ผู้ใหญ่สมาธิสั้น vs โรคทนรอไม่ได้ เรากำลังเป็นอะไรกันแน่นะ ?
หากคุณกำลังหงุดหงิดใจว่าช่วงนี้เราใจร้อนจัง ทนรออะไรนาน ๆ ไม่ได้ สมาธิสั้น หัวร้อน ความจำไม่ดี แล้วพาลให้นึกสงสัยว่า “เรากำลังเป็นผู้ใหญ่สมาธิสั้น หรือเป็นโรคทนรอไม่ได้ หรือเปล่านะ?” ซึ่งบทความจิตวิทยานี้มีคำตอบค่ะ ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักกับ “ผู้ใหญ่สมาธิสั้น” และ “โรคทนรอไม่ได้” กันก่อนนะคะ ว่า “ผู้ใหญ่สมาธิสั้น” และ “โรคทนรอไม่ได้” เป็นอย่างไร
ผู้ใหญ่สมาธิสั้นคืออะไรนะ ?
ตามตำราของสมาคมนักจิตวิทยาสหรัฐอเมริกา ที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาทั่วโลกใช้ถือเป็นมาตรฐานในการวิเคราะห์ และวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ที่ชื่อว่า DSM – V (The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fifth Edition) โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) สามารถเป็นได้ตั้งแต่อายุ 6 ขวบไปจนโตเลยค่ะ ซึ่งอาการสมาธิสั้นก็แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. โรคสมาธิสั้นแบบไม่นิ่ง (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD)
ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นแบบไม่นิ่ง หรือ ADHD จะสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้ค่ะ
ขาดสมาธิ เปลี่ยนความสนใจบ่อย จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ไม่นาน ทำอะไรได้ไม่นานก็ล้มเลิก เปลี่ยนใจเร็ว ลังเล โลเล การตัดสินใจไม่ดีเท่าที่ควร เปลี่ยนงานบ่อย ทำงานเดิมนาน ๆ ไม่ได้เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้
ใจร้อน จุดเดือดต่ำ หัวร้อนง่าย ใครทำอะไรให้ไม่ถูกใจก็พร้อมปะทะ มักพูดหรือทำก่อนคิด ขาดการวางแผน วุฒิภาวะต่ำกว่าวัย มีความสามารถในการควบคุมตัวเองต่ำ มีพฤติกรรมก้าวร้าว อยากได้อะไรต้องได้เดี๋ยวนี้ รอไม่เป็น และมีแนวโน้มสูงมากที่จะใช้เงินเกินตัว
อยู่ไม่นิ่ง อยู่เฉย ๆ นาน ๆ ไม่ได้ ต้องขยับตัวตลอดเวลา ต้องมีกิจกรรมทำตลอด พูดเยอะ พูดไม่หยุด เสียงดัง มักจะทำอะไรเสียงดังโดยไม่ตั้งใจ
2. โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่แบบนิ่ง (Attention Deficit Disorder : ADD)
ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นแบบนิ่ง หรือ ADD จะต่างจาก ADHD ตรงที่ สามารถอยู่กับที่ได้นาน เสียงดังน้อยกว่าค่ะ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้ค่ะ
ขาดสมาธิ ขาดการวางแผนในการใช้ชีวิต จัดลำดับความสำคัญไม่เป็น ไม่รู้ว่าควรทำอะไรก่อน - หลัง จำยากแต่ลืมง่าย ทำของหายบ่อย ลืมวันสำคัญ ลืมนัด ใส่ใจน้อย ทำอะไรมักไม่ละเอียดรอบคอบ สมาธิสั้น มักทำอะไรอย่างเดิมได้ไม่นาน และส่วนใหญ่แล้วมักติดเกม ติดมือถือ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่พวกเขาสามารถจดจ่อได้นาน
ใจร้อน รอคอยอะไรนาน ๆ ไม่ได้ หงุดหงิดง่าย แต่ไม่ใช่สายปะทะค่ะ จะออกมาในแนวบ่น เก็บกดความโกรธ ความไม่พอใจเอาไว้ แล้วมาระบายกับคนรู้จักแทน มักพูดหรือทำก่อนคิดเช่นกัน และใช้เงินรวดเร็วร้อนแรงไม่แพ้กันค่ะ
โรคทนรอไม่ได้เป็นอย่างไร ?
โรคทนรอไม่ได้ มีชื่อภาษาอังกฤษ ว่า Hurry Sickness โดยมีอาการเด่น ๆ 6 อาการต่อไปนี้ค่ะ
รีบไปทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องที่ไม่ควรรีบ เช่น การรับประทานอาหาร การเข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัว การอาบน้ำ เป็นต้น รีบประหนึ่งว่าจะทำลายสถิติโลด จึงทำให้คนที่เป็นโรคทนรอไม่ได้ดูลก ๆ รนๆ ร้อนรนไปกับทุกเรื่อง
มักจะทำอะไรหลายอย่างพร้อม ๆ กัน คนที่เป็นโรคทนรอไม่ได้มักจะมี Project ในหัวหลายเรื่องมากเลยค่ะ แถมยังจะทำทุกอย่างพร้อมกันทุกเรื่องที่คิดไปอีก ทำให้งานออกมาไม่ดีเท่าที่ตั้งใจจนทำให้เกิดอาการตามข้อ 3 ตามมาค่ะ
หงุดหงิดกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากว่าคนที่เป็นโรคทนรอไม่ได้มักจะรีบไปทุกอย่าง และทำหลายเรื่องพร้อมกัน ทำให้งานออกมาไม่เป็นเหมือนที่ตั้งใจ จึงทำให้เกิดอาการหงุดหงิด หัวร้อนตามมาค่ะ
พยายามเร่งตัวเองอยู่ตลอดเวลา นอกจากจะรีบไปทุกอย่างแล้ว คนที่เป็นโรคทนรอไม่ได้ยังเร่งความเร็วของตัวเองในการทำสิ่งต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา มักจะกดดันตัวเองจนตัวเองเครียดเพื่อที่จะทำให้ดีกว่าที่เคยทำได้ และทำให้เร็วกว่าที่เคยทำไว้ค่ะ
เป็นนักแทรกแซงโดยไม่รู้ตัว เพราะความทนรอไม่ได้ เลยมักจะอดไม่ได้ที่จะตัดบท หรือพูดแทรกคู่สนทนาโดยไม่รู้ตัว หรือบางทีคู่สนทนายังพูดไม่จบ เราเดินหนีเลยก็มี จึงมักทำให้ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างแย่ลงไปด้วยค่ะ
บังคับตัวเองให้ทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด คำว่า The best คือยอดปรารถนาของคนที่เป็นโรคทนรอไม่ได้ จึงทำให้ต้องบังคับตัวเองให้ทำดีขึ้นไปอีก ทำเร็วขึ้นไปอีก และทำพร้อมกันหลาย ๆ อย่างอีกต่างหาก
ผู้ใหญ่สมาธิสั้น vs โรคทนรอไม่ได้
ความเหมือนของ ผู้ใหญ่สมาธิสั้น vs โรคทนรอไม่ได้ ก็คือ เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข เพราะทั้ง 2 คน ใช้ชีวิตพิเศษกว่าคนทั่วไปค่ะ คนหนึ่งใจร้อน จดจ่อกับเรื่องเดิม ๆ ไม่ได้อีกคนรีบร้อนไปทุกเรื่อง จึงทำให้คนที่เป็นผู้ใหญ่สมาธิสั้น และคนที่เป็นโรคทนรอไม่ได้ ใช้ชีวิตลำบากกว่าคนอื่น ๆ
ความต่าง สำหรับความต่างนั้นมีที่เห็นได้ชัด ดังนี้ค่ะ
ผู้ใหญ่สมาธิสั้น ต้องมีพฤติกรรมชัดเจนในเรื่องขาดสมาธิ และใจร้อนค่ะ รวมถึงอาจจะมีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่งด้วย โดยอาการดังกล่าวเป็นมาแต่เด็กแล้ว หรือเป็นมามากกว่า 6 เดือนค่ะ
“โรคสมาธิสั้น” เป็นโรคทางจิตเวชที่ระบุชัดใน DSM – V เกิดมาจากความบกพร่องของสารสื่อประสาทในสมอง ต้องใช้ยาช่วยในการรักษา แต่ “โรคทนรอไม่ได้” เป็นอาการทางพฤติกรรมที่เกิดจากปัจจัยทางสังคม คือ การเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อม ใช้พฤติกรรมบำบัด หรือ เทคนิคทางจิตวิทยา CBT (Cognitive behavioral therapy) ในการปรับให้ความคิดและพฤติกรรมดีขึ้นค่ะ
เทคนิคเพิ่งความใจเย็น ลดอาการใจร้อน
เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่คุณผู้อ่านทั้งที่เป็นผู้ใหญ่สมาธิสั้น หรือเป็นโรคทนรอไม่ได้ หรือคุณผู้อ่านที่ต้องการเพิ่มความใจเย็นให้แก่ตัวเอง ด้วยข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา 4 วิธี ดังนี้ค่ะ
วางแผนชีวิต ถ้าปัญหาทั้งหลายเกิดจากชีวิตที่ไม่มีแผน ทำให้ผู้ใหญ่สมาธิสั้นล่องลอย และ คนที่เป็นโรคทนรอไม่ได้ต้องรีบเร่ง การวางแผนชีวิตอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจึงสามารถช่วยได้มากค่ะ เพราะเราจะได้รู้ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง และยังสามารถจัดลำดับความสำคัญของรายการชีวิตได้เหมาะสมมากขึ้นด้วยค่ะ
หาช่วง Break down ถ้าอาการของโรค หรือพฤติกรรมของเราทำให้เราปวดหัว ก็พักก่อนค่ะ โดยทำกิจกรรมเบา ๆ ให้ใจเย็นลง เช่น ฟังเพลงช้า ๆ อาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือชิว ๆ หรือแอบงีบสักหน่อย
ใช้เทคนิค Mindfulness ช่วย การใช้เทคนิค Mindfulness หรือการฝึกสติ ที่นิยมใช้กันมาก ก็คือ การทำสมาธิค่ะ ไม่ว่าจะนั่งสมาธิ นับเลขวนไป หรือทำงานประดิษฐ์ที่มีความละเอียดสูงก็สามารถช่วยได้มากเลยค่ะ
ขอความช่วยเหลือบ้างก็ได้ หากเกิดความรู้สึกว่า “ทนไม่ไหวแล้ว” การหาที่ปรึกษาก็เป็นตัวเลือกที่ดีค่ะ โดยเริ่มจากพูดคุยกับคนที่เราสนิทใจ หรือไปพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็สามารถช่วยให้ชีวิตเรามีความปกติสุขได้มากขึ้นเลยค่ะ
การเป็นผู้ใหญ่สมาธิสั้น หรือการเป็นโรคทนรอไม่ได้ ต่างก็สร้างความยุ่งยากลำบากใจให้กับ ทั้งผู้ป่วยและคนรอบข้างพอสมควรทีเดียวค่ะ ดังนั้นการมารู้จักเจ้าสองโรคนี้ให้มากขึ้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการรักษาที่ดีค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ
อ้างอิง
ภูริตา บุญล้อม. 18 พฤษภาคม 2564. รู้จัก โรคทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness) พร้อมกับ 6 สัญญาณช่วยเช็กว่าคุณกำลังเป็นโรคนี้อยู่หรือเปล่า. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2564 จาก https://thestandard.co/hurry-sickness/
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 2 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต
Comments