เสริมความสตรองให้ลูกด้วย EFs ในช่วงปิดเทอมที่ยาวนาน
สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ที่มีลูกในวัยเรียน แต่ไปเรียนไม่ได้เสียทีเพราะเจ้า COVID-19 ดิฉันมีเทคนิคจากนักจิตวิทยาในการเสริมความสตรองให้ลูกรักของคุณตามหลัก EFs มาฝากกันค่ะ
ไหน ๆ หลายท่านก็ต้อง Work from Home ไปพร้อม ๆ กับการดูแลลูกหลานที่ Learn from Home กันอยู่แล้ว และปัญหาใหญ่ที่ทุกบ้านต้องพบเจอ รวมถึงบ้านดิฉันด้วย ก็คือ “ความเบื่อ” ค่ะ เพราะจะออกไปเที่ยวไหนกันก็ทำไม่ได้ ออกไปหาอะไรทานก็ทำไม่ได้ เอาแค่ไปร้านสะดวกซื้อปากซอยอุปกรณ์ยังต้องแน่นเลยค่ะ ถ้าชีวิตการออกนอกบ้านมันยาก และเรามีเวลาอยู่ด้วยกันเหลือเฟือ มาฝึก EFs ให้เด็ก ๆ เพื่อเพิ่มความสตรองในชีวิตกันดีกว่าค่ะ เพราะในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้นั้น วิธีที่จะทำให้ลูกของเราเติบโตขึ้นมาได้อย่างมีความสุข ก็คือ การฝึก EFs ค่ะ
โดยในงานวิจัยทางจิตวิทยา พบว่า EFs หรือ "Executive Functions" คือ ทักษะทางสมอง ที่สามารถทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้ โดยเป็นการพัฒนากระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้าของเรา ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ในการกำกับความคิด ความรู้สึกและการกระทำ เพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดย EFs เป็นทักษะที่สำคัญยิ่งต่อความสำเร็จในการเรียน การงาน การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม การคิดสร้างสรรค์ และการจัดการทุกด้านตลอดชีวิตเลยค่ะ ซึ่งงานวิจัยทางจิตวิทยายังบอกอีกว่า EFs มีองค์ประกอบทั้งสิ้น 9 ด้าน ซึ่งดิฉันจะพาคุณผู้อ่านไปรู้จัก พร้อมทั้งแนะนำวิธีฝึกตามคำแนะนำของนักจิตวิทยา ตามนี้เลยค่ะ
1. Working Memory หรือ ความจำที่นำมาใช้งาน คือ ความสามารถในการเก็บประมวลและดึงข้อมูลที่เก็บในคลังสมองของเราออกมาใช้ตามสถานการณ์ที่ต้องการ สามารถฝึกได้โดยการเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตนเอง ได้มีประสบการณ์ตรงในสิ่งต่าง ๆ เช่น ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการทำอาหารร่วมกันง่าย ๆ เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ ดูสารคดี เล่นเกมตามพัฒนาการของเขา เพียงเท่านี้เราก็สามารถฝึก Working memory ได้ตามที่นักจิตวิทยาแนะนำแล้วค่ะ
2. Inhibitory Control หรือ การยับยั้งชั่งใจ คือ ความสามารถในการควบคุมแรงปรารถนาของตนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จนสามารถหยุดยั้งพฤติกรรมได้ในเวลาที่สมควร สามารถฝึกได้โดยการเบี่ยงเบนความสนใจเวลาที่ลูกอารมณ์ไม่ดี ยกตัวอย่างจากบ้านดิฉันเอง หากเห็นว่าลูกเริ่มหงุดหงิด เริ่มงอแง วิธีที่ใช้ก็คือ ให้ลูกหายใจเข้า หายใจออก พร้อมทำท่าประกอบตามเพลงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ดอกไม้บาน ซึ่งได้ผลดีทีเดียวค่ะ หรือหากในกรณีที่เอาแต่ใจหนัก ๆ งอแงแบบไม่ฟังอะไรแล้ว การ Time Out หรือ แยกตัวออกมาก็ได้ผลดีเช่นกันค่ะ แต่วิธีหลังคุณพ่อ คุณแม่ ต้องใจแข็ง ไม่อุ้ม ไม่โอ๋ หน่อยนะคะ
3. Shift หรือ Cognitive Flexibility คือ ความสามารถในการยืดหยุ่นความคิด เปลี่ยนจุดสนใจ เปลี่ยนโฟกัส หรือ เปลี่ยนทิศทางให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถฝึกได้โดยการปล่อยให้ลูกรู้จักการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แล้วคุณพ่อ คุณแม่ ถอยออกมาเป็นผู้ช่วย หรือพี่เลี้ยงที่คอยแนะนำ สนับสนุนให้เด็ก ๆ ทำอะไรด้วยตัวเองตามวัย เช่น ทานข้าวเอง แต่งตัวเอง อาบน้ำเอง เมื่อเด็ก ๆ ได้ลงมือทำสิ่งต่าง ๆ เอง ได้เจอปัญหา และแก้ปัญหาด้วยตัวเองบ่อย ๆ ทักษะการคิดยืดหยุ่นก็จะพัฒนาได้ดีค่ะ
4. Focus / Attention คือ ความสามารถในการใส่ใจ กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ โดยไม่วอกแวกไปตามปัจจัย ไม่ว่าภายนอกหรือภายในตนเองที่เข้ามารบกวน สามารถฝึกได้โดยการสนับสนุนให้เด็กทำงานศิลปะ งานประดิษฐ์ ดนตรี และการอ่านหนังสือค่ะ เพราะกิจกรรมที่ว่ามานั้นเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความสงบ ใช้สมาธิ ใช้ความจดจ่อ และการอยู่กับตนเองค่อนข้างมาก หากคุณผู้อ่านสามารถให้น้อง ๆ ทำกิจกรรมได้นาน ก็ยิ่งฝึกสมาธิได้ดีค่ะ
5. Emotional Control คือ การควบคุมอารมณ์ คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จัดการกับความเครียด หงุดหงิด และแสดงออกแบบที่ไม่รบกวนผู้อื่น นักจิตวิทยาแนะนำว่า การฝึกควบคุมอารมณ์ที่ดีต้องมีการสอนให้เด็ก ๆ รู้จักอารมณ์ของตัวเองเสียก่อน ซึ่งในยุคนี้มีตัวช่วยมากมายในการเรียนรู้อารมณ์ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนิทาน สมุดภาพ ตุ๊กตา สื่อการสอนต่าง ๆ ที่จะช่วยให้คุณผู้อ่าน คุณพ่อ คุณแม่ สอนให้เด็ก ๆ รู้จักว่าอารมณ์ต่าง ๆ เป็นอย่างไร และเมื่อได้รู้จักอารมณ์กันแล้ว เราก็สามารถฝึกการควบคุมอารมณ์ได้โดยการควบคุมลมหายใจ การเรียนรู้ที่จะผ่อนคลาย หรือระบายความรู้สึกด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การเบี่ยงเบนพลังงานไปออกกำลังกายเมื่อมีอารมณ์โกรธ การพูดคุย เล่าเรื่องต่าง ๆ เมื่อรู้สึกเศร้า เป็นต้น
6. Planning and Organizing คือ การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ เริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย การเห็นภาพรวม จัดลำดับความสำคัญ จัดระบบโครงสร้าง จนถึงการดำเนินการ สามารถฝึกได้โดยการสนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมที่ต้องใช้ทักษะการวางแผน เช่น การต่อจิ๊กซอว์ การต่อบล็อกไม้ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ฝึกการวางแผน การจัดลำดับการดำเนินการ การมองในองค์รวม
7. Self -Monitoring คือ การตรวจสอบตนเอง รู้จักตนเอง รวมถึงการตรวจสอบการทำงานเพื่อหาจุดบกพร่อง ประเมินการบรรลุเป้าหมาย รวมทั้งความสามารถกำกับติดตามปฏิกิริยาของตนเอง และดูผลจากพฤติกรรมของตนเองที่กระทบต่อผู้อื่น สามารถฝึกได้โดยการชักชวนให้เด็ก ๆ พิจารณาผลงานของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็น งานต่อบล็อกไม้ งานศิลปะ งานประดิษฐ์ หรือการทำการบ้าน โดยชี้ชวนให้เด็ก ๆ เห็นข้อดี และจุดที่สามารถพัฒนาได้ พร้อมทั้งแนะนำวิธีพัฒนาตัวเอง เช่น นี่เห็นไหมลูก ลูกระบายสีสดใสมากเลย แต่มันออกนอกกรอบนิดหน่อย ไม่เป็นไรนะ รูปหน้าเรามาระบายกันใหม่ ถ้ามือลูกนิ่ง หรือมีสมาธิมากขึ้น ต้องไม่หลุดนอกกรอบแน่เลย เป็นต้น
8. Initiating คือ ความสามารถในการริเริ่ม และลงมือทำงานตามที่คิดมีทักษะในการริเริ่ม สร้างสรรค์แนวทางในการทำสิ่งต่าง ๆ เมื่อคิดแล้วก็ลงมือทำให้ความคิดของตนปรากฏขึ้นจริง สามารถฝึกได้โดยการเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และรับฟังสิ่งที่เด็กพูดอย่างใส่ใจ รวมถึงให้อิสระแก่เด็ก ๆ ในการได้เลือกของใช้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายมากค่ะ แต่ได้ผลดีอย่างมากในระยะยาวเลยค่ะ
9. Goal-Directed Persistence คือ ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย เมื่อตั้งใจและลงมือทำสิ่งใดแล้ว ก็มีความมุ่งมั่นอดทน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใด ๆ ก็พร้อมฝ่าฟันจนถึงความสำเร็จ สามารถฝึกได้โดยการสนับสนุนให้เด็ก ๆ เล่นกีฬา หรือดนตรีค่ะ โดยอาจลงสนามแข่งบ้างตามสมควร เพราะการที่เด็ก ๆได้แข่งขัน ได้ไปอยู่ในบรรยากาศที่ทุกคนมีความมุ่งมัน จะทำให้มีไฟ มีความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จ ถึงแม้ผลการแข่งจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ได้กลับมาแน่นอนคือความมุ่งมั่นค่ะ
บทความแนะนำ “เคล็ดไม่ลับในการส่งเสริมทักษะพัฒนาสมองให้ลูก”
การฝึก EFs ให้ได้ผลสำเร็จนั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่ “ความใส่ใจ” และ “ความสม่ำเสมอ” ค่ะ การปลูกต้นไม้ต้องใช้เวลาและการใส่ใจฉันใด การเลี้ยงดูเด็ก ๆ ให้เติบโตขึ้นมาสวยงามต้องใช้เวลาและความใส่ใจเช่นเดียวกันค่ะ หากคุณมีเรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลเด็ก ๆ หรือมีข้อสงสัยอื่นๆ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ iSTRONG นะคะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 5 ปี
Comments