องค์กรควรปรับอย่างไร เมื่อ trend ยุคใหม่คือสุขภาพจิตต้องมาก่อน
หากพูดถึง trend หรือความนิยมในกลุ่มคนทำงานก็จะพบว่า trend ของคนทำงานในยุคเก่าแทบจะไม่มีใครเห็นถึงความสำคัญของสุขภาพจิตคนทำงานเลย ผลที่ตามมาก็คือมีหลายคนที่อุทิศตนให้กับงานจนละเลยที่จะดูแลตัวเองและครอบครัวโดยไม่ได้ตระหนักว่าชีวิตการทำงานและครอบครัวมันผูกกันอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่งานมีความเครียดหรือกดดันสูงก็อาจจะกลับบ้านมาด้วยหน้าตาที่บึ้งบูดอารมณ์ไม่ดี เมื่อเป็นแบบนั้นอย่างต่อเนื่องก็จะเริ่มทำให้ความสัมพันธ์ในบ้านแย่ลงทำให้มีความเครียดเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อไปทำงานก็จะอารมณ์ไม่ดีใส่เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้อง
ซึ่งมันเหมือนกับงูกินหางที่สุดท้ายก็กลายเป็นความเครียดสะสมนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพจิต ในปัจจุบันคนทำงานจึงหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมากขึ้น โดย trend ในปี 2024 พบว่าผู้คนจะให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองมากขึ้นและมองหาวิธีปรับสมดุลด้านสุขภาพจิตและอารมณ์ของตนเองเพราะภาวะวิกฤตรอบด้านกำลังสร้างความบอบช้ำทางจิตใจให้แก่ผู้คน
ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตของคนทำงาน
เนื่องจากเวลาในชีวิตส่วนใหญ่ของคนทำงานมักจะอยู่ในที่ทำงาน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ทำงานจึงมีผลค่อนข้างมากต่อสุขภาพจิต โดยสิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้คนทำงานเกิดปัญหาสุขภาพจิตจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้แก่
• ทักษะที่ตัวเองมีไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการทำงาน หรือต้องทำงานที่ตัวเองยังขาดทักษะในด้านนั้น
• งานล้นแต่คนไม่พอ
• รูปแบบการทำงานเป็นแบบต้องทำงานต่อเนื่องยาวนาน ต่างคนต่างก้มหน้าทำงาน เวลางานไม่ยืดหยุ่น
• คนทำงานไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับรูปแบบของงานหรือปริมาณงานที่ได้รับ
• สถานที่ทำงานไม่ถูกสุขลักษณะหรือไม่ปลอดภัย
• วัฒนธรรมการทำงานที่ปล่อยให้คนทำงานแสดงพฤติกรรมแย่ ๆ ต่อกัน
• เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าไม่ให้ความช่วยเหลือ
• มีความรุนแรง การคุกคาม หรือการ bully เกิดขึ้นในที่ทำงาน
• การแบ่งแยกกีดกัน
• บทบาทในการทำงานไม่มีความชัดเจน
• การประเมินเลื่อนขั้นที่ขาดความยุติธรรม
• งานไม่มีความมั่นคง ค่าตอบแทนต่ำ
• มองไม่เห็นความก้าวหน้าเติบโตในสายงาน
• มีความรู้สึกลำบากใจเพราะทั้งครอบครัวทั้งงานต่างก็เรียกร้องต้องการ
ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์กรที่มีชื่อว่า “SHRM” ได้กล่าวถึงเหตุผลที่สุขภาพจิตจะกลายมาเป็นประเด็นที่ใหญ่ที่สุดใน trend ของปี 2024 ว่ามันเป็นผลมาจากการที่มีพนักงาน (ในประเทศสหรัฐอเมริกา) กว่าครึ่งหนึ่งหรือประมาณร้อยละ 57 ที่กำลังเผชิญภาวะหมดไฟ (burnout) ในขณะที่พนักงานประมาณร้อยละ 48 มีความมั่นใจว่านายจ้างมีความห่วงใยต่อพนักงาน
องค์กรควรปรับตัวยังไงเมื่อ trend ยุคใหม่ของคนทำงานคือสุขภาพจิตต้องมาก่อน
ในปัจจุบันมีทั้งคนที่รู้และคนที่ไม่รู้ว่าปัญหาสุขภาพจิตของคนทำงานนั้นมีราคาที่ต้องจ่ายทั้งในระดับปัจเจกและในระดับสังคม โดยคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตในระดับที่รุนแรงมักจะถูกกีดกันจากการจ้างงานเพราะจะถูกมองว่ามีประสิทธิภาพในการทำงานไม่เพียงพอ แต่การที่ต้องออกจากงานหรือไม่มีงานทำนั้นจะยิ่งส่งผลต่อสถานะทางการเงินซึ่งมักจะนำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตาย
ผู้เขียนเองจึงมีมุมมองว่านี่อาจเป็นเหตุผลที่คนทำงานในปัจจุบันเริ่มหันมาตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตตนเองกันมากขึ้น เพราะหากปล่อยให้ตนเองมีปัญหาสุขภาพจิตในระดับที่รุนแรงมันอาจจะทำให้เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่าตามมาได้ ในขณะที่การเริ่มต้นดูแลสุขภาพจิตรวมไปถึงสุขภาพกายของตนเองตั้งแต่เนิ่น ๆ จะเป็นผลดีต่อตนเองในระยะยาวมากกว่า เราจึงมักจะได้ยินหลายคนเริ่มที่จะพูดว่า “ไม่อยากทำงานหนักแล้วไปจบลงที่โรงพยาบาล”
ซึ่ง trend การทำงานในยุคปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของตัวเองมากขึ้นมันก็มีแนวโน้มสูงที่คนทำงานเก่ง ๆ อาจจะตัดสินใจลาออกได้ง่ายขึ้นหากพบว่าตนเองกำลังทำงานที่มันบั่นทอนสุขภาพจิต ดังนั้น องค์กรยุคใหม่อาจจะต้องปรับนโยบายหรือปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีต่อสุขภาพจิตของคนทำงานมากยิ่งขึ้น ได้แก่
1. ป้องกันไม่ให้พนักงานเกิดปัญหาสุขภาพจิตด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง (ตามที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น)
2. จัดให้มีการป้องกันและการส่งเสริมเกี่ยวกับสุขภาพจิตในที่ทำงาน
3. ให้ความช่วยเหลือแก่พนักงานที่กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงสนับสนุนให้พวกเขามีส่วนร่วมและมีโอกาสได้เติบโตพัฒนาในด้านการทำงาน
4. ทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานมีความเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ส่งเสริมสุขภาพจิตของพนักงานมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า trend เรื่องสุขภาพจิตจะมีมาระยะใหญ่แล้ว แต่ก็อาจจะยังมีหลายองค์กรที่ขาดพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดทำนโยบายหรือโปรแกรมช่วยเหลือพนักงานที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะภาวะหมดไฟ (burnout) ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของพนักงานในองค์กรค่อนข้างมาก
ซึ่งหากองค์กรไหนเริ่มมีความตื่นรู้และอยากเริ่มต้นก้าวแรกแห่งการเป็นองค์กรที่สนับสนุนสุขภาวะของคนทำงานก็สามารถนำทีมงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางในการจัดทำโปรแกรมให้ความช่วยเหลือพนักงานได้ค่ะ สำหรับองค์กรที่ต้องการดูแลสุขภาพใจหรือทักษะด้านจิตวิทยาของพนักงานสามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ >> บริการสำหรับองค์กร
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] เจาะเทรนด์โลก 2024 คนหันกลับมาดูแล "จิตใจและอารมณ์" มากขึ้น. Retrieved from https://www.thaipbs.or.th/news/content/335054
[2] Mental health at work. Retrieved from https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/mental-health-at-work
[3] Anxiety Is Now the Top Mental Health Issue in the Workplace. Retrieved from https://www.shrm.org/topics-tools/news/benefits-compensation/anxiety-top-mental-health-issue-workplace-compsych
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments