"สมาธิสั้นเทียม" ภัยเงียบในคนทำงานยุคใหม่ที่องค์กรควรจับตา
คุณเคยพบเพื่อนร่วมงานหรือตัวคุณเองหลง ๆ ลืม ๆ ทำงานผิดพลาดบ่อยขึ้น ส่งงานล่าช้าบ่อยครั้ง หรือหุนหันพลันแล่นมากขึ้นบ้างรึเปล่า หากตอบว่าใช่ ไม่แน่ว่าคุณหรือเพื่อนร่วมงานอาจกำลังเผชิญกับภาวะ “สมาธิสั้นเทียม” อยู่ก็ได้
ในยุคที่ทุกคนก้มหน้าจดจ่ออยู่แต่กับโลกเสมือนในออนไลน์ มีคอนเท้นท์เป็นล้าน ๆ เรื่องที่คอยจะเบียดเข้ามาแย่งความสนใจจากคุณ แอปพลิเคชันยิ่งตัดตอนทำให้คอนเท้นท์สั้นลงไปเรื่อย ๆ จนทำให้คนเราคุ้นชินกับการเร่งดู เร่งตอบ และได้อะไรที่ปัจจุบันทันที สิ่งนี้ส่งผลต่อสมาธิของคนเราอย่างไม่ต้องสงสัย ประกอบกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบในปัจจุบัน คนทำงานต่างกำลังเผชิญกับปัญหาภาระงานที่มหาศาล และการเรียกร้องสารพัดที่วิ่งเข้ามาในแต่ละวัน เป็นเหตุให้แต่ละคนไม่สามารถนั่งโฟกัสอยู่กับงานเดียวหรือสิ่งเดียวได้ตลอดเวลา จนเป็นเหตุให้เกิด "สมาธิสั้นเทียม"
นี่กำลังเป็นอีกปัญหาของคนทำงาน และแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพใจ (Mental Health) อย่างไม่ต้องสงสัย สิ่งสำคัญสำหรับ HR หัวหน้างาน ผู้บริหาร และองค์กรคือ การรู้เท่าทันและรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ ของคนทำงาน รวมถึงปัญหาสมาธิสั้นในผู้ใหญ่นี้ด้วย เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี ช่วยให้คนทำงานสร้างผลลัพธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิตที่อาจมีตามมา
โรคสมาธิสั้น หรือ ADHD (Attention deficit hyperactivity disorder) เรามักจะได้ยินว่าเกิดกับเด็ก แต่อาการของโรคหรือภาวะนี้สามารถอยู่ยาวจนถึงวัยผู้ใหญ่หรือแม้แต่เกิดขึ้นครั้งแรกในวัยผู้ใหญ่ก็ได้ ซึ่งมีทั้ง สมาธิสั้นแท้ ที่ต้องรักษาแบบจริงจังโดยการปรับพฤติกรรมและรับประทานยา ซึ่งพบได้ประมาณ 2.5-4.0% ในผู้ใหญ่ และสมาธิสั้นเทียม ที่อาการเหล่านี้คล้ายกับ ADHD แต่มีวิธีรับมือโดยที่ไม่ต้องกินยา แต่ถึงอย่างนั้นสมาธิสั้นเทียมก็สามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อบุคคล ทีมงาน และผลประกอบการของธุรกิจในวงกว้าง ทำให้เป็นประเด็นสำคัญที่องค์กรไม่ควรนิ่งนอนใจ
ความเข้าใจเกี่ยวกับสมาธิสั้นเทียมในผู้ใหญ่
อาการในผู้ใหญ่สามารถแสดงออกได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งมักจะปะปนหรือผสมกับความเครียดสูงในการทำงาน ตัวอย่างอาการ ได้แก่
ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ หรือเริ่มงานได้ยาก
ถูกดึงความสนใจออกจากงานที่ทำอยู่ได้ง่ายมาก
ได้หน้าลืมหลัง เมื่อผละงานไปทำสิ่งอื่น ก็จะหลงลืมงานที่ทำคั่งค้าง
หลง ๆ ลืม ๆ
วู่วาม หุนหันพลันแล่น การขาดการยับยั้งชั่งใจ
ชีวิตดูยุ่งเหยิง ไม่มีระเบียบ
ผัดวันประกันพรุ่ง ส่งงานล่าช้าเกินกำหนด
บริหารเวลาไม่มีประสิทธิภาพ
อาจนอนไม่พอบ่อยครั้งเนื่องจากจัดสรรเวลาไม่ดี
ในขณะที่เด็กที่เป็นสมาธิสั้นมักจะมีอาการอยู่ไม่นิ่ง สำหรับผู้ใหญ่อาจจะดูนิ่ง แต่มักจะรู้สึกกระวนกระวายใจหรือรู้สึกหงุดหงิดภายในใจมากกว่า
สาเหตุและปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดสมาธิสั้นเทียม
สาเหตุที่แท้จริงของอาการในผู้ใหญ่นั้นซับซ้อนและมีหลายปัจจัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ระบบประสาท และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนปัจจัยกระตุ้นด้านสภาพแวดล้อมที่มีความเครียดสูง การนอนหลับไม่เพียงพอ โภชนาการที่ไม่ดี และการใช้ชีวิตที่ไม่เป็นระเบียบ สามารถทำให้อาการเหล่านี้รุนแรงขึ้นได้
ผลกระทบของสมาธิสั้นในผู้ใหญ่
1. ผลกระทบต่อตัวคนทำงาน
คนทำงานที่มีอาการสมาธิสั้นเหล่านี้ มักจะไม่มีสมาธิในการทำงาน โดยเฉพาะงานที่ซับซ้อนและต้องเรียงลำดับความสำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานล่าช้า เกินกำหนด ผัดวันประวันพรุ่ง เนื่องจากเริ่มงานได้ยากและโดนรบกวนสมาธิได้บ่อยครั้ง เกิดความผิดพลาดในงาน รวมทั้งความวู่วามและหุนหันพลันแล่นจะทำให้เกิดความยั้งคิดจนกระทั่งอาจเผลอพลั้งปากหรือทำอะไรที่กระทบความสัมพันธ์กับคนอื่นในที่ทำงาน หรือตัดสินใจชั่ววูบที่ไม่ได้ผ่านการตรึกตรองให้ดีก่อน ซึ่งผลลัพธ์เหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็ยิ่งทำให้คนคนนั้นเกิดความเครียด ความวิตกกังวล ไปจนถึงความเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า กลายเป็นวงจรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพใจ
2. ผลกระทบต่อทีมและธุรกิจ
ผลกระทบของอาการสมาธิสั้นแม้จะเป็นแบบเทียม ก็สามารถขยายไปยังทีมและธุรกิจทั้งหมด ความยุ่งเหยิงไม่มีระเบียบและการผัดวันประกันพรุ่งมักทำให้งานเสร็จล่าช้า ส่งผลกระทบต่อไปยังคนอื่นที่ทำงานต่อ ๆ กัน ทำให้ทีมและองค์กรเกิดความเสียหาย อีกทั้งปัญหาความหุนหันพลันแล่นอาจนำไปสู่ความสัมพันธ์ในทีม ยิ่งไปกว่านั้น ความเครียดและความหงุดหงิดที่บุคคลนั้นกำลังเผชิญอยู่ สามารถมีส่วนทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานเป็นลบ ส่งผลต่อขวัญกำลังใจและ Engagement ของทีม
ปัญหาสมาธิสั้นกับความสัมพันธ์กับคนรอบตัว
ปัญหาสมาธิสั้นเทียมในผู้ใหญ่สามารถส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทั้งในชีวิตส่วนตัวและที่ทำงานได้ อาการบางอย่างอาจสร้างความท้าทายในการสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น:
ความยากลำบากในการจดจ่อและการฟัง: คนที่มีอาการสมาธิสั้นเทียมอาจพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะจดจ่ออยู่การสนทนาหรือจดจำรายละเอียดสำคัญ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดและความขัดแย้งได้
ความหุนหันพลันแล่นและการขาดความอดทน: การกระทำหรือพูดโดยไม่ยั้งคิดสามารถทำให้ผู้อื่นเสียความรู้สึกหรือทำให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ นอกจากนี้ ความยากลำบากในการรอคอยอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้
ความท้าทายในการทำงานร่วมกับผู้อื่น: อาการสมาธิสั้นเทียมสามารถทำให้การทำงานเป็นทีมและการทำงานร่วมกันเป็นเรื่องยากมากขึ้น เนื่องจากคนคนนั้นอาจมีปัญหาในการปฏิบัติตามคำแนะนำ กฎกติกา หรือความรับผิดชอบ
ความเครียดและความวิตกกังวล: ปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องอาจทำให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ เนื่องจากบุคคลที่มีอาการอาจปลีกตัวออกห่าง หงุดหงิดง่าย หรือมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์
ความยากลำบากในการจัดลำดับความสำคัญ: บุคคลที่มีอาการสมาธิสั้นเทียมอาจมีปัญหาในการจัดลำดับความสำคัญของความต้องการของคู่ครองหรือสมาชิกในทีม ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกถูกละเลยหรือไม่ได้รับการใส่ใจจากบุคคลนั้น
จำไว้ว่าการสื่อสารที่เปิดกว้างและความเข้าอกเข้าใจเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ การสนับสนุนจากคู่ครอง เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต สามารถช่วยให้บุคคลที่มีอาการสมาธิสั้นเทียมสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่มั่นคงและดีต่อการใช้ชีวิตขึ้นได้
ปัญหาสมาธิสั้นกับการเงินส่วนบุคคล
ปัญหาสมาธิสั้นเทียมในผู้ใหญ่อาจเกี่ยวข้องกับปัญหาการเงินส่วนบุคคลได้ด้วยในบางกรณี เนื่องจากอาการบางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจัดการการเงินส่วนบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น:
การขาดการจัดระเบียบและการวางแผน: บุคคลที่มีอาการสมาธิสั้นเทียมอาจมีปัญหาในการจัดระเบียบและวางแผนการเงิน ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือการลืมชำระค่าใช้จ่ายสำคัญ จนต้องเสียค่าปรับหรือดอกเบี้ย
ความวู่วามหุนหันพลันแล่น: การกระทำโดยไม่ยั้งคิดสามารถนำไปสู่การตัดสินใจทางการเงินที่ไม่ดี เช่น การซื้อของฟุ่มเฟือยหรือการลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงสูงโดยไม่ได้พิจารณาผลที่ตามมาให้รอบคอบก่อน
ความยากลำบากในการมีสมาธิ: อาการนี้อาจทำให้ยากต่อการมุ่งความสนใจไปที่รายละเอียดทางการเงิน เช่น การบันทึกค่าใช้จ่าย การตั้งงบประมาณ หรือการวางแผนการเงินทั้งระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว
ความเครียดและความวิตกกังวล: ปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับสมาธิสั้นเทียมสามารถนำไปสู่การตัดสินใจทางการเงินที่ไม่ดี เนื่องจากคนคนนั้นพยายามจัดการกับความเครียดหรือความวิตกกังวลของตัวเองผ่านการใช้จ่ายหรือพฤติกรรมการเงินที่ไม่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่มีอาการสมาธิสั้นเทียมจะประสบกับปัญหาการเงินส่วนบุคคล ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การศึกษา รายได้ และสภาพแวดล้อมทางสังคมก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน การช่วยเหลือที่ดีและกลยุทธ์ที่เหมาะสมสามารถช่วยให้บุคคลที่มีอาการสมาธิสั้นเทียมจัดการการเงินส่วนบุคคลได้ดีขึ้น
เครื่องมือสำหรับหัวหน้าทีม ผู้จัดการ และ HR ในการสังเกตพนักงาน
ผู้เขียนขอฝากเครื่องมือสำหรับหัวหน้าทีม ผู้จัดการ และฝ่าย HR/People ในการสังเกตอาการที่อาจบ่งชี้ว่าพนักงานมีอาการสมาธิสั้นเทียมและอาจต้องการความช่วยเหลือ:
สังเกตการเปลี่ยนแปลงในประสิทธิภาพการทำงาน: หากพนักงานมีปัญหาในการตั้งใจ มีสมาธิ ส่งงานที่เริ่มมีข้อผิดพลาดมากขึ้น ส่งงานล่าช้า หรือมาทำงานสาย อาจเป็นสัญญาณของอาการสมาธิสั้นเทียม
สังเกตพฤติกรรมที่หุนหันพลันแล่น: พนักงานที่พูดหรือกระทำโดยไม่คิด แสดงอาการหงุดหงิดง่าย หรือมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์อาจเป็นสัญญาณของอาการสมาธิสั้นเทียม
สังเกตความยากลำบากในการมีส่วนร่วมหรือการทำงานร่วมกัน: หากพนักงานดูเหมือนไม่สนใจฟังในระหว่างการประชุมหรือการพูดคุย มีปัญหาในการปฏิบัติตามคำแนะนำ หรือต่อต้านการทำงานเป็นทีม อาจเป็นสัญญาณของสมาธิสั้น
สังเกตการเปลี่ยนแปลงในการสื่อสารหรือพฤติกรรมทางสังคม: หากพนักงานดูเหมือนแยกตัว หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น หรือมีปัญหาในการสื่อสารอย่างชัดเจน อาจเป็นสัญญาณของความเครียดหรือประเด็นด้านสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับอาการสมาธิสั้นเทียม
สังเกตแรงจูงใจหรือความสนใจในงานที่ลดลง: พนักงานที่ดูเหมือนไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีส่วนร่วม หรือมีปัญหาในการเริ่มหรือทำงานให้เสร็จอาจมีปัญหาสมาธิหรือความท้าทายอื่นๆ
จัดให้มีการประเมินสุขภาพใจและการให้คำปรึกษาเป็นประจำ: การกำหนดการประเมินสุขภาพใจและการให้คำปรึกษาเป็นประจำจะช่วยให้หัวหน้าทีมและผู้จัดการติดตามการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมหรือสุขภาพใจ และให้พื้นที่ที่ปลอดภัยแก่พนักงานในการพูดคุยหรือปรึกษาเกี่ยวกับความท้าทายที่พวกเขากำลังเผชิญ
ส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานที่พร้อมเข้าใจและเปิดกว้าง: การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดกว้าง เข้าใจ และไม่ตัดสินจะทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจในการพูดคุยเกี่ยวกับความเปราะบางด้านอารมณ์และสุขภาพจิต และขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ
โดยการสังเกตสัญญาณและให้การช่วยเหลือที่เหมาะสม หัวหน้าทีม ผู้จัดการ และฝ่าย HR/People สามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือพนักงานที่อาจเผชิญกับอาการสมาธิสั้นเทียมหรือความท้าทายด้านสุขภาพจิตอื่นๆ อย่างไรก็ตาม หากพบว่าพนักงานมีอาการที่อาจเป็นมากกว่าสมาธิสั้นเทียม คุณควรส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถวินิจฉัยในเรื่องเหล่านี้ได้ เช่น จิตแพทย์
ปัญหาพนักงานสมาธิสั้น เรื่องที่องค์กรควรให้ความสำคัญและรีบจัดการ
การจัดการกับประเด็นนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการช่วยเหลือพนักงานแต่ละคนเท่านั้น แต่ยังเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจด้วย องค์กรสามารถเพิ่มผลผลิต เพิ่ม Engagement ของพนักงาน และลดอัตราการลาออก นอกจากนี้ การส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ใส่ใจสุขภาพใจของพนักงานสามารถเพิ่มชื่อเสียงของบริษัท ทำให้เป็นสถานที่ทำงานที่น่าดึงดูดใจมากขึ้น โดยเฉพาะกับพนักงานยุคใหม่
กลยุทธ์สำหรับ HR/People หัวหน้างาน ผู้บริหาร และองค์กรในการช่วยเหลือ
การให้ความรู้แก่คนทำงาน: ฝ่าย HR/People และ หัวหน้างานควรได้รับความรู้เกี่ยวกับภาวะสมาธิสั้น รวมถึงอาการและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประสิทธิภาพการทำงาน การเข้าใจความท้าทายเหล่านี้เป็นขั้นตอนแรกในการสังเกตและการช่วยเหลือที่ถูกทาง
โปรแกรมให้คำปรึกษาพนักงาน (EAPs): ผู้เชี่ยวชาญใน โปรแกรม EAPs เช่น จิตแพทย์ และนักจิตวิทยา สามารถช่วยเหลือให้คำปรึกษาพนักงานที่เผชิญกับปัญหาเหล่านี้ได้ รวมถึงให้คำแนะนำแก่หัวหน้างานถึงวิธีการรับมือและการปฏิบัติอย่างเหมาะสมกับพนักงานกลุ่มนี้ได้ ก็จะช่วยลดภาระให้กับ HR/People และองค์กร รวมทั้งป้องกันก่อนเกิดปัญหาที่ใหญ่โตกว่านั้นตามมา
การปรับนโยบายการทำงาน: การปรับเปลี่ยนง่าย ๆ เช่น ชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่น พื้นที่ทำงานที่เงียบสงบ หรือตัวเลือกในการทำงานจากที่บ้าน สามารถบรรเทาความท้าทายที่พนักงานที่มีอาการสมาธิสั้นกำลังเผชิญได้อย่างมาก
การฝึกอบรมและพัฒนา: การให้การฝึกอบรมเรื่องการบริหารเวลา การจัดลำดับความสำคัญ การจัดระเบียบความคิด และการจัดการความเครียด สามารถเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังให้พนักงานได้พัฒนากลยุทธ์ในการดูแลตนเอง
การส่งเสริมความสมดุลระหว่างงานและชีวิตที่ดี: การส่งเสริมให้พนักงานรักษาความสมดุลระหว่างงานและชีวิตที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งอาจรวมถึงการส่งเสริมการพักเป็นระยะ การออกกำลังกาย การนอนที่เพียงพอ และการช่วยปรับปริมาณงานให้สมเหตุสมผลและสามารถจัดการได้
กิจกรรมการลดความเครียดและการฝึกสติ (Mindfulness): การรวมแนวปฏิบัติเรื่องการฝึกสติและกิจกรรมการลดความเครียดเข้ากับสถานที่ทำงาน สามารถช่วยให้พนักงานจัดการกับความเครียดได้ ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการได้มาก แม้พนักงานที่ไม่ได้มีอาการสมาธิสั้น ทักษะเหล่านี้ก็ยังมีประโยชน์อย่างมาก
อาการสมาธิสั้นเทียมในผู้ใหญ่สามารถสร้างปัญหาได้ในที่ทำงาน ส่งผลกระทบต่อตัวพนักงาน ทีมงาน และประสิทธิภาพโดยรวมของธุรกิจ ด้วยการตระหนักรู้ถึงความท้าทายเหล่านี้และการนำกลยุทธ์การช่วยเหลือที่เหมาะสมมาใช้ รวมทั้งการมี HR/People และหัวหน้างานที่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดูแลสุขภาพใจ เป็นบวก พร้อมเข้าใจและช่วยเหลือ จะช่วยป้องกันและจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
เกี่ยวกับผู้เขียน
พิชาวีร์ เมฆขยาย
Mental Health Consultant / ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาองค์กร ที่ iSTRONG Mental Health
M.Sc. จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
B.Sc. จิตวิทยา
Comments