top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

Animal hoarding พฤติกรรมเลี้ยงสัตว์ไว้เต็มบ้านจนมีปัญหาความสัมพันธ์กับคนอื่น



ผู้เขียนได้มีโอกาสดูสารคดีชุด “Confessions: Animal Hoarding” ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงเอาไว้ในบ้านเป็นจำนวนมากแต่ไม่สามารถดูแลสุขภาวะทั้งของคนและของสัตว์เลี้ยงได้ และทำให้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันได้รับความเดือดร้อน เช่น มีปัญหาสุขภาพ ซึ่งหลายคนน่าจะเคยได้ยินข่าวกันมาบ้าง เช่น “หนุ่มถูกร้องเรียนเลี้ยงแมว 100 ตัว วอนหน่วยงานช่วย” โดยพฤติกรรมชอบสะสมสัตว์เลี้ยงนั้นเรียกว่า “Animal Hoarding” ที่มีลักษณะคล้ายกับคนที่ชอบสะสมสิ่งของเอาไว้จนรกบ้านแต่ในกรณีนี้เปลี่ยนเป็นชอบสะสมสัตว์แทน ทั้งนี้ พฤติกรรมชอบสะสม (Hoarding) เป็นหนึ่งในความผิดปกติทางพฤติกรรมที่ถูกระบุไว้ใน DSM-5 (2013)


Animal hoarding คืออะไร?

Animal hoarding เป็นเหมือนวงจรความเสียใจ (heartbreaking cycle) ของสัตว์เลี้ยง โดยบ่อยครั้งก็พบว่าเจ้าของไม่ได้ดูแลเรื่องความสะอาดและกลิ่นที่เกิดจากสัตว์เลี้ยง ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงป่วยหรือตาย มีปัญหารายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดูแลสัตว์เลี้ยง ตกงานหรือคู่สมรสเสียชีวิตที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดูแลสัตว์เลี้ยง แต่เจ้าของสัตว์กลับไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ ใน DSM-5-TR ได้ระบุว่า Animal hoarding เป็นอาการของคนที่สะสมสัตว์เป็นจำนวนมาก แต่ล้มเหลวในการจัดหาอาหาร การดูแลเรื่องความสะอาด และการรักษาอาการเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยง ปล่อยให้สัตว์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม เช่น ป่วย ขาดสารอาหาร หรือตาย รวมไปถึงการให้สัตว์อยู่ในสถานที่แออัดยัดเยียด กรณีตัวอย่างเช่น ที่รัฐแอลิโซนาในปี 2023 เจ้าหน้าที่พบว่ามีหญิงคนหนึ่งที่มีสุนัขอยู่ในบ้าน 55 ตัว โดยพบลูกสุนัข 5 ตัวแช่อยู่ในช่องฟรีซ และสุนัขส่วนที่เหลือพบว่าไม่ได้รับการดูแลที่ดีโดยส่วนใหญ่ไม่ได้กินน้ำ


อะไรบ้างที่มีส่วนทำให้มีอาการ Animal hoarding?

ปัจจัยทางจิตใจที่เป็นเบื้องหลัง สำหรับปัจจัยทางจิตใจที่เป็นเบื้องหลังที่แท้จริงของอาการนี้ยังคงต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป แต่ก็มีการสันนิษฐานว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder: OCD) ซึ่งพบว่าผู้ป่วยที่เป็น OCD มักจะมีพฤติกรรมชอบสะสมสิ่งของที่ไม่ได้มีราคาแพง เช่น หนังสือพิมพ์ กล่องพลาสติก ถุงพลาสติก โดยจะสะสมเอาเป็นจำนวนมหาศาลอยู่ภายในบ้านของตัวเอง และจากการศึกษาหนึ่งพบว่า ร้อยละ 100 จาก 71 รายที่มีอาการ Animal Hoarding จะมีพฤติกรรมชอบสะสมสิ่งที่ไม่มีชีวิตร่วมด้วย ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของอาการชอบสะสมสัตว์มักเริ่มขึ้นมาจากเจตนาดีที่ต้องการช่วยเหลือสัตว์และค่อย ๆ เปลี่ยนบ้านให้เป็นเหมือนศูนย์พักพิงของสัตว์จนในที่สุดก็มีสัตว์จำนวนมากจนเกินการควบคุม


ผู้ดูแลที่รู้สึกท่วมท้นจนไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ได้ (Overwhelmed caregivers) และมีความผูกพันอย่างมากกับสัตว์ ซึ่งบ่อยครั้ง (แต่ไม่ใช่ทุกคน) ที่พบว่าพวกเขามีความเหงาหรือความโดดเดี่ยวทางสังคม และบางครั้งก็มีความเชื่อแบบผิด ๆ ว่าอาการของพวกเขาเกิดขึ้นเพราะเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น ปัญหาทางการเงิน ปัญหาสุขภาพร่างกาย ซึ่งพวกเขาจะมีปัญหาน้อยลงหากได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม  


ผู้สะสมที่เป็นนักช่วยเหลือ (Rescue hoarders) หมายถึงบุคคลที่มีพฤติกรรมสะสมสัตว์จำนวนมากโดยเชื่อว่าพวกเขากำลังช่วยเหลือหรือกอบกู้ชีวิตสัตว์เหล่านั้น โดยข้อมูลที่พบจาก Animal Hoarding ได้แก่

- พวกเขาจะมีความต้องการที่จะช่วยเหลือสัตว์อย่างมากแต่ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของสัตว์

- ร้อยละ 70 ของคนที่มีพฤติกรรมชอบสะสมพบว่าเป็นเพศหญิง อายุ 50-59 ปี อย่างไรก็ตามพฤติกรรมชอบสะสมไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นเพศ อายุ หรือสถานะทางเศรษฐกิจสังคม (สามารถเป็นใครก็ได้)

- ประมาณร้อยละ 50 ของคนที่มีพฤติกรรมชอบสะสมมักจะอาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว

- ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่ามีสัตว์ประมาณ 250,000 ตัวต่อปีที่เป็นเหยื่อของคนที่อาการ Animal Hoarding 


แนวทางในการช่วยเหลือ

เนื่องจากอาการชอบสะสมสัตว์ (Animal Hoarding) ถือเป็นความผิดปกติทางพฤติกรรมและจิตใจรูปแบบหนึ่ง ในการช่วยเหลือจึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเข้ามาช่วยในการทำจิตบำบัดให้แก่คนที่มีอาการ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในบทความของ Stanley Coren บนเว็บไซต์ Psychology Today ได้กล่าวถึงโปรแกรมการปรับความคิดพฤติกรรม (cognitive-behavioral intervention) ว่ามันยังไม่ค่อยได้ผลดีนัก เพราะบุคคลที่ไม่ได้รับการรักษาในฐานะที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชมักจะกลับไปมีอาการชอบสะสมสัตว์อีกครั้ง แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะโชคดีตรงที่หากพบว่ามีบุคคลใดที่น่าสงสัยว่ามีอาการ Animal Hoarding ก็สามารถแจ้งข้อมูลไปที่เว็บไซต์ National Link Coalition ได้โดยตรงเพื่อให้ทางองค์กรส่งเจ้าหน้าที่มารับสัตว์และให้การดูแลอย่างเหมาะสมต่อไป 


แม้สัตว์จะเป็นเพื่อนทางใจที่ช่วยเยียวยาความรู้สึกขาดบางอย่างของมนุษย์ได้ เช่น ความเหงา ความรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคม และการช่วยเหลือสัตว์ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่หากสะสมสัตว์เป็นจำนวนที่มากเกินขอบเขต ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์ รวมถึงเป็นการรบกวนสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนรอบข้าง การมีสัตว์เลี้ยงเป็นจำนวนมากก็อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนว่าสุดท้ายแล้วสัตว์ที่ถูกนำมาเลี้ยงไว้นั้นได้รับประโยชน์หรือได้รับผลกระทบทางลบมากกว่ากัน นอกจากนั้น หากคุณหรือคนใกล้ตัวของคุณเริ่มมีอาการสะสมสัตว์หรือสิ่งของจนเริ่มกระทบต่อสุขภาวะของตนเองและผู้อื่นก็ไม่ควรปล่อยเอาไว้จนกลายเป็นอาการป่วยทางจิตเวชในระดับที่รุนแรงนะคะ สิ่งที่ควรทำคือหมั่นสังเกตอาการและหาโอกาสปรึกษาจิตแพทย์ทันทีที่อาการเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง 


อ้างอิง:

[1] หนุ่มถูกร้องเรียนเลี้ยงแมว 100 ตัว วอนหน่วนงานช่วย | ข่าวเที่ยงช่องวัน | สำนักข่าววันนิวส์. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=CoihYwjUUpI

[4] Animal hoarding: What it is, what it isn’t, and how you can help. Retrieved from https://www.animalhumanesociety.org/resource/animal-hoarding-what-it-what-it-isnt-and-how-you-can-help

 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page