top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เริ่มต้นการเยียวยาใจให้ถูกต้องผ่านการสำรวจบาดแผลทางใจในวัยเด็ก



บทความนี้ ผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะชวนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลเด็กไม่ให้มีบาดแผลทางใจ สืบเนื่องจากการทำงานในฐานะผู้ให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นเวลา 10 ปี ผู้เขียนพบเจอผู้คนจำนวนมากที่เคยมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กซึ่งแม้ว่าเกือบทุกคนจะบอกว่า “ไม่เป็นไรแล้ว” “สามารถผ่านมาได้แล้ว” แต่ก็มักจะพบว่าหลายคนยังมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นกับตัวเองในปัจจุบัน เช่น ผวาตื่นขึ้นมากลางดึกบ่อย ๆ มีอาการของโรคซึมเศร้า มีปัญหาความสัมพันธ์แบบคนรัก (มักเจอความสัมพันธ์แบบ Abusive Relationship) หรือบางคนอาจได้รับผลกระทบในระดับที่รุนแรง เช่น มีพฤติกรรมเสพติดเซ็ก ติดยาเสพติด เพราะต้องการบำบัดตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์มีกลไกป้องกันทางจิตใจ (defense mechanisms) หลายรูปแบบเพื่อให้สามารถเอาชีวิตรอดมาได้เรื่อย ๆ มันสามารถปกป้องไม่ให้จิตใจแตกสลายได้กระทั่งสั่งให้ลืมหรือบิดเบือนบางความทรงจำไป แต่ในขณะเดียวกัน ความทรงจำฝั่งอารมณ์มันไม่ได้ลืมเหมือนความทรงจำฝั่งความคิด ยกตัวอย่างเช่น คนที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก เมื่อโตขึ้นมา หลายคนก็สามารถทำงานใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ แต่ก็จะมีบางอย่างลึก ๆ ในใจที่ส่งผลให้การใช้ชีวิตไม่ราบรื่นเหมือนคนอื่น ๆ มีความติดขัดโดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ ซึ่งผู้เขียนขอหยิบยกข้อคำถามที่ใช้ในการสำรวจประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (Adverse Childhood Experience: ACE) จากหนังสือ Childhood Disrupted เขียนโดย Donna Jackson Nakazawa เพื่อให้ผู้อ่านได้ทดลองสำรวจตัวเองคร่าว ๆ ดังนี้


ก่อนที่คุณจะมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ คุณเคยพบเจอเหตุการณ์เหล่านี้ในชีวิตหรือไม่...

(คำตอบจะมีเพียง 2 ตัวเลือก คือ “ใช่” กับ “ไม่ใช่” ข้อที่ตอบว่าใช่ให้คุณเขียนเลข “1”)

1. พ่อแม่หรือผู้ใหญ่คนอื่นในครอบครัว สบถใส่คุณ ปรามาสคุณ ดุด่าคุณ ทำให้คุณรู้สึกต่ำต้อยหรืออับอายขายหน้า บ่อยถึงบ่อยมาก หรือ มีพฤติกรรมในลักษณะที่ทำให้คุณกลัวว่าคุณอาจได้รับความเจ็บปวดทางร่างกาย

2. พ่อแม่หรือผู้ใหญ่คนอื่นในครอบครัว มักผลัก จับ ตบหรือขว้างข้าวของใส่คุณ บ่อยถึงบ่อยมาก หรือ เคยตีคุณอย่างแรงจนคุณมีแผลหรือได้รับบาดเจ็บ

3. ผู้ใหญ่หรือคนที่อายุมากกว่าคุณอย่างน้อย 5 ปี เคยแตะต้องเล้าโลมหรือให้คุณสัมผัสร่างกายของเขาในลักษณะทางเพศ หรือ พยายามสัมผัสคุณหรือแตะต้องตัวคุณอย่างไม่เหมาะสม

4. คุณมักรู้สึก บ่อยถึงบ่อยมาก ว่าไม่มีคนในครอบครัวคนใดรักคุณ หรือ คนในครอบครัวไม่คิดว่าคุณมีความสำคัญหรือมีความพิเศษ หรือ รู้สึกว่าคนในครอบครัวไม่ได้ดูแลซึ่งกันและกัน ไม่รู้สึกใกล้ชิดกัน ไม่ช่วยเหลือกัน

5. คุณรู้สึก บ่อยถึงบ่อยมาก ว่าคุณได้รับอาหารไม่เพียงพอหรือต้องใส่เสื้อผ้าสกปรก และไม่มีใครปกป้องคุณบ้างหรือไม่ หรือ พ่อแม่ของคุณเมาเหล้าหรือยาเสพติดมากจนไม่สามารถดูแลคุณหรือพาคุณไปพบแพทย์ในยามที่จำเป็น

6. พ่อแม่โดยสายเลือดของคุณเคยจากไปเพราะการหย่าร้าง ทอดทิ้ง หรือเหตุผลอื่น

7. แม่หรือแม่เลี้ยงของคุณมักผลัก จับ ตบหรือขว้างข้าวของใส่คุณ บ่อยถึงบ่อยมาก หรือ เคยเตะ กัด ชกหรือตีคุณด้วยของแข็งในบางครั้ง หรือ ตีคุณติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 นาที หรือเอามีด/ปืนมาขู่คุณ

8. คุณอาศัยกับคนที่มีปัญหาเรื่องติดเหล้าหรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังหรือใช้สารเสพติด

9. มีคนในครอบครัวของคุณเป็นโรคซึมเศร้า หรือเจ็บป่วยทางจิต หรือพยายามฆ่าตัวตาย

10. มีคนในครอบครัวของคุณเคยติดคุก

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ หลังจากลองสำรวจแล้วคิดว่าตัวเองเขียนเลข “1” ลงไปกี่ข้อ สำหรับคนที่มีเลข “1” จำนวนมากก็อย่าเพิ่งตกใจไปนะคะ บาดแผลทางใจแม้จะมองไม่เห็นและรักษาให้หายได้ยากกว่าบาดแผลทางกาย แต่หากคุณได้ลองสำรวจจิตใจตัวเองจนสามารถค้นพบว่าตัวเองมีบาดแผลทางใจแล้วพาตัวเองไปพบกับนักจิตบำบัด บาดแผลทางใจของคุณก็จะได้รับการเยียวยา ส่วนระดับการเยียวยาจะมากน้อยขึ้นอยู่กับว่าคุณได้พบนักบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบำบัดเยียวยาบาดแผลทางใจโดยตรงหรือไม่ ซึ่งหากเป็นไปได้ ผู้เขียนแนะนำให้คุณศึกษาข้อมูลความเชี่ยวชาญและคุณวุฒิของนักจิตบำบัดก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับบริการค่ะ


ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ผู้อ่านทุกท่านที่กำลังประสบกับความยากลำบากในการมีชีวิตอยู่ ในฐานะที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพบเห็นผู้คนที่มีบาดแผลทางใจที่สามารถเติบโตงอกงามภายในหลังเผชิญกับประสบการณ์เลวร้ายได้ ก็ต้องขอบอกว่า แม้คุณจะเคยผ่านพบกับประสบการณ์เลวร้าย แต่คุณก็สามารถเป็นบุคคลที่มีความสุขกับชีวิตได้ไม่ต่างกับคนอื่น ๆ เลย ขอเพียงคุณเชื่อว่าคุณไม่ได้กำลังเผชิญโลกอันโหดร้ายเพียงลำพัง ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งที่พร้อมให้ความช่วยเหลือคุณจากใจจริง และหนึ่งในนั้นคือนักจิตบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการเยียวยาบาดแผลทางใจจากประสบกาณ์เลวร้ายในวัยเด็ก


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

1. หนังสือ Childhood Disrupted เขียนโดย Donna Jackson Nakazawa


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page