top of page

ผู้ใหญ่สมาธิสั้น vs โรคทนรอไม่ได้ เรากำลังเป็นอะไรกันแน่นะ ?

Updated: Apr 2

iSTRONG ผู้ใหญ่สมาธิสั้น vs โรคทนรอไม่ได้ เรากำลังเป็นอะไรกันแน่นะ ?

หากคุณกำลังหงุดหงิดใจว่าช่วงนี้เราใจร้อนจัง ทนรออะไรนาน ๆ ไม่ได้ สมาธิสั้น หัวร้อน ความจำไม่ดี แล้วพาลให้นึกสงสัยว่า “เรากำลังเป็นผู้ใหญ่สมาธิสั้น หรือเป็นโรคทนรอไม่ได้ หรือเปล่านะ?”


ซึ่งบทความจิตวิทยานี้มีคำตอบค่ะ ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักกับ “ผู้ใหญ่สมาธิสั้น” และ “โรคทนรอไม่ได้” กันก่อนนะคะ ว่า “ผู้ใหญ่สมาธิสั้น” และ “โรคทนรอไม่ได้” เป็นอย่างไร


ผู้ใหญ่สมาธิสั้นคืออะไรนะ ?

ตามตำราของสมาคมนักจิตวิทยาสหรัฐอเมริกา ที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาทั่วโลกใช้ถือเป็นมาตรฐานในการวิเคราะห์ และวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ที่ชื่อว่า DSM – V (The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fifth Edition) โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) สามารถเป็นได้ตั้งแต่อายุ 6 ขวบไปจนโตเลยค่ะ ซึ่งอาการสมาธิสั้นก็แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ


1. โรคสมาธิสั้นแบบไม่นิ่ง (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD)

ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นแบบไม่นิ่ง หรือ ADHD จะสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้ค่ะ

  • ขาดสมาธิ เปลี่ยนความสนใจบ่อย จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ไม่นาน ทำอะไรได้ไม่นานก็ล้มเลิก เปลี่ยนใจเร็ว ลังเล โลเล การตัดสินใจไม่ดีเท่าที่ควร เปลี่ยนงานบ่อย ทำงานเดิมนาน ๆ ไม่ได้เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้


  • ใจร้อน จุดเดือดต่ำ หัวร้อนง่าย ใครทำอะไรให้ไม่ถูกใจก็พร้อมปะทะ มักพูดหรือทำก่อนคิด ขาดการวางแผน วุฒิภาวะต่ำกว่าวัย มีความสามารถในการควบคุมตัวเองต่ำ มีพฤติกรรมก้าวร้าว อยากได้อะไรต้องได้เดี๋ยวนี้ รอไม่เป็น และมีแนวโน้มสูงมากที่จะใช้เงินเกินตัว


  • อยู่ไม่นิ่ง อยู่เฉย ๆ นาน ๆ ไม่ได้ ต้องขยับตัวตลอดเวลา ต้องมีกิจกรรมทำตลอด พูดเยอะ พูดไม่หยุด เสียงดัง มักจะทำอะไรเสียงดังโดยไม่ตั้งใจ


2. โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่แบบนิ่ง (Attention Deficit Disorder : ADD)

ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นแบบนิ่ง หรือ ADD จะต่างจาก ADHD ตรงที่ สามารถอยู่กับที่ได้นาน เสียงดังน้อยกว่าค่ะ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้ค่ะ

  • ขาดสมาธิ ขาดการวางแผนในการใช้ชีวิต จัดลำดับความสำคัญไม่เป็น ไม่รู้ว่าควรทำอะไรก่อน - หลัง จำยากแต่ลืมง่าย ทำของหายบ่อย ลืมวันสำคัญ ลืมนัด ใส่ใจน้อย ทำอะไรมักไม่ละเอียดรอบคอบ สมาธิสั้น มักทำอะไรอย่างเดิมได้ไม่นาน และส่วนใหญ่แล้วมักติดเกม ติดมือถือ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่พวกเขาสามารถจดจ่อได้นาน


  • ใจร้อน รอคอยอะไรนาน ๆ ไม่ได้ หงุดหงิดง่าย แต่ไม่ใช่สายปะทะค่ะ จะออกมาในแนวบ่น เก็บกดความโกรธ ความไม่พอใจเอาไว้ แล้วมาระบายกับคนรู้จักแทน มักพูดหรือทำก่อนคิดเช่นกัน และใช้เงินรวดเร็วร้อนแรงไม่แพ้กันค่ะ


โรคทนรอไม่ได้เป็นอย่างไร ?

โรคทนรอไม่ได้ มีชื่อภาษาอังกฤษ ว่า Hurry Sickness โดยมีอาการเด่น ๆ 6 อาการต่อไปนี้ค่ะ


  1. รีบไปทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องที่ไม่ควรรีบ เช่น การรับประทานอาหาร การเข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัว การอาบน้ำ เป็นต้น รีบประหนึ่งว่าจะทำลายสถิติโลด จึงทำให้คนที่เป็นโรคทนรอไม่ได้ดูลก ๆ รนๆ ร้อนรนไปกับทุกเรื่อง


  2. มักจะทำอะไรหลายอย่างพร้อม ๆ กัน คนที่เป็นโรคทนรอไม่ได้มักจะมี Project ในหัวหลายเรื่องมากเลยค่ะ แถมยังจะทำทุกอย่างพร้อมกันทุกเรื่องที่คิดไปอีก ทำให้งานออกมาไม่ดีเท่าที่ตั้งใจจนทำให้เกิดอาการตามข้อ 3 ตามมาค่ะ


  3. หงุดหงิดกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากว่าคนที่เป็นโรคทนรอไม่ได้มักจะรีบไปทุกอย่าง และทำหลายเรื่องพร้อมกัน ทำให้งานออกมาไม่เป็นเหมือนที่ตั้งใจ จึงทำให้เกิดอาการหงุดหงิด หัวร้อนตามมาค่ะ


  4. พยายามเร่งตัวเองอยู่ตลอดเวลา นอกจากจะรีบไปทุกอย่างแล้ว คนที่เป็นโรคทนรอไม่ได้ยังเร่งความเร็วของตัวเองในการทำสิ่งต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา มักจะกดดันตัวเองจนตัวเองเครียดเพื่อที่จะทำให้ดีกว่าที่เคยทำได้ และทำให้เร็วกว่าที่เคยทำไว้ค่ะ


  5. เป็นนักแทรกแซงโดยไม่รู้ตัว เพราะความทนรอไม่ได้ เลยมักจะอดไม่ได้ที่จะตัดบท หรือพูดแทรกคู่สนทนาโดยไม่รู้ตัว หรือบางทีคู่สนทนายังพูดไม่จบ เราเดินหนีเลยก็มี จึงมักทำให้ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างแย่ลงไปด้วยค่ะ


  6. บังคับตัวเองให้ทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด คำว่า The best คือยอดปรารถนาของคนที่เป็นโรคทนรอไม่ได้ จึงทำให้ต้องบังคับตัวเองให้ทำดีขึ้นไปอีก ทำเร็วขึ้นไปอีก และทำพร้อมกันหลาย ๆ อย่างอีกต่างหาก


ผู้ใหญ่สมาธิสั้น vs โรคทนรอไม่ได้

  • ความเหมือนของ ผู้ใหญ่สมาธิสั้น vs โรคทนรอไม่ได้ ก็คือ เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข เพราะทั้ง 2 คน ใช้ชีวิตพิเศษกว่าคนทั่วไปค่ะ คนหนึ่งใจร้อน จดจ่อกับเรื่องเดิม ๆ ไม่ได้อีกคนรีบร้อนไปทุกเรื่อง จึงทำให้คนที่เป็นผู้ใหญ่สมาธิสั้น และคนที่เป็นโรคทนรอไม่ได้ ใช้ชีวิตลำบากกว่าคนอื่น ๆ


  • ความต่าง สำหรับความต่างนั้นมีที่เห็นได้ชัด ดังนี้ค่ะ


  • ผู้ใหญ่สมาธิสั้น ต้องมีพฤติกรรมชัดเจนในเรื่องขาดสมาธิ และใจร้อนค่ะ รวมถึงอาจจะมีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่งด้วย โดยอาการดังกล่าวเป็นมาแต่เด็กแล้ว หรือเป็นมามากกว่า 6 เดือนค่ะ


  • “โรคสมาธิสั้น” เป็นโรคทางจิตเวชที่ระบุชัดใน DSM – V เกิดมาจากความบกพร่องของสารสื่อประสาทในสมอง ต้องใช้ยาช่วยในการรักษา แต่ “โรคทนรอไม่ได้” เป็นอาการทางพฤติกรรมที่เกิดจากปัจจัยทางสังคม คือ การเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อม ใช้พฤติกรรมบำบัด หรือ เทคนิคทางจิตวิทยา CBT (Cognitive behavioral therapy) ในการปรับให้ความคิดและพฤติกรรมดีขึ้นค่ะ


เทคนิคเพิ่มความใจเย็น ลดอาการใจร้อน

เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่คุณผู้อ่านทั้งที่เป็นผู้ใหญ่สมาธิสั้น หรือเป็นโรคทนรอไม่ได้ หรือคุณผู้อ่านที่ต้องการเพิ่มความใจเย็นให้แก่ตัวเอง ด้วยข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา 4 วิธี ดังนี้ค่ะ


  1. วางแผนชีวิต ถ้าปัญหาทั้งหลายเกิดจากชีวิตที่ไม่มีแผน ทำให้ผู้ใหญ่สมาธิสั้นล่องลอย และ คนที่เป็นโรคทนรอไม่ได้ต้องรีบเร่ง การวางแผนชีวิตอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจึงสามารถช่วยได้มากค่ะ เพราะเราจะได้รู้ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง และยังสามารถจัดลำดับความสำคัญของรายการชีวิตได้เหมาะสมมากขึ้นด้วยค่ะ


  2. หาช่วง Break down ถ้าอาการของโรค หรือพฤติกรรมของเราทำให้เราปวดหัว ก็พักก่อนค่ะ โดยทำกิจกรรมเบา ๆ ให้ใจเย็นลง เช่น ฟังเพลงช้า ๆ อาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือชิว ๆ หรือแอบงีบสักหน่อย


  3. ใช้เทคนิค Mindfulness ช่วย การใช้เทคนิค Mindfulness หรือการฝึกสติ ที่นิยมใช้กันมาก ก็คือ การทำสมาธิค่ะ ไม่ว่าจะนั่งสมาธิ นับเลขวนไป หรือทำงานประดิษฐ์ที่มีความละเอียดสูงก็สามารถช่วยได้มากเลยค่ะ


  4. ขอความช่วยเหลือบ้างก็ได้ หากเกิดความรู้สึกว่า “ทนไม่ไหวแล้ว” การหาที่ปรึกษาก็เป็นตัวเลือกที่ดีค่ะ โดยเริ่มจากพูดคุยกับคนที่เราสนิทใจ หรือไปพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็สามารถช่วยให้ชีวิตเรามีความปกติสุขได้มากขึ้นเลยค่ะ


การเป็นผู้ใหญ่สมาธิสั้น หรือการเป็นโรคทนรอไม่ได้ ต่างก็สร้างความยุ่งยากลำบากใจให้กับ ทั้งผู้ป่วยและคนรอบข้างพอสมควรทีเดียวค่ะ ดังนั้นการมารู้จักเจ้าสองโรคนี้ให้มากขึ้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการรักษาที่ดีค่ะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ


อ้างอิง

ภูริตา บุญล้อม. 18 พฤษภาคม 2564. รู้จัก โรคทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness) พร้อมกับ 6 สัญญาณช่วยเช็กว่าคุณกำลังเป็นโรคนี้อยู่หรือเปล่า. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2564 จาก https://thestandard.co/hurry-sickness/

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 2 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต


iSTRONG ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต Solutions ด้านสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง รวมถึงบทความจิตวิทยา

© 2016-2025 Actualiz Co.,Ltd. All rights reserved.

contact@istrong.co                     Call 02-0268949

  • Facebook Social Icon
  • YouTube Social  Icon
  • Instagram
  • Twitter
bottom of page