4 วิธีสังเกตว่าเราเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) หรือไม่
เคยสงสัยมั้ยคะว่าที่เราชอบทำพฤติกรรมเดิมซ้ำ ๆ ไม่ว่าจะล้างมือย้ำ ๆ ขัดถูกตัวเวลาอาบน้ำนานๆ ที่เราทำแบบนี้เพราะเราเป็นคนมีระเบียบ หรือเรากำลังป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำกันแน่
โรคย้ำคิดย้ำทำมันคืออะไรกัน?
คุณผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่าเจ้าโรคยำคิดย้ำทำมันคืออะไรกันนะ? จากหลักการจิตวิทยาบอกไว้ว่า โรคย้ำคิดย้ำทำเป็นโรคทางจิตเวชโรคหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากความเครียด ความวิตกกังวลค่ะ แล้วอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำมันเป็นยังไง? จะเหมือนโรคฮิตติดหูอย่างโรคซึมเศร้า หรือโรคไบโพลาร์หรือเปล่า มาดูกันค่ะ
โรคย้ำคิดย้ำทำ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Obsessive – Compulsive Disorder หรือในทางจิตวิทยานิยมเรียกชื่อของโรคนี้ ว่า OCD ค่ะ ซึ่งโรคย้ำคิดย้ำทำนี้ จะมีอาการเด่น ๆ 2 อาการ ก็คือ
1.อาการย้ำคิด (Obsession)
อาการนี้จะแสดงออกเด่นในเรื่องการคิดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ วนไปไม่จบค่ะ คิดแล้วคิดอีก คิดแบบหาเหตุผลไม่ได้ แล้วก็หยุดตัวเองไม่ให้คิดก็ไม่ได้อีก ซึ่งจะทำให้คนที่ป่วยเป็นโรคนี้เครียด ไม่สบายใจ เป็นทุกข์กับความคิดที่หยุดไม่ได้ของตัวเอง
2.อาการย้ำทำ (Compulsion)
เมื่อคิดซ้ำ ๆ ก็เลยลงมือทำมันจริง ๆ เสียเลย คนที่ป่วยด้วยโรคย้ำคิดย้ำทำจะทำอะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ ทำบ่อยจนรอบข้างเห็นชัดว่าแบบนี้มันไม่ปกติ เช่น ถ้ามีความคิดว่าโจรจะขึ้นบ้าน คนป่วยก็จะเช็คประตู หน้าต่างทั้งบ้านอยู่แบบนั้นทั้งวันเลยค่ะ ประตูล็อครึยัง หน้าต่างลงกลอนรึยัง จะเป็นแบบนี้วนไปจนกว่าจะหมดแรงหลับไปเองค่ะ
และก็เช่นเดียวกับผู้ป่วยด้วยโรคจิตเวชอื่น ๆ ค่ะ ที่ผู้ป่วยจะบอกว่าฉันปกติดี ไม่เป็นอะไรหรอก แม้จะล้างมือเป็นเวลา 3 ชั่วโมง เขาก็จะบอกว่าตัวเองปกติค่ะ ซึ่งนักจิตวิทยาจะได้รับเคสผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำมาจากหมออีกที เพราะคนป่วยเหล่านี้มักจะได้รับบาดเจ็บจากอาการย้ำทำของเขา และไปหาหมอทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นมือถลอกจากการล้างมือเป็นเวลานาน ผิวหนังเปื่อยจากการแช่น้ำเป็นเวลานาน เป็นต้น
แค่ไหนกันที่เป็นเส้นกั้นของความมีระเบียบกับโรคย้ำคิดย้ำทำ
เส้นบาง ๆ ที่กั้นระหว่างความมีระเบียบกับโรคย้ำคิดย้ำทำ ก็คือ สิ่งที่คนรอบข้างสะท้อนกลับมาหาเราค่ะ ถ้าเราเป็นคนมีระเบียบ จนถึงระเบียบจัดเข้าขั้น Perfectionism คนรอบข้างจะบอกเองว่าเรา “เยอะ” หรือแสดงออกไปในเชิงรำคาญกับความเจ้าระเบียบของเรา นึกภาพประมาณเราเบื่อแม่เวลาโดนแม่บ่นเรื่องเดิมนั่นละค่ะ
แต่ถ้าเราป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ คนรอบข้างจะแสดงออกไปในทางกังวล คอยจับตาดูเราทุกฝีก้าว คอยแอบบันทึกพฤติกรรมเรา พยายามเกลี่ยกล่อมเราให้ไปหาจิตแพทย์บ้าง จะพาไปหานักจิตวิทยาบ้าง จริง ๆ แล้ว ถ้าคนที่เราสนิท ๆ ด้วยเริ่มเอ่ยปากให้เราไปหาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา เราก็ควรเชื่อเขาบ้างนะคะ เพราะแสดงว่าเรามีอะไรบางอย่างที่เริ่มไม่ปกติแล้วละ
สังเกตตัวเองยังไง ว่าเรากำลังป่วยด้วยโรคย้ำคิดย้ำทำอยู่หรือไม่
ตามตำราจิตเวชได้บอกข้อสังเกตไว้ 4 ข้อ ตามนี้ค่ะ
1.คิดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ วนไปวนมา แบบหาเหตุผลที่ทำให้คิดไม่ได้ ประมาณว่าจู่ ๆ มันก็อยู่ในหัว แล้วเราก็หยุดคิดถึงมันไม่ได้ และเราก็ไม่สบายใจ ทุกข์ใจกับความคิดที่อยู่ในหัวอย่างมาก
2.ทำเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เพื่อหยุดความคิดในหัว ไม่ว่าจะล้างมือแล้วล้างมืออีก แม้จะผ่านไปเป็นชั่วโมงก็ไม่หยุดล้าง เพราะในหัวคิดว่ามือเรามีเชื้อโรค เราไปจับเชื้อโรคมา ก็เลยต้องล้างไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสบายใจ (ซึ่งจุดที่สบายใจของผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำนั้นหายากเหลือเกิน)
3.อาการทั้งย้ำคิดและย้ำทำเริ่มมีผลเสียกับชีวิต ที่แน่ๆ อย่างแรกเลยคือเสียเวลา ต่อมาคือเสียสุขภาพกาย เสียสุขภาพจิต และลามไปถึงทำให้คนรอบข้างเสียความรู้สึก จนถึงทำให้เสียความสัมพันธ์ที่ดีไป
4.โรคย้ำคิดย้ำทำ จะไม่จำกัดอยู่แค่ความคิดหรือพฤติกรรมเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผู้ป่วยจะไม่ได้คิดแต่เรื่องกลัวเชื้อโรคแล้วล้างมือ แต่จะมีความคิดเป็นธีมเรื่องกลัวความสกปรก ทำให้มีพฤติกรรมที่ทำยังไงก็ได้ที่จะทำให้ตัวเองสะอาด ไม่ว่าจะล้างทุกอย่างในบ้าน เช็ดพื้นซ้ำ ๆ ล้างมือเป็นชั่วโมง อาบน้ำทั้งวัน หรือแปรงฟันจนเลือดออก แบบนี้เป็นต้นค่ะ
เราจะหยุดโรคย้ำคิดย้ำทำได้ยังไง?
เพราะโรคทางจิตเวช เป็นโรคที่ไม่สามารถหายเองได้ วิธีที่ดีที่สุดคือการไปพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเพื่อประเมินอากรและให้คำแนะนำอย่างถูกวิธี แต่ถ้าแต่ถ้าใครยังไม่สะดวกไปพบทันที ผู้เขียนซึ่งเคยเป็นนักจิตวิทยามาก่อน ขอแนะนำขั้นตอนการเตรียมตัวดังนี้ค่ะ
1.ยอมรับให้ได้ก่อนค่ะว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ
เข้าใจดีค่ะว่าเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะยอมรับว่าเรากำลังป่วยเป็นโรคจิตเวช แต่ก็นั่นละค่ะ โรคจิตเวชไม่ใช่หวัดที่มันจะหายเองได้ ยอมรับแล้วไปหาหมอค่ะ เพื่อตัวเองและคนรอบข้าง
2.เมื่อยอมรับได้แล้ว ก็ไปหาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา
ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา จิตแพทย์ นักจิตบำบัด ล้วนแล้วแต่พร้อมให้ความช่วยเหลือเราอยู่เสมอ แต่ถ้าท่านได้ต้องการเคล็ดลับการจูงใจ ให้ผู้ป่วยจิตเวชไปพบแพทย์เพิ่มเติมสามารถอ่านได้ในบทความจิตวิทยา “5 เคล็ดลับจูงใจให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้ารับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยา”
3.ทำตามที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำอย่างเคร่งครัด
ไม่ว่าจะเป็นกินยาให้ครบตามหมอสั่ง เข้ารับการบำบัดทุกครั้ง แม้ว่าจะใช้เวลาสักหน่อย แต่หากเรารักษาอย่างต่อเนื่องเราจะสามารถหายจากโรคย้ำคิดย้ำทำได้แน่นอนค่ะ
หากท่านใด เริ่มไม่มั่นใจว่าตัวเองเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่ หรือถ้าอยากรักษาแต่ไม่รู้จะเริ่มที่ไหน ติดต่อมาหาพวกเราชาว Istrong ได้นะคะ เรามีนักจิตวิทยาที่พร้อมจะให้คำปรึกษาอยู่เสมอค่ะ
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
อ้างอิง : รัตนา สายพานิชย์ และสุวรรณี พุทธิศรี. กรกฎาคม 2548. จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 173 – 176.
Comments