ต้องอ่าน! 9 สัญญาณบ่งบอกว่าคนใกล้ตัวคุณกำลังถูกคุกคามทางเพศ
การคุกคามทางเพศ หรือ Sexual Harassment กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งในบ้านเรา จากกรณีรองหัวหน้าพรรค ๆ หนึ่งถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ โดยมีผู้เสียหายในตอนนี้มากถึง 15 คน หรือจากกรณีที่ไรเดอร์หนุ่ม ที่ออกมาให้ข้อมูลว่าถูกคุกคามทางเพศจากลูกค้า หรือจากกรณีใด ๆ ก็ตาม ที่ทำให้เรารับรู้ว่ามีประเด็นคุกคามทางเพศเกิดขึ้นไม่เว้นวัน นั่นแสดงให้เห็นว่าการคุกคามทางเพศนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน นอกจากนี้แล้วการคุกคามทางเพศยังเป็นประเด็นละเอียดอ่อนอย่างมากเพราะผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักไม่เอาเรื่อง ไม่แม้แต่จะบอกใคร เพราะกลัว เพราะอาย เพราะไม่อยากไปนึกถึง แล้วความรู้สึกทางลบทั้งหลายก็กัดกินจิตใจของพวกเขาจนกร่อน และเป็นแผลทางใจเรื้อรัง
จากข้อมูลสถิติผู้ร้องเรียนเรื่องถูกคุกคามทางเพศ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า จำนวนผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศที่มาร้องเรียนอยู่ที่ปีละ 30,000 คน ทางด้านรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่า 87% ของคดีคุกคามทางเพศไม่ถูกรายงาน และจากสถิติเด็กที่ถูกคุกคามทางเพศ โดยมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี จังหวัดปทุมธานี พบว่า ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2563 – 25 ธันวาคม 2563 มีจำนวนถึง 10,147 ราย หรือเฉลี่ย 28 ราย/วัน เลยทีเดียว
และในมุมมองของผู้ให้ความช่วยเหลือของผู้ถูกกระทำจากการคุกคามทางเพศ ดังเช่นครูแคท หรือเนตรปรียา ชุมไชโย นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาชื่อดัง เคยให้สัมภาษณ์กับ Voice TV เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 ไว้ว่า “หัวใจของเด็กคงแตกสลาย เด็กคงถูกขู่จากคนร้ายด้วย พอถูกขู่มาแล้วเด็กรู้สึกว่า หาที่พึ่งไม่ได้เด็กก็จะเก็บกดไว้เอง” สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ที่ว่า “ปัญหาของการช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อที่ยากที่สุด คือขั้นตอนการสอบถามความจริงจากเด็ก ซึ่งมีความหวาดกลัวและรู้สึกผิดกับครอบครัว หากคนในครอบครัวที่เด็กไว้ใจกลับเป็นผู้ละเมิดเสียเอง”
ดังนั้นแล้ว จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศ จะไม่บอกใคร เราจึงต้องใช้การสังเกตเพื่อว่าหากคนใกล้ตัวของเราถูกคุกคามทางเพศ เราจะได้ให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันที ซึ่งดิฉันก็ได้รวบรวม 9 สัญญาณบ่งบอกว่าคนใกล้ตัวคุณกำลังถูกคุกคามทางเพศ ที่นักจิตวิทยาแนะนำมาฝากกันค่ะ
1. ร่างกายมีบาดแผลผิดปกติ
หากคนใกล้ตัวของคุณผู้อ่านอยู่ ๆ ก็เปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวมาเป็นใส่เสื้อผ้ามิดชิดแม้ในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว หรือมีบาดแผลที่ผิดปกติ เช่น บาดแผลที่ต้นขา บาดแผลที่หลัง บาดแผลที่ข้อมือเมื่อสอบถามแล้วบ่ายเบี่ยงที่จะบอกเราว่าได้บาดแผลมาอย่างไร ขอให้คุณผู้อ่านเฝ้าสังเกต หรือพยายามอยู่เป็นเพื่อนเขา เพื่อให้เขาสบายใจ เมื่อเขาสบายใจเขาจะกล้าบอกเรื่องที่เป็นปัญหาของเขา และให้เรารีบช่วยเหลือต่อไปค่ะ
2. เหม่อลอย ซึม พูดน้อย ตกใจง่าย
เมื่อสังเกตเห็นว่าคนใกล้ตัวพูดน้อยลงมาก ทักทายไปก็ไม่ตอบ ถามคำก็แทบจะไม่ตอบซักคำ เหม่อลอย ซึม ร้องไห้บ่อยแบบไม่รู้สาเหตุ ขวัญอ่อน ตกใจง่าย กลัวเสียงดัง หรือมีท่าทีหวาดระแวง นั่นเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกว่าคนใกล้ตัวของคุณผู้อ่านกำลังมีบาดแผลทางใจค่ะ หากพบจังหวะดี ๆ ลองชวนเขามาพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเพื่อรับความช่วยเหลือนะคะ เราจะได้หาสาเหตุจริง ๆ ของปัญหา และเร่งแก้ไขโดยเร็วนั้นเองค่ะ
3. มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป
จากเดิมที่เป็นคนเรียบร้อย ก็กลายเป็นคนก้าวร้าว หยาบคาย หรือจากเดิมเป็นคนร่าเริง ก็เปลี่ยนไปเป็นคนเก็บตัว ไม่พูดไม่จา ไม่เข้าสังคม ไม่แม้แต่จะพูดคุยกับคนในบ้าน หรือจากเดิมที่เงียบขรึมอยู่แล้ว ก็ดูตึงเครียดขึ้นไปอีก หากคนใกล้ตัวของคุณผู้อ่านมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเช่นนี้แล้ว นั่นเป็นสัญญาณบอกว่าเขากำลังประสบปัญหา และต้องการความช่วยเหลืออยู่ค่ะ
4. เก็บตัว ไม่เข้าสังคม
หากสังเกตว่าคนใกล้ตัวของคุณผู้อ่านเอาแต่ขังตัวเองอยู่ในห้อง ออกมาจากห้องเท่าที่จำเป็น และเขาไม่ได้เป็นผู้ป่วย Covid – 19 นั่นเป็นสัญญาณบอกว่าเขากำลังมีปัญหาค่ะ ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งปัญหาทางจิตใจ หรือปัญหาทางสังคมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนรอบตัว หรือถูกทำร้ายร่างกาย หรือจิตใจมาค่ะ
5. กลัวที่จะออกจากบ้าน
ในกรณีที่ถูกคุกคามทางเพศจากคนโรงเรียน หรือสถานที่ทำงาน หรือนอกบ้าน ผู้ที่ถูกคุกคามมักจะหวาดกลัวต่อการออกนอกบ้าน เพราะบ้าน คือ Safe Zone ของเขา การออกนอกบ้านทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย และมีโอกาสสูงที่จะถูกกระทำซ้ำอีก ดังนั้นแล้วหากคนใกล้ตัวของคุณผู้อ่านไม่ยอมออกจากบ้าน หวาดกลัวการไปโรงเรียน หรือหวาดกลัวการไปที่ทำงาน นั่นเป็นสัญญาณว่าเขาถูกทำร้ายมาค่ะ
6. มีการนอนผิดปกติ การรับประทานผิดปกติ
คนที่มีบาดแผลทางจิตใจ ข้อสังเกตหนึ่งที่เราสามารถรู้ได้ ก็คือ ผู้นั้นมักจะมีการนอนที่ผิดปกติ เช่น นอนไม่หลับ ฝันร้าย หลับไม่สนิท ตื่นง่าย สะดุ้ง/ตกใจ/ผวา ขณะหลับ เดินละเมอ ละเมอพูดแปลก ๆ เป็นต้น หรือมีพฤติกรรมการรับประทานที่ผิดปกติ เช่น ทานน้อยลงมาก ไม่ทานอาหาร เบื่ออาหาร ทานมากกว่าเดิม ทานสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือชีวิต เป็นต้น นั่นกำลังบอกเราว่าเขามีปัญหาทางใจที่ต้องการรับความช่วยเหลือค่ะ
7. มีอาการเจ็บป่วยที่ผิดปกติ
เช่น ไม่มีแรงขยับตัว ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ อาเจียนบ่อย ปวดศีรษะ เป็นลมหมดสติบ่อยครั้ง หวาดกลัวต่อบางสิ่งบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเสียงดัง เงาดำ วัตถุบางอย่าง หรือ เห็นภาพหลอน หูแว่ว เป็นต้น หากคนใกล้ตัวของคุณผู้อ่านมีอาการเจ็บป่วยที่ผิดปกติเช่นนี้ นอกจากจะพาเข้าพบแพทย์แล้ว ขอให้เข้าพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเพื่อเยียวยารักษาจิตใจอีกทางหนึ่งด้วยนะคะ
8. กลัวที่จะอยู่ตามลำพัง
หากคนใกล้ตัวของคุณผู้อ่านอยู่ ๆ ก็ไม่สามารถอยู่บ้านได้ตามลำพัง หรือไม่สามารถออกจากบ้านไปไหนมาไหนคนเดียวได้ นั่นอาจเป็นเพราะเขาเคบยถูกทำร้ายขณะอยู่คนเดียวมาก่อนขอให้อยู่เป็นเพื่อนเขา คอยดูแลใกล้ชิด เพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัยมากขึ้นค่ะ
9. ไม่กลับบ้าน หนีออกจากบ้าน
ในกรณีที่การคุกคามเกิดขึ้นที่บ้าน ผู้ที่ถูกคุกคามมักจะแสดงออกโดยไม่กลับบ้าน ไปค้างที่บ้านเพื่อน หรือออกไปอยู่ตามลำพัง หลบหน้าคนในบ้าน ติดต่อคนในบ้านน้อยลงอย่างสังเกตเห็นได้ชัดเจน กลับเข้าบ้านน้อยมาก หากคุณผู้อ่านสังเกตว่ามีสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ ๆ ก็ออกไปอยู่ที่อื่น หรือหายหน้าหายตาไป ขอให้รีบติดต่อเขาอย่างเป็นส่วนตัว เพื่อค้นหาความผิดปกติ และให้การช่วยเหลือโดยด่วนนะคะ
การคุกคามทางเพศ เป็นการทำร้ายทั้งร่างกาย จิตใจ ความรู้สึก และกัดกินลึกถึงจิตวิญญาณ ทำให้ผู้ถูกกระทำหลายคนต้องมีชีวิตที่บิดเบี้ยวไปดังเช่นกรณีดังระดับโลกของ Brendan Fraser พระเอกภาพยนตร์เรื่องมัมมี่ ที่เคยโด่งดังอย่างมาก ต้องมาเสียหน้าที่การงานเพราะการถูกคุกคามทางเพศจากผู้อดีตประธานสมาพันธ์สื่อฮอลลีวูด (Hollywood Foreign Press Association) หรือกรณีของ Jeni Haynes หญิงชาวออสเตรเลีย ผู้ถูกพ่อแท้ ๆ ทำร้ายทางเพศจนมีอาการทางจิตเวชด้วยโรคหลายบุคลิก หรือ Multiple Personality Disorder (MPD) หรือ Dissociative Identity Disorder (DID) ดังนั้นจึงขอฝาก 9 ข้อสังเกตข้างต้นไว้ เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ช่วยเหลือผู้ถูกกระทำต่อไปนะคะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
[1] นักจิตวิทยาแนะนำ เลี้ยงลูกอย่างไรให้ปลอดภัยจากการถูกคุกคามทางเพศ(https://www.istrong.co/single-post/recommended-psychologist-how-to-keep-your-child-safe-from-sexual-harassment)
[2] นักจิตวิทยาเด็กแนะนำ 8 วิธีจับสังเกตเมื่อเด็กเล็กถูกทำร้าย(https://www.istrong.co/single-post/hurt-children)
[3] 5 วิธีเยียวยาจิตใจเบื้องต้นตามหลักจิตวิทยา เมื่อลูกถูกทำร้าย(https://www.istrong.co/single-post/howto-when-the-child-is-abused)
อ้างอิง :
[1] ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์. 27 ตุลาคม 2564. การล่วงละเมิดเด็ก : สถิติน่าห่วง วิธีแก้ปัญหา ช่องทางขอความช่วยเหลือ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2565 จาก https://www.prachachat.net/general/news-789933
[2] TCUJ Thai. 8 มีนาคม 2565. เปิดสถิติหญิงไทยถูกละเมิดทางเพศ-กระทำรุนแรง มากกว่า 7 คน/วัน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2565 จาก https://www.tcijthai.com/news/2022/3/current/12248
[3] Voice TV. 5 กันยายน 2560. นักจิตวิทยาแนะวิธีเยียวยาหัวใจอันล่มสลายของเด็กที่ถูกข่มขืน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2565 จาก https://www.voicetv.co.th/read/521533
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ในการนำศาสตร์จิตวิทยามาใช้ในการดูแลครอบครัว มากว่า 6 ปี อีกทั้งยังประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต และมีความสุขกับการเขียนบทความจิตวิทยา
Comments