5 ลักษณะเด่น ที่บ่งบอกว่าลูกรักกำลังมีภาวะการปรับตัวผิดปกติ
ตอนนี้เด็ก ๆ คงเปิดเทอมกันหมดแล้ว และคุณผู้อ่านคงได้พบเจอกับความงอแง หงุดหงิด ของเด็ก ๆ กันรายวันแน่ ๆ เลยใช่ไหมคะ ว่าแต่พฤติกรรมนั้นเป็นเรื่องปกติหรือเป็นภาวะการปรับตัวผิดปกติกันแน่นะ บทความจิตวิทยานี้มีคำตอบให้กับคุณค่ะ โดยดิฉันได้รวบรวม 5 ลักษณะเด่น ที่บ่งบอกว่า ลูกรักกำลังมีภาวะการปรับตัวผิดปกติ จากตำราจิตเวชศาสตร์มาฝากกันค่ะ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ได้บอกถึง 5 ลักษณะเด่นอย่างไรนั้น มาดูกันเลยค่ะ
1. วิตกกังวล หงุดหงิด เครียด และตื่นเต้น
หากคุณสังเกตได้ว่า หลังจากเปิดเทอมไม่นาน เด็ก ๆ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ฝันร้าย พูดถึงเรื่องเดิม ๆ ในแง่ร้าย หงุดหงิดง่าย วิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด เครียดเวลาต้องไปโรงเรียน ตัวสั่น มือสั่น ร้องไห้ งอแงเวลาที่ต้องไปโรงเรียน มีพฤติกรรมเหมือนเด็กเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นฉี่ราด อั้นอึ อั้นฉี่ไม่ได้ พูดติดอ่าง
ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เรื่องปกตินะคะ และที่หนักกว่านั้น คือ อาจจะไม่ได้หายไปเองง่าย ๆ เพราะพฤติกรรมที่ว่ามาเป็นตัวอย่างข้างต้น อาจกำลังบอกว่า ลูกหรือหลานของคุณกำลังมีภาวะการปรับตัวผิดปกติอยู่ค่ะ
2. เศร้า เสียใจ และรู้สึกสิ้นหวัง
นอกจากความกังวล หงุดหงิด เครียด ที่พูดถึงในข้อ 1 ไปแล้ว นักจิตวิทยายังบอกอีกว่า เด็กที่มีภาวะการปรับตัวผิดปกติ ยังสามารถแสดงออกโดยมีความเศร้าอย่างมาก รู้สึกผิดง่าย น้อยใจง่าย รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า รู้สึกว่าการไปโรงเรียนเป็นการลงโทษของพ่อ แม่
ซึ่งความคิดและพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้กระทบต่อการเรียนและชีวิตความเป็นอยู่ในรั้วโรงเรียนของเด็กอย่างมากเลยค่ะ เพราะเด็ก ๆ จะเรียนไม่รู้เรื่อง เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตได้ค่ะ
บทความแนะนำ “เราเป็นซึมเศร้าหรือเราแค่เครียดกันนะ”
3. มีความพฤติกรรมต่อต้าน ละเมิดสิทธิคนอื่น สังคม และโรงเรียน
การที่เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบแกล้งเพื่อน ทำลายข้าวของ ไม่ทำตามกฎ ของโรงเรียน หนีเรียน และอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้พ่อ แม่ ผู้ปกครองอย่างเรา ๆ ต้องปวดใจ สาเหตุอาจจะไม่ได้มาจากตัวเด็ก แต่อาจมาจากการที่เด็กมีภาวะการปรับตัวผิดปกติก็ได้นะคะ เพราะนักจิตวิทยาได้จำแนกพฤติกรรมต่อต้าน ละเมิดสิทธิคนอื่น สังคม และโรงเรียน เป็นประเภทหนึ่งของภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) เลยค่ะ
4. มีความผิดปกติทางอารมณ์อย่างเห็นได้ชัด
ข้อสังเกตของภาวะการปรับตัวผิดปกติอีกอย่างหนึ่งที่คุณสามารถสังเกตเด็ก ๆ ได้ ก็คือ การมีความผิดปกติทางอารมณ์อย่างชัดเจน เช่น มีอาการเศร้าอย่างมากคล้ายโรคซึมเศร้า ใจร้อน วู่วาม หัวร้อนง่าย หงุดหงิดไปทุกสิ่งทุกอย่าง ตื่นเต้นง่าย ตกใจง่าย
ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ก็สามารถบ่งบอกได้ว่า เด็ก ๆ อาจกำลังอยู่ในภาวการณ์ปรับตัวผิดปกติได้ค่ะ เพราะฉะนั้น อย่าได้นิ่งนอนใจ รีบพาลูก ๆ หลาน ๆ ของคุณขอรับความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาเด็กโดยด่วนนะคะ
5. มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับสถานการณ์
พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เด็ก ๆ ที่มีภาวะการปรับตัวผิดปกติ มักแสดงออก เช่น พูดเสียงดัง พูดไม่หยุด ขโมยของ ทำร้ายร่างกายตัวเอง หัวเราะร่วนแบบผิดปกติ ไม่ฟัง คนอื่นพูด พูดแทรก พูดหยาบ ใช้คำไม่เหมาะสมกับวัย
ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ ต่างเป็นสัญญาณบอกว่า เด็กอาจกำลังมีภาวะการปรับตัวผิดปกติอยู่ก็ได้นะคะ
นอกจากนี้แล้ว ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยายังบอกไว้ว่า การที่จะวินิจฉัยได้ว่าเด็กมีภาวะ การปรับตัวผิดปกติ หรือศัพท์ทางจิตวิทยาเรียกว่า Adjustment Disorder ได้นั้น เด็กต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทางพฤติกรรมและอารมณ์ในสถานการณ์กดดันอย่างชัดเจน ภายใน 3 เดือน ที่ต้องอยู่ในสถานการณ์กดดันนั้น ต้องมีอาการเครียดมากผิดปกติ และภาวะการปรับตัวผิดปกตินั้นทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามเดิม ที่เคยเป็น เช่น เรียนไม่รู้เรื่อง อยู่ร่วมกับเพื่อนไม่ได้ เป็นต้นค่ะ ทั้งนี้ อาการที่ว่ามา ต้องไม่ได้เป็นผลมาจากการสูญเสียบุคคลที่เด็กรัก และสามารถดีขึ้นได้เมื่อไม่ได้อยู่ในสถานการณ์กดดันนั้นแล้วค่ะ
หากคุณผู้อ่านกำลังเป็นกังวลกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเด็ก ๆ สามารถขอรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาของ iSTRONG ได้เสมอนะคะ ทางเรายินดีให้คำปรึกษากับทุกปัญหาและข้อข้องใจของคุณผู้อ่านเสมอค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : รณชัย คงสกนธ์. กรกฎาคม2548. จิตเวชศาสตร์รามาธิบดี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 245 -247.
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี
Comments