่าง รับประทานยา และ การทำจิตบำบัด
- พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ ขอกำลังใจและการสนับสนุนในช่วงนี้
- ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ตั้งครรภ์
- พูดคุยกับกลุ่มคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์เช่นเดียวกัน
ในการใช้ชีวิตปกติหากมีเรื่องราวมากระทบกับจิตใจเราอย่างมากก็มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราอยู่แล้ว และเมื่อเรากำลังตั้งครรภ์ ความกังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกาย และการใช้ชีวิต รวมไปถึงฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง ก็มีผลต่อ ความเสี่ยงที่คุณแม่จะเกิดภาวะซึมเศร้าได้ทั้งสิ้น ดังนั้น การสังเกต และ ตามเท่าท้นอารมณ์ความรู้สึก เพื่อที่จะจัดการกับมันได้ทันควัน เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง การพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้เราระบายความเครียดที่เกิดขึ้น และวิธีที่อยากแนะนำที่สุดคือ การพบผู้เชี่ยวชาญ เช่นนักจิตวิทยา เพื่อช่วยเหลือ เนื่องจากปัญหาต่อสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่เพียงส่งผลต่อเรา แต่ยังส่งผลต่อลูกของเราอีกด้วย
istrong.co ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
Comments