top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

รู้จัก PMDD อาการซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือนที่ฟังดูเหมือนไม่น่าจะมีอยู่จริงแต่ก็มีอยู่จริง


หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “มนุษย์เมนส์” ซึ่งหมายถึงผู้หญิงในช่วงก่อนมีประจำเดือนที่มีอารมณ์อ่อนไหวเป็นพิเศษทำให้มีพฤติกรรมที่บางทีก็ทำให้คนรอบข้างรับมือยากและกลายเป็นผู้ประสบภัย การที่อาการก่อนมีประจำเดือนของผู้หญิงแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันไป บางคนมี บางคนไม่มี บางคนมีอาการรุนแรง บางคนมีอาการเพียงเล็กน้อย มันจึงอาจทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่ามนุษย์เมนส์มีอยู่จริงหรือมโน ในบทความนี้จึงอยากชวนให้คุณได้ลองทำความรู้จักกับอาการซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือนแบบที่เรียกว่า “premenstrual dysphoric disorder (PMDD)” ซึ่งเป็นอาการที่ส่งผลกระทบรุนแรงมากที่สุดในบรรดาอาการซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือนทั้งหมด


มนุษย์เมนส์ทั่วไปต่างกับ PMDD อย่างไร?

คุณอาจจะเคยเจอมนุษย์เมนส์ที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษในช่วงที่เมนส์ใกล้จะมา น้ำตาไหลกับเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น ร้านที่อยากกินมันดันปิดวันนี้พอดี ซึ่งผู้หญิงที่มีอาการก่อนมีประจำเดือนไม่รุนแรงมักจะเป็นกลุ่มของคนที่มีอาการที่เรียกว่า “premenstrual syndrome (PMS)” ซึ่งความแตกต่างระหว่าง PMS และ PMDD ก็คือระดับความของรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 7-10 วันก่อนที่ประจำเดือนจะมา โดยทั้ง PMS และ PMDD ต่างก็ส่งผลให้มีอาการทางกายที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ท้องอืด คัดตึงเต้านม อ่อนเพลีย ความอยากอาหารและการนอนหลับมีการเปลี่ยนแปลง แต่คนที่มีอาการ PMDD จะได้รับผลกระทบทางด้านอารมณ์ในระดับที่รุนแรงมากกว่าเนื่องจากอารมณ์ที่เกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนจะมีความเข้มข้นที่มากกว่า ได้แก่

- รู้สึกเศร้าและสิ้นหวัง

- วิตกกังวลและตึงเครียด

- อารมณ์แปรปรวนเป็นอย่างมาก

- หงุดหงิดอย่างเห็นได้ชัดหรือเกรี้ยวกราด

ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการ PMS และ PMDD ก็คือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ระบบสารรับรู้ในเรื่องของอารมณ์ตอบสนองผิดปกติต่อฮอร์โมนเพศที่เปลี่ยนเปลง โดยปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสในการเกิด PMDD ได้แก่ มีคนในครอบครัว(เพศหญิง) เป็นโรคนี้ และการมีพื้นอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี


อาการ PMDD และความคิดฆ่าตัวตาย

จากข้อมูลที่ผู้เขียนได้ค้นคว้าพบว่าอาการ PMDD สามารถทำให้เกิดความคิดฆ่าตัวตายได้ โดยจากบทความเกี่ยวกับผู้หญิงในประเทศแคนาดา พบว่า มีผู้หญิง 3-8% หรือคิดเป็นจำนวนคนได้เท่ากับ 360,053 คนของผู้หญิงในประเทศแคนาดาที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น PMDD โดยในจำนวนนั้นจะมี 15% หรือคิดเป็นจำนวนคนได้เท่ากับ 54,007 คนที่ฆ่าตัวตาย (ต่อปี) นอกจากนั้น ในบทความที่เขียนโดยแพทย์ที่มีชื่อว่า Ruta Nonacs ได้กล่าวถึงงานวิจัยชื่อ “Suicidality in patients with premenstrual dysphoric disorder-A systematic review and meta-analysis.” ในปี ค.ศ. 2021 โดย Yan H และคณะ ซึ่งสรุปผลของงานวิจัยชิ้นนี้พบว่าผู้หญิงที่เข้าร่วมการวิจัยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น PMDD มีความคิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้นในช่วงก่อนที่จะมีประจำเดือน และยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่มีชื่อว่า “Prevalence and correlates of current suicidal ideation in women with premenstrual dysphoric disorder” เผยแพร่ในปี ค.ศ. 2022 โดย Anna Wikman และคณะ ซึ่งสรุปผลของงานวิจัยชิ้นนี้พบว่าผู้หญิงที่เข้าร่วมการวิจัยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็น PMDD มีความคิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้นซึ่งตรงกับช่วงท้ายในวงจรการทำงานของรังไข่ (late luteal phase) 


แม้ว่าการวิจัยแต่ละชิ้นจะมีข้อจำกัดที่อาจส่งผลให้การสรุปผลข้อมูลมีความคลาดเคลื่อนหรือไม่สามารถที่จะอ้างอิงผลการวิจัยไปใช้กับผู้หญิงทุกคนได้ แต่ผู้เขียนก็เห็นตรงกันกับผู้วิจัยในส่วนที่มองว่าอาการ PMDD เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความคิดฆ่าตัวตายที่ก็มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งลงมือสำเร็จไปแล้ว นั่นหมายความว่าสังคมควรเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับอาการก่อนมีประจำเดือน รวมถึงควรมีการสนับสนุนให้ผู้หญิงที่มีอาการ PMDD ได้รับการประเมินความเสี่ยงฆ่าตัวตายและสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีเมื่อมีความคิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้น 


การรักษาอาการ PMDD 

ด้วยอาการ PMDD มีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยทางร่างกายจึงควรได้รับการประเมินวินิจฉัยอาการจากแพทย์เพื่อให้แพทย์พิจารณาว่ามีอาการมากน้อยอย่างไรและควรใช้ยาประเภทใดในการรักษาอาการ ซึ่งหากมีอาการไม่มากแพทย์อาจจะแนะนำให้ปรับพฤติกรรมของตนเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลอาหารการกิน หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ฝึกการผ่อนคลายด้วยเทคนิคต่าง ๆ รวมไปถึงการเข้ารับบริการทำจิตบำบัดจากนักจิตบำบัด

นอกจากวิธีรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันดังที่กล่าวไปแล้ว ในบทความจากเว็บไซต์ Mayo Clinic เขียนโดย Tatnai Burnett, M.D. ยังได้กล่าวถึงการใช้สมุนไพรในการบรรเทาอาการ PMDD ซึ่งก็สามารถนำมาใช้เป็นทางเลือกได้ เช่น เชสต์เบอร์รี่ (Chasteberry) อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้สมุนไพรจะต้องพิจารณาถึงมาตรฐานด้วยว่าสมุนไพรดังกล่าวผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาหรือไม่ 


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong


 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

[1] Prevalence and correlates of current suicidal ideation in women with premenstrual dysphoric disorder. Retrieved from https://bmcwomenshealth.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12905-022-01612-5

[2] Are Women with PMDD at Increased Risk for Suicidality? Retrieved from. https://womensmentalhealth.org/posts/pmdd-suicidality/

[3] What's the difference between premenstrual dysphoric disorder (PMDD) and premenstrual syndrome (PMS)? How is PMDD treated? Retrieved from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/premenstrual-syndrome/expert-answers/pmdd/faq-20058315

[4] "หงุดหงิดซึมเศร้า” อาการก่อนมีประจำเดือนที่คุณผู้หญิงควรเข้าใจ. Retrieved from. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/%E0%B8%AB%E0%B8%87%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%8B%E0%B8%B6%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2-%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2/

[5] How a hindering premenstrual disorder, PMDD, is a ‘monthly hell’ for Canadian women. Retrieved from https://calgaryjournal.ca/2018/11/19/how-a-hindering-premenstrual-disorder-pmdd-is-a-monthly-hell-for-canadian-women/



 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด

iSTRONG ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต Solutions ด้านสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง รวมถึงบทความจิตวิทยา

© 2016-2024 Actualiz Co.,Ltd. All rights reserved.

contact@istrong.co                     Call 02-0268949

  • Facebook Social Icon
  • YouTube Social  Icon
  • Instagram
  • Twitter
bottom of page