top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

สัญญาณเตือนของ Abusive Relationship รักครั้งนี้ควรจะไปต่อหรือพอแค่นี้



สังคมไทยถือว่ามีข่าวเกี่ยวกับการทำร้ายแฟนถี่มากพอสมควร โดยข่าวล่าสุดก็คือกรณีของ influencer สาวที่เสียชีวิตพร้อมกับแฟนหนุ่มซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการถูกแฟนหนุ่มฆาตกรรม ทำให้สังคมตั้งคำถามขึ้นมามากมายเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงกับคนรัก ซึ่งเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้ก็มีกรณีที่หญิงสาวคนหนึ่งแทงแฟนหนุ่มเสียชีวิตด้วยปมหึงหวง การใช้ความรุนแรงกับคนรักเช่นนี้เรียกว่า “Abusive Relationship” ที่คนในสังคมมักได้ยินข่าวบ่อย ๆ


แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีใครเข้าใจเกี่ยวกับมันมากมายนัก ทำให้เวลาที่มีข่าวออกมาก็จะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผู้ถูกกระทำ(เหยื่อ) เช่น ทำไมถึงเลือกคนแบบนี้มาเป็นแฟน ทำไมไม่รีบเลิกกันไป ทนอยู่ทำไม บทความนี้จึงอยากชวนให้ทุกคนทำความรู้จักกับ Abusive Relationship ให้ลึกขึ้นค่ะ


รูปแบบพฤติกรรมที่เป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังอยู่ใน Abusive Relationship


1. การทำร้ายร่างกาย (physical abuse)

มีการทำให้คนรักเกิดความเจ็บปวดทางร่างกายผ่านวิธีทำร้ายร่างกายต่าง ๆ เช่น ทุบตี เตะต่อย ใช้อาวุธทำให้บาดเจ็บ ไปจนถึงการกักขังหน่วงเหนี่ยว ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานทางร่างกาย เช่น ห้ามไม่ให้กินอาหาร ห้ามไม่ให้นอนหลับ ห้ามไม่ให้เข้าบ้าน สั่งให้ยืนอยู่นิ่ง ๆ เป็นเวลานานหลายชั่วโมง บังคับให้อยู่ในกรงสัตว์หรือหีบที่ล็อคกุญแจ

2. การทำร้ายจิตใจ (emotional abuse)

มีการใช้คำพูดหรือแสดงพฤติกรรมที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดทุกข์ใจ เช่น ล้อเลียนหรือพูดบั่นทอนความมั่นใจของอีกฝ่าย ข่มขู่ ตะโกนด่าทอ ใช้คำพูดทิ่มแทงจิตใจ แสดงอาการหึงหวงมากเกินเหตุแม้ว่าอีกฝ่ายไม่ได้ทำอะไรที่น่าหึงหวงเลย ปั่นหัวเพื่อควบคุมให้อีกฝ่ายทำตามความต้องการของตัวเอง บังคับให้ตีตัวออกห่างจากสังคมจนไม่เหลือใครนอกจากแฟนเพื่อตัดแหล่งสนับสนุนขอความช่วยเหลือ


3. การทำร้ายทางเพศ (sexual abuse)

มีการทำให้อีกฝ่ายทุกข์ใจหรือบาดเจ็บจากกิจกรรมทางเพศ เช่น บังคับให้มีเพศสัมพันธ์ทั้งที่ไม่เต็มใจ มีเพศสัมพันธ์แบบรุนแรงจนก่อให้เกิดการบาดเจ็บ บังคับให้แต่งตัวยั่วยวนออกไปในที่สาธารณะ ถ่ายรูปหรือคลิปโดยที่ไม่ได้รับความยินยอม ล่อลวงให้เสพสารเสพติดจนมึนเมาเพื่อให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย บังคับให้มีเพศสัมพันธ์แบบหมู่หรือให้มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นโดยไม่เต็มใจ ไม่ยอมสวมถุงยางอนามัย จงใจถอดหรือเจาะถุงยาง


4. การทำร้ายโดยใช้เทคโนโลยีคุกคาม (digital abuse)

มีการคุกคามผ่านเทคโนโลยี เช่น ส่งข้อความที่ไม่ให้เกียรติ แอบติดตามตำแหน่ง แฮกรหัสผ่านบัญชี social media เพื่อควบคุมกิจกรรมในโลกออนไลน์ นำรูปภาพหรือคลิปไปโพสต์ประจานหรือทำให้เสียชื่อเสียง


5. การทำร้ายทางการเงิน (financial abuse)

มีการทำให้อีกฝ่ายเกิดปัญหาทางการเงิน เช่น ไม่ยอมให้อีกฝ่ายเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของตนเอง ขโมยทรัพย์สินของแฟนหรือครอบครัวของแฟน ห้ามไม่ให้มีรายได้เป็นของตัวเองเพื่อไม่ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ แอบใช้ชื่อของอีกฝ่ายไปสร้างหนี้สิน


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสัญญาณเตือน Abusive Relationship จะมีความชัดเจนสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับบางคนแล้วอาจจะมีความไวต่อสัญญาณเตือนของ Abusive Relationship น้อยกว่าคนอื่น ๆ หรือแม้จะรู้แล้วว่าตนเองกำลังตกอยู่ใน Abusive Relationship แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่แค่รู้แล้วก็สามารถตัดความสัมพันธ์ได้ทันที ซึ่งหากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยู่ใน Abusive Relationship ก็ขอเชิญชวนให้ค่อย ๆ คิดไตร่ตรองไประหว่างที่อ่านข้อความด้านล่างนี้

  • อย่าโทษตัวเองที่ต้องมาเจอกับ Abusive Relationship เพราะใคร ๆ ก็ตัดสินใจผิดพลาดได้ ซึ่งมันไม่เป็นไร

  • ไม่มีความผิดไหนที่สมควรต้องถูกลงโทษด้วยความรุนแรง ดังนั้น อย่าพูดกับตัวเองว่า “เป็นเพราะฉันไม่ดีเองที่ทำให้เขาต้องใช้ความรุนแรงแรงนี้”

  • คุณคู่ควรกับแฟนที่ให้เกียรติ อย่ายอมให้ใครมาด้อยค่าคุณได้

  • คุณมีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

  • หากคุณมีลูก ลูกของคุณก็ควรได้มีชีวิตที่สงบสุขและปลอดภัยในบ้านที่ร่มเย็น

  • คุณไม่ได้โดดเดี่ยวอยู่บนโลกใบนี้ มีผู้คนมากมายที่พร้อมช่วยเหลือคุณ ขอเพียงคุณขอความช่วยเหลือ


หลังจากที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวไปแล้ว ตอนนี้ก็อยากจะชวนให้คุณเริ่มต้นที่จะชั่งน้ำหนักว่าควรจะไปต่อหรือพอแค่นี้ ซึ่งหากคุณค้นพบแล้วว่าตัวเองอยากจะออกจาก Abusive Relationship คุณสามารถทำตามข้อแนะนำต่อไปนี้ได้


1. เตรียมการทุกอย่างให้พร้อมต่อการหนี แฟนที่เป็น abusive มักจะไม่ยอมให้เดินออกมาง่าย ๆ และอาจตามไปราวีถ้าหากรู้ว่าคุณหนีไปที่ไหน คุณควรทำให้ตัวเองพร้อมที่จะไปทันทีที่มีโอกาส เช่น พกกุญแจรถติดตัวไว้ เติมน้ำมันรถให้เต็มถัง แอบเก็บ้ขาวของที่จำเป็นใส่รถเอาไว้เลย

2. ซ้อมแผนการหนีไว้บ้าง เพื่อให้คุณมีภาพอยู่ในหัวว่าถ้าหากจะหนีไปจริง ๆ คุณต้องเริ่มยังไง ต้องทำอะไรบ้าง

3. บันทึกหรือจดเบอร์ฉุกเฉิน เอาไว้ในกรณีที่คุณต้องการความช่วยเหลือ

4. ควรปรึกษาใครสักคนที่ไว้ใจได้ และเป็นพวกของคุณ เพราะคุณจำเป็นต้องมี support

5. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ในกรณีที่คุณรู้สึกสับสน เจ็บปวด หรือหวาดกลัว คุณควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด ซึ่งนอกจากจะช่วยเคลียร์สิ่งที่คั่งค้างในใจของคุณแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังอาจช่วยคุณวิเคราะห์พฤติกรรมของแฟนคุณได้ และช่วยคุณหาทางป้องกันความเสี่ยงที่มันอาจเกิดขึ้น ซึ่งในบางกรณีคุณอาจต้องปรึกษาตำรวจ ทนาย หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โทร. 1300 เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

[1] SCORA Thailand “How to Spot an Abusive Relationship”

[2] MGR online “ไรเดอร์หนุ่มถูกแทงดับคาเตียง ตร.เชื่อฝีมือแฟนสาว ปมหึงหวง”


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page