top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

9 เทคนิคการพูดโน้มน้าวใจ เทคนิคจิตวิทยาพูดอย่างไรให้ซื้อใจคนฟัง


ในยุคสมัยนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยค่ะว่า ใครที่มีเทคนิคการพูดที่เฉียบกว่า คมกว่า แพรวพราวกว่า ก็มักจะซื้อใจคนฟังได้มากกว่า ซึ่งการนำเทคนิคการพูดไปใช้ประโยชน์นี้ สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวัน การนำเสนองาน การขาย หรืองานธุรกิจ โดยในบทความจิตวิทยานี้ จะขอนำเสนอ 9 เทคนิคจิตวิทยาในการโน้มน้าวใจ ต้องพูดอย่างไรให้ซื้อใจคนฟัง เพื่อประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ค่ะ 


  1. เทคนิค Halo Effect

เป็นเทคนิคการพูดที่ใช้หลักจิตวิทยาในการสร้างความประทับใจ เช่น แต่งตัวดูดี มีบุคลิกดี มีมารยาท เวลานำเสนองานพูดจาฉะฉาน ชัดเจน เห็นภาพชัด ใช้ศัพท์เทคนิคน้อย แต่เน้นคำสามัญที่ทุกคนฟังแล้วเข้าใจ ก็จะสร้างเสน่ห์ให้ผู้พูดดูดี และเมื่อเราสร้าง Halo Effect ผ่านการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูดีเช่นนี้ได้แล้ว หลังจากนั้นเมื่อผู้บริหาร หัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ เจอเรา เขาก็มีแนวโน้มที่จะชอบเรา และซื้อไอเดียของเราในอนาคต   

  1. เทคนิค Loss Aversion

เป็นเทคนิคการพูดที่โน้มน้าวใจให้ผู้ฟังตระหนักว่าหากไม่ทำตามแนวคิดเรา หรือถ้าเขาไม่ซื้อไอเดียเรา เขาจะสูญเสียอะไรบ้าง เช่น การนำเสนอข้อมูลเชิงสถิติความน่าจะเป็นว่าหากองค์กรทำตามแนวคิดของเรา องค์กรจะมีผลกำไรเพิ่มขึ้น 50% แต่ถ้าองค์กรไม่ซื้อไอเดียเราก็อาจทำกำไรได้ไม่ถึง 50% และองค์กรคู่แข่งอาจแซงหน้าได้อีกด้วย เป็นต้น เทคนิคจิตวิทยานี้บริษัทประกันนิยมนำมาใช้ในการทำสื่อโฆษณา เพื่อให้เราตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต และความคุ้มค่าของการซื้อประกันคุ้มครองชีวิตนั่นเอง

  1. เทคนิค Social Proof

เป็นแนวคิดการโน้มน้าวใจที่มาจากเทคนิคจิตวิทยาการตลาด ซึ่งกล่าวถึงการที่บุคคลมีแนวโน้มที่จะเลียนแบบพฤติกรรมหรือการตัดสินใจของผู้อื่นเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่ใจหรือไม่มั่นใจ เช่น ในการนำเสนองานแล้วผู้ฟังมีท่าทีลังเล เราสามารถใช้เทคนิค Social Proof โดยการให้คนส่วนใหญ่โหวต เพื่อให้เห็นกระแสนิยม หรือให้ผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ หรือผู้ที่มีอิทธิพลต่อผู้ฟังมาช่วยยืนยันความคิดของเรา เป็นต้น

  1. เทคนิค Confirmation Bias

เป็นเทคนิคการพูดที่ใช้หลักจิตวิทยาที่ว่า คนเรามีแนวโน้มที่จะค้นหา ตีความ และจดจำข้อมูลในลักษณะที่สนับสนุนหรือยืนยันความเชื่อ ความคิดเห็น หรือสมมติฐานของตนเอง และหลีกเลี่ยงข้อมูลที่ขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกับความเชื่อเหล่านั้น ดังนั้นแล้วหากเราต้องการจะขายของ หรือขายไอเดียใด ๆ ก็ตาม เราต้องหาข้อมูลก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายของเรามีความเชื่อแบบไหน และขายไอเดียในทิศทางที่เขาเชื่อค่ะ เช่น หากผู้บริหารมีความเชื่อว่า AI จะมาแทนที่การทำงานของมนุษย์ในอนาคต เราก็ขายไอเดียการผสานการทำงานระหว่างพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญกับ AI เพื่อสร้างนวัตกรรมสำหรับองค์กรเราโดยเฉพาะ เป็นต้น

  1. เทคนิค Scarcity Effect

เป็นเทคนิคโน้มน้าวใจโดยการสร้างมูลค่าของสินค้า ไอเดีย หรือความสามารถของเรา โดยการชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เรากำลังจะนำเสนอนั้นเป็นของหายาก เป็นแรร์ไอเทม เช่น เป็นความสามารถเฉพาะทางที่น้อยคนจะมี หรือเป็นโอกาสที่หากพลาดไปแล้วจะหาโอกาสเช่นนี้ยากมาก หรือผลิตภัณฑ์ชิ้นที่เรานำเสนอจะเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก และองค์กรเราจะเป็นองค์กรแรก ๆ ที่นำเสนอ เป็นต้น  ซึ่งเทคนิค Scarcity Effect จะมีประโยชน์อย่างมากในกรณีที่ต้องการปิดการขายอย่างรวดเร็ว เพราะความกลัวที่จะพลาดของดีจะกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายของเราตัดสินใจซื้อไอเดียเราได้เร็วขึ้นนั่นเองค่ะ

  1. เทคนิค Anchoring Effect

เป็นเทคนิคจิตวิทยาที่กล่าวว่า คนเรามักจะยึดติดอยู่กับชุดข้อมูลเดิมที่เคยเชื่อถือมา เช่น ไม่ว่าจะเจ็บป่วยด้วยอาการอะไรก็ตาม ยาพาราฯจะรักษาได้ทุกโรค หรือความเชื่อที่ว่าการใช้งบประมาณน้อยกว่าที่ได้รับจัดสรรมา เท่ากับว่าเราบริหารงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ซึ่งปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาเช่นนี้จะแก้ไขได้ค่อนข้างยาก เว้นแต่ว่าเราจะมีข้อเสนอใหม่ที่น่าสนใจมากกว่าไปคัดค้าน เช่น ในองค์กรที่ทุกคนยึดมั่นกับนโยบายดั่งเดิมที่ทุกคนต้องเข้างาน 8.30 – 16.30 น. แล้วเราพบว่าพนักงานมีความเครียดสูง เราสามารถเสนอไอเดียใหม่ที่ผู้บริหารและพนักงานเองจะสนใจ ก็คือ เสนอการเหลื่อมเวลาทำงาน โดยการสามารถเข้างานได้หลายช่วงเวลา หรือ Work from Home หรือทำงานจากที่ไหนก็ได้ เพียง Check in Online และส่งงานตาม KPI ที่กำหนด เป็นต้น ซึ่งการทำงานที่ยืดหยุ่น และไม่เสียประสิทธิภาพในการทำงานเช่นนี้ จะดึงดูดให้คนสนใจไอเดียของเราอย่างมากค่ะ   

  1. เทคนิค Goal Gradient Effect

เป็นเทคนิคการสร้างแรงจูงใจ โดยการแสดงให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ว่า “เราเข้าใกล้เป้าหมายแล้วนะ!” โดยการนำเสนอข้อมูลชุดตัวเลข หรือกราฟ หรือคลิปภาพยืนยันว่า องค์กรของเราใกล้จะบรรลุเป้าหมายขององค์กรแล้ว เพียงแต่ทำตามแนวคิดที่เราเสนอ องค์กรก็จะบรรลุผลสำเร็จได้รวดเร็วขึ้น การใช้เทคนิคจิตวิทยาเช่นนี้จะโน้มน้าวใจให้กลุ่มเป้าหมายเกิดแรงฮึด เกิดความรู้สึกร่วมว่าเราต้องมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จ แล้วเขาจะยอมทำตามไอเดียของเราโดยง่ายค่ะ

  1. เทคนิค Mere - Exposure Effect

เป็นเทคนิคการพูดโน้มน้าวใจ โดยการใช้หลักจิตวิทยาในการย้ำข้อความสำคัญ หรือใจความสำคัญค่ะ เช่น ในทุกการนำเสนอเราจะมีภาพที่สื่อถึงไอเดียของเราอยู่บ่อย ๆ หรือใช้สีที่เป็นสัญลักษณ์แทนตัวเรา หรือพูดคำสำคัญ (Key Word) บ่อยครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องเน้นย้ำในระดับที่พอดี ในความถี่ที่เหมาะสม เพราะถ้าย้ำมากไป คนฟังก็จะรำคาญแล้วกลายเป็นไม่ซื้อความคิดเราได้ค่ะ 

  1. เทคนิค Authority Bias

เป็นเทคนิคจิตวิทยาในการใช้อิทธิพลของผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่ากลุ่มเป้าหมาย หรือมีอิทธิพลต่อคนส่วนใหญ่ เช่น การนำเสนอไอเดียโดยการอ้างอิงนโยบายของผู้บริหาร หรืออ้างอิงคำพูด หรือหลักการของผู้ที่มีอิทธิพลต่อผู้บริหาร คำพูดของเราก็จะฟังดูมีน้ำหนัก และสามารถจูงใจคนฟังได้ดีมากขึ้น 


การใช้เทคนิคการพูดโดยอ้างอิงหลักจิตวิทยานั้น หัวใจสำคัญก็คือความจริงใจ และการมีเจตนาที่ดี เพราะถ้าหากเราใช้เทคนิคเหล่านี้โดยมีเจตนาที่ไม่ดี ก็จะสร้างผลเสียในระยะยาวให้แก่เราเอง ดังนั้นแล้วเราต้องใส่ใจและรับผิดชอบในสิ่งที่เราพูดควบคู่กันไปด้วยนะคะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :  ไปให้ถึง 100 ล้าน. (24 มิถุนายน 2566). ทำให้ ลูกค้าเชื่อ ไม่ใช่พูดไปตรง ๆ วิธีทำให้ลูกค้าเชื่อด้วย 9 หลักจิตวิทยา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2567 จาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=1030309355132196&set=a.832719441557856

 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page