top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นักจิตวิทยาเตือน 8 สัญญาณอันตรายที่บอกว่าองค์กรกำลังจะแตกแยก


สุภาษิตไทย เคยมีคำกล่าวที่ว่า “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” หมายความว่า หากอยู่ที่ไหนแล้วไม่มีความสุข เราก็ไม่สามารถอยู่ที่นั้นได้นาน ซึ่งเมื่อนำมาแปลในทางจิตวิทยาองค์กร จะกล่าวได้ว่า หากองค์กรไหนมีความสบายใจ แม้องค์กรจะขนาดเล็ก แต่คนในองค์กรก็ยังมีความผูกพันกับองค์กร ต้องการที่จะอยู่ขับเคลื่อนองค์กรต่อไป ในขณะที่หากมีเหตุคับข้องหมองใจ ต่อให้องค์กรใหญ่ มีชื่อเสียงขนาดไหน ก็ไม่สามารถทนอยู่ด้วยกันได้ 

ซึ่งในปัจจุบันนี้สุภาษิตดังกล่าว ได้มีการแปลงอย่างติดตลกให้เข้ากับยุคสมัย ว่า “คับที่อยู่ได้ ครับนายอยู่รอด” หมายความว่า คนที่เอาอกเอาใจเจ้านายคือผู้ที่จะได้ขึ้นตำแหน่งและอยู่รอดในองค์กร นั่นจึงนำมาซึ่งความแตกแยกในองค์กร และทำให้องค์กรแตกแยกในที่สุด จากผลสำรวจดัชนีความสุขของพนักงาน โดย jobsDB เว็บไซต์หางานชั้นนำของประเทศไทย พบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดองค์กรแตกแยกมากที่สุด คือ ระบบการทำงานขององค์กร ที่มีความล่าช้า ไม่ทันใจ ไม่ทันต่อสถานการณ์ 22.20% รองลงมาเป็นการให้เงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่ไม่ยุติธรรม จ้างหลักร้อยแต่อยากได้งานหลักล้าน 18.50% การขาดตัวตน ขาดความสำคัญในองค์กร ไม่มีสิทธิมีเสียงในองค์กร 16.10% ความสัมพันธ์อันเลวร้ายระหว่างเพื่อนร่วมงาน และหัวหน้างาน 14.60% และสิทธิสวัสดิการที่รู้สึกไม่ดีพอ ไม่พอดีกับแรงกายแรงใจที่ทุ่มให้กับงาน 12.70% 

 

ก่อนที่จะไปถึงจุดที่องค์กรแตกแยก ในบทความจิตวิทยานี้ ดิฉันจึงได้นำข้อเสนอแนะของนักจิตวิทยาองค์กร เกี่ยวกับ 8 สัญญาณอันตรายที่บอกว่าองค์กรกำลังจะแตกแยก มาฝากกัน ดังนี้ค่ะ

  1. มีความวิตกกังวลในการแสดงความคิดเห็นในองค์กร

เมื่อพนักงานในองค์กรเกิดความรู้สึกกลัวหรือกังวลเมื่อต้องแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม หรือต่อหน้าหัวหน้างาน หรือแม้แต่กับเพื่อนร่วมงานก็ตาม นั่นเป็นสัญญาณอันตรายว่า มีการไม่ยอมรับกันเกิดขึ้นในองค์กร หรือมีการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมในองค์กร ส่งผลให้พนักงานผู้น้อยไม่สามารถส่งเสียง หรือแสดงความคิดเห็นในองค์กรได้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะ Burnout การสูญเสียพนักงานองค์กรที่มีคุณค่า และยังทำให้องค์กรแตกแยกในอนาคตได้อีกด้วย  

  1. กล่าวโทษกันไปมาไม่รู้จบ

หากองค์กรใดเกิดสถานการณ์ที่พนักงานในองค์กรมีพฤติกรรมกล่าวโทษกันไปมา หรือเมื่อเกิดเหตุผิดพลาดใด ๆ ขึ้นมา ก็มีการหาเจ้าภาพ โดยการโทษว่าคนนั้นทำ คนนี้ทำ หรือต่อให้เป็นงานที่ตัวเองทำก็มีการปัดความรับผิดชอบเสียดื้อ ๆ และกล่าวโทษไปถึงสภาพแวดล้อมในองค์กร หรือนโยบายขององค์กร ทั้งนี้ การกล่าวโทษกันไปมานั้นเป็นสัญญาณบอกว่าองค์กรกำลังมีความกดดันอย่างสูงเกินกว่าที่พนักงานในองค์กรจะรับไหว  

  1. จับกลุ่มเม้าฉ่ำ

การเม้ามอย หรือการนินทา ถือว่าเป็นความบันเทิงราคาถูกที่สังคมมนุษย์สร้างขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างบุคคล ซึ่งข้อมูลที่ว่ามักจะเป็นข้อมูลเชิงลบของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งไม่ได้อยู่ในวงสนทนา และแน่นอนว่าข้อมูลที่เผยแพร่ หรือถูกส่งต่อนั้นมีความน่าเชื่อถือต่ำมาก ดังนั้นหากองค์กรใดมีการจับกลุ่มกันเม้าฉ่ำ เป็นสัญญาณบอกว่าความสัมพันธ์ในองค์กรกำลังเข้าขั้นวิกฤติแล้วละค่ะ เพราะขนาดคนในองค์กรยังทำร้ายกันเอง การต่อสู้หรือแข่งขันกับองค์กรอื่นก็เป็นไปได้ยากแล้ว 

  1. Work ไร้ Balance

ปัญหาสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนทำงาน จุดเริ่มต้นก็มาจาก Work ไร้ Balance หรือสภาวะที่การทำงานและชีวิตส่วนตัวไม่สมดุลกันนี่ละค่ะ เพราะการให้เวลากับงานมากเกินไปย่อมทำให้เวลาสำหรับชีวิตส่วนตัว ความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือการพักผ่อนน้อยลง ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบในด้านสุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว และประสิทธิภาพในการทำงาน หากองค์กรใดเกิดปัญหา Work ไร้ Balance แสดงว่าการบริหารจัดการภายในองค์กรไม่ดีแล้ว จนทำให้งานเกินคน ต้องรีบปรับสมดุลภายในองค์กรโดยด่วน ก่อนที่พนักงานคุณภาพจะทิ้งไปหาองค์กรใหม่แทน

  1. ช่างมันฉันไม่แคร์

ถ้าหากองค์กรใดกำลังประสบกับปัญหาพนักงานเฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้นในการทำงาน ไม่สนใจไยดีต่อการแข่งขันขององค์กร ทำงานไปวัน ๆ โดยไม่สนใจผลกำไร หรือการเติบโตขององค์กร แสดงว่าองค์กรกำลังมีความเครียดภายในองค์กรสูง จนอาจทำให้องค์กรแตกแยก เพราะไม่บรรลุเป้าหมายขององค์กรได้ 

  1. ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงขององค์กร

“การเปลี่ยนแปลง” เป็นเรื่องปกติที่ทุกองค์กรจะต้องเกิดขึ้นเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและฉับพลัน แต่ถ้าหากองค์กรใดประสบปัญหาพนักงานในองค์กรต่อต้านการเปลี่ยนแปลงขององค์กร เช่น ไม่ทำตามนโยบายขององค์กร ฝ่าฝืนกฎขององค์กร มีความจงใจทำงานต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด นั่นเป็นสัญญาณอันตรายว่า พนักงานไม่มีความผูกพันและรักองค์กร เพราะองค์กรไม่ใช่ Safe Zone ของพนักงาน ไม่มีสิ่งใดยึดโยงเชื่อมใจให้พนักงานเกิดความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้

  1. ความไม่สอดคล้องของนโยบาย

ความไม่สอดคล้องของนโยบายหมายถึงว่า นโยบายของผู้บริหารองค์กรกับการปฏิบัติของพนักงานในองค์กรไปคนละทิศละทางกัน ซึ่งอาจจะเป็นปัญหามาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายบ่อยครั้ง หรือการถ่ายทอดนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร หรือนโยบายมีความไม่ชัดเจนและขาดการอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ทำให้เกิดการตีความแตกต่างกัน ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติที่ขัดแย้งกับนโยบาย และขัดขวางการเจริญเติบโตขององค์กรโดยไม่ได้ตั้งใจ

  1. มีการจับกลุ่มและแบ่งพรรคแบ่งพวกชัดเจน

ถ้าหากองค์กรไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งกลุ่มอย่างชัดเจน ส่งผลให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างยากลำบาก ไม่ราบรื่น ส่งผลให้องค์กรแตกแยก ไม่มีความสามัคคี คนในองค์กรเองก็ไม่มีความสุข ทำงานยาก ประสานงานลำบาก ซึ่งการจับกลุ่มแบ่งพรรคบ่งพวกนี้ เกิดจากความรู้สึกไม่ปลอดภัยในองค์กร จึงทำให้พนักงานองค์กรต้องดูแลกันเอง และตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อค้านอำนาจซึ่งกันและกัน


นักจิตวิทยาองค์กรเน้นย้ำว่า องค์กรที่กำลังจะแตกแยก ไม่จำเป็นจะต้องมีครบทั้ง 8 สัญญาณ หากมีเพียงสัญญาณใดสัญญาณหนึ่ง แต่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพนักงาน หรือต่อองค์กร ก็ถือว่าต้องเร่งแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน เพื่อรักษาพนักงานที่มีศักยภาพสูงไว้กับองค์กร และเพื่อรักษาองค์กรให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :  1. Jobsdb. (7 กรกฎาคม 2566). 5 ปัจจัยที่ทำให้คนทำงานไม่มีความสุขกับงานปัจจุบัน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2567 จาก https://th.jobsdb.com/th/career-advice/article/%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99

2. สุขพิชัย คณะช่าง. (29 สิงหาคม 2567). 8 สัญญาณเตือน วัฒนธรรมองค์กรของคุณกำลังเปราะบาง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2567 จาก https://www.brightsidepeople.com/8-%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87/

 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page