3 ข้อสังเกตที่บอกว่าเรากำลังอยู่ใน “ภาวะสิ้นยินดี” (Anhedonia)
ในทุกวันนี้ที่ความเครียด ความกดดันถาโถมเข้ามาใส่เรา จนเราไม่รู้ว่าจะต้องเครียดกับสิ่งไหนก่อน จะต้องรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในชีวิต จนนำไปสู่ “ภาวะสิ้นยินดี” คือ ไม่รู้สึกว่าตนเองมีความสุขในการใช้ชีวิต เมื่อมีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้น ก็ไม่ยินดีกับตนเอง หรือเมื่อมีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นกับผู้อื่น ก็ไม่รู้สึกใด ๆ ซึ่ง “ภาวะสิ้นยินดี” นี้ ก็สามารถทำให้หัวใจของเราด้านชา ไร้ความรู้สึก จนขาดเป้าหมายที่จะใช้ชีวิต ใช้ชีวิตไปวัน ๆ ปล่อยให้ตัวเองไหลไปตามเวลา ทำหน้าที่ตามน้ำ กลายเป็นผู้เหี่ยวเฉาทางจิตวิญญาณ
โดยในทางจิตวิทยา “ภาวะสิ้นยินดี” หรือ Anhedonia หมายถึง ภาวะทางอารมณ์ ที่มีความผิดปกติ เพราะเป็นภาวะที่เราไม่มีความรู้สึกใด ๆ กับสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิต เนื่องมาจากชุดความคิดที่ว่าสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ของจริง คงอยู่ไม่นาน และยังจมอยู่กับความเสร้าในจิตใจที่กัดกร่อนเรื้อรัง โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาให้ข้อมูลว่า “ภาวะสิ้นยินดี” มีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัย ดังนี้
1. สาเหตุทางกายภาพ หรือสาเหตุมาจากความเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น ความบกพร่องของการหลั่งสารสื่อประสาท การได้รับบาดเจ็บทางสมอง การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เป็นต้น
2. สาเหตุจากพันธุกรรมและการเลี้ยงดู เช่น บุคลิกภาพของผู้เลี้ยงดูที่เป็นซึมเศร้า หรือผู้เลี้ยงดูมองโลกในแง่ร้าย อารมณ์ฉุนเฉียว เจ้าอารมณ์ เด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาโดยบุคคลเหล่านั้นก็สามารถซึมซับและมีบุคลิกภาพ รวมถึงการมองโลกที่คล้ายคลึงกับผู้เลี้ยงดูได้
3. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ หากเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อยู่ท่ามกลางคนที่มองโลกในแง่ดี เราก็จะได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากผู้คนรอบข้าง แต่ถ้าหากว่าสิ่งแวดล้อมรอบข้างไม่ดี เสียงดัง มีมลภาวะ อยู่ท่ามกลางคนที่เป็น Toxic ก็เป็นการยากที่จะทำให้เราเป็นคนอารมณ์ดี มองโลกในแง่ดีได้
แล้วทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่า อารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเรานั้น เข้าข่าย “ภาวะสิ้นยินดี” แล้วหรือไม่ โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ให้ข้อสังเกต เกี่ยวกับ “ภาวะสิ้นยินดี” เอาไว้ ดังนี้ค่ะ
1. ความคิด
ผู้ที่มี “ภาวะสิ้นยินดี” มักจะมีความคิดในเชิงลบ หรือมองโลกในแง่ร้าย มักระแวง ไม่ไว้ใจใคร เมื่อเกิดเรื่องดี ๆ หรือมีคนทำดี เขาจะมีความคิดว่า สิ่งนั้นอยู่ไม่นาน ไม่ใช่ของจริง คนที่ทำดีกับเขาไม่จริงใจ จึงทำให้เขาเฉยชากับคนที่ทำดีกับเขา ไม่เกิดความรู้สึกเป็นสุขแม้ว่าตนเองจะได้รับการชื่นชม หรือได้รับรางวัล ได้รับตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมักจะมุ่งความสนใจไปยังเรื่องไม่ดีที่เกิดกับตัวเอง แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น มีคนนินทา ของหล่นหาย และปล่อยให้ตนเองจมจ่อมอยู่กับความรู้สึกทางลบอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
2. ความรู้สึก
ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า หากเราทำกิจกรรมที่เราชอบ หรือเราเคยสนุกกับมัน แต่เราไม่มีความสุขที่ได้ทำกิจกรรมนั้นอีกแล้ว หรือไม่มีสมาธิ ไม่มีกระจิตกระใจที่จะทำกิจกรรมที่เคยชอบ นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า เรากำลังอยู่ใน “ภาวะสิ้นยินดี” ค่ะ
เช่น หากเราชอบอ่านหนังสือมาก แต่อยู่ ๆ เรากลับไม่สามารถจดจ่ออยู่กับการอ่านได้ เพราะรู้สึกไม่มีความสุขที่อ่านหนังสือ หรือ เคยฟังเพลงหนึ่งแล้วรู้สึกมีความสุขมาก แต่แล้วกลับรู้สึกว่าเพลงนั้นทำให้เราเป็นทุกข์ หรือไม่รู้สึกรู้สากับสิ่งใด ๆ ที่เคยทำให้เรามีความสุข เป็นต้น
3. การตอบสนองของร่างกาย
ผู้ที่หมดใจในการใช้ชีวิต อย่างเช่นผู้ที่มี “ภาวะสิ้นยินดี” มักจะปรากฏความเหนื่อยล้าทางร่างกายตามมาด้วย โดยผู้ที่มี “ภาวะสิ้นยินดี” มักจะเหนื่อยง่ายกว่าคนทั่วไป หากเทียบกับการทำงานในปริมาณเท่ากัน มีความยากเท่ากัน หรือเมื่อตื่นขึ้นมาก็อยากจะนอนต่อ ไม่อยากตื่นมาใช้ชีวิต ไม่อยากพบปะผู้คน ซึ่งส่งผลให้อารมณ์ไม่สดชื่น การควบคุมอารมณ์ค่อนข้างมีปัญหา และมักจะเจ็บป่วยเรื้อรังด้วยอาการเจ็บป่วยที่หาสาเหตุไม่ได้
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณพบว่า เราเข้าข่าย “ภาวะสิ้นยินดี” อยู่นี่นะ ทางเราก็ได้รวบรวมวิธีฟื้นฟู เยียวยาจิตใจ ให้กลับมามีความรู้สึกทางบวกอีกครั้ง ด้วยแนวทางดังต่อไปนี้ค่ะ
1. ทำในสิ่งที่รัก แล้วเราจะได้รับความรักกลับมา
ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้สึกอิน หรือไม่ได้มีความสุขเท่าเดิมในการทำกิจกรรมที่ชอบ ลองพาตัวเองไปเป็นเด็กอีกครั้ง โดยกลับไปทำกิจกรรมที่เรารู้สึกสนุกในตอนที่เราเป็นเด็ก เช่น เล่นเครื่องเล่นในสวนสนุก ไปกระโดดน้ำเล่นกับลูก ๆ หลาน ๆ หรือเด็ก ๆ แถวบ้าน หรือปล่อยใจไปกับการเล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือปล่อยให้ตัวเองรู้สึกสงบไปกับการทำสวน เพื่อให้เราได้หวนคิดถึงความสุขในวัยเด็ก ที่เราไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องกดดัน กับภาระหน้าที่ในแบบผู้ใหญ่
2. ฝึกรู้เท่าทันอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกตนเอง
รู้เขา ไม่สู้รู้เรา เพราะหากเรารู้จักตัวเอง รู้เท่าทันความรู้สึก อารมณ์ และความคิดของตัวเอง เราจะสามารถเบรก หรือหยุดตัวเองได้ทัน ก่อนที่ความคิดทางลบ ความรู้สึกจะจมดิ่ง และอารมณ์จะเกรี้ยวกราด หรือซึมเศร้า เมื่อเราสามารถยับยั้งความคิด อารมณ์ ความรู้สึกทางลบได้ เราก็สามารถพาตัวเองขึ้นมาจากความทุกข์ได้ และสามารถเคลียร์ใจ ระบายความทุกข์ในใจ จนหัวใจกลับมารับความรู้สึกดี ๆ ได้อีกครั้ง
3. อยู่ท่ามกลางคนที่มีพลังบวก
ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า สาเหตุหนึ่งของการเกิด “ภาวะสิ้นยินดี” คือ สิ่งแวดล้อม ดังนั้นเราก็ควรจะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเกิดความรู้สึกที่ดี ให้เอื้อต่อการคิดบวก โดยพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางคนใจดี พาตัวเองกลับไปหาคนที่รักเรา หรือทำตัวเองนั่นละให้เป็นคนใจดี ถึงแม้ตอนแรกเราจะฝืน เพราะเรามีความคิดดั้งเดิมอยู่ว่าคนเหล่านั้นไม่ได้รักเราจริง เราก็ลองทำแบบเขา โดยการใจดีกับคนอื่น แล้วคุณจะได้รับสิ่งดี ๆ กลับมาค่ะ
4. ฝึกจับถูก
โดยธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งใดที่ขัดหูขัดตา หรือขัดใจ มักจะโดดเด่นเห็นชัดกว่าสิ่งอื่นเสมอ นั่นจึงทำให้เรามักจะ “จับผิด” กันจนเป็นเรื่องปกติ แต่ก็นั่นละค่ะ ยิ่งจับผิดมาก เราก็ยิ่งมีความคิดทางลบมาก ส่งผลให้อารมณ์ ความรู้สึก ของเราติดลบไปด้วย
ดังนั้นหากเราต้องการฟื้นฟูจิตใจให้กลับมารับรู้ความรู้สึกทางบวก เราก็ต้องหมั่นจับถูก โดยกล่าวชื่นชมในข้อดีของตนเอง ของคนรอบข้าง และขอบคุณหรือแสดงความซาบซึ้งต่อสิ่งดี ๆ ที่ผู้อื่นกระทำ แล้วเมื่อเราชินกับการจับถูก สายตาของเราก็จะมองเห็นแต่เรื่องดี ๆ ค่ะ
5. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา
และข้อแนะนำสุดท้าย ที่ควรจะทำเป็นอย่างแรก ก็คือ ไปขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจากสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือไปพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาที่เราสะดวกใจจะไปพบ เพื่อไปบำบัดความคิดทางลบ ไประบายสิ่งที่คั่งค้างในใจออกไป ไปฟื้นฟูจิตใจให้สดใส โดยเราจะได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบการณ์ในกระบวนการต่างๆ อย่างถูกต้อง
“ภาวะสิ้นยินดี” นับวันจะกลายเป็นภาวะทางอารมณ์ที่พบเห็นได้มาก นั่นจึงเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า “คนสมัยนี้แล้งน้ำใจ” นั่นก็เพราะเขาไม่ยินดีแม้กระทั่งกับสิ่งที่สามารถทำให้ตนเองเป็นสุข เขาจึงไม่สามารถไปใส่ใจ หรือยินดีกับผู้อื่นได้ ดังนั้นเราควรหมั่นสังเกตตนเอง เพื่อดูแลสุขภาพจิตใจของเราให้เข็มแข็งนะคะ
ทาง iSTRONG ขอส่งกำลังใจให้ทุกท่านกลับมามีชีวิตที่สดใสอีกครั้งนะคะ
หากท่านใดต้องการคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ เพื่อได้รับการช่วยเหลือให้คำแนะนำในเรื่องสุขภาพใจอย่างถูกต้อง สามารถติดต่อเพื่อพูดคุยปรึกษานักจิต จิตแพทย์ ผ่านบริการดูแลสุขภาพจิตจาก iSTRONG ได้เลยค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : 1. Spring. (2566, 5 กันยายน). คุณรู้สึก “สุข” ครั้งล่าสุดเมื่อไร ชวนสำรวจ “ภาวะสิ้นยินดี”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.springnews.co.th/lifestyle/work-balance/842905
2. ศูนย์สุขภาวะทางจิต (The Center for Psychological Wellness) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2566, 5 กันยายน). คุณรู้สึก “สุข” ครั้งล่าสุดเมื่อไร อาจารย์จิตวิทยา จุฬาฯ ชวนสำรวจ “ภาวะสิ้นยินดี” เร่งฟื้นใจให้ฟู ก่อนหมดไฟ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.chula.ac.th/highlight/131904/
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Commenti