top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

7 วิธีการสื่อสารอย่างไร ให้คนต่าง Generation ต่างวัยเข้าใจกัน



ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย หรือ Generation Gap ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ในการสื่อสารภายในที่ทำงาน จากผลการสำรวจทางจิตวิทยาองค์กรโดย The Great Generational Divide พบว่า ช่องว่างระหว่างวัย เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาความสัมพันธ์ภายในองค์กร โดยมีพนักงานขององค์กรเอกชนถึง 1 ใน 4 หรือ 25% ให้ข้อมูลว่ามีความรู้สึกหงุดหงิดเมื่อต้องสื่อสารกับคนต่าง Generation และ 25% เลือกแก้ปัญหาด้วยการไม่เผชิญหน้ากับคู่ขัดแย้ง


ซึ่งนั้นกลับทำให้ปัญหาถูกสะสมและกลายเป็นระเบิดเวลา เนื่องจากผลการศึกษายังพบว่า พนักงานจำนวน 1 ใน 3 หรือ 33% ต้องเสียเวลากับการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนต่าง Generation มากถึง 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เลยทีเดียว โดย Baby Boomers และ Gen Y เป็นคนต่างวัยที่ทะเลาะกันมากที่สุดในองค์กร


เพื่อความสงบสุขในองค์กร ในบทความจิตวิทยานี้จึงขอนำเสนอ 7 วิธีการสื่อสารอย่างไร ให้คนต่าง Generation เข้าใจกัน โดยจะขอพาไปรู้จักกับคนแต่ละ Generation ในองค์กรกันก่อนนะคะ ว่าแต่ละวัยมีลักษณะนิสัยเด่นอย่างไร


Gen B (Baby Boom Generation) (เกิด พ.ศ. 2489 – 2507)

ลักษณะทั่วไป : เป็นกลุ่มที่เกิดมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นช่วงปีที่มีเด็กเกิดขึ้นมาเยอะมาก จึงเรียกว่า  Baby Boomers เนื่องจากคน Generation นี้เติบโตมาพร้อมความยากลำบากหลายสิ่ง ทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทั้งความยากลำบากของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูก จึงทำให้คน Gen นี้จึงขยันมีชีวิตเพื่อทำงานหาเงิน ปากกัดตีนถีบ มีเป้าหมายชีวิตคือการสร้างตัว  

จุดเด่น : ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน รักใครรักจริง ถ้าทำงานที่ไหนก็ทำจนเกษียณกันไปเลย อยู่ในกฎเกณฑ์และวินัยอย่างมาก 

คู่ขัดแย้ง : คู่ขัดแย้งหลัก คือ Gen Y  รองลงมา คือ Gen X  เพราะงานวิจัยทางจิตวิทยาองค์กร พบว่า คน Gen Baby Boomers คิดว่า คน Gen Y และ Gen X ไม่อดทนเท่าเขา และไม่อยู่ในกฎระเบียบขององค์กร


Gen X (เกิด พ.ศ. 2508 - 2522)

ลักษณะทั่วไป : เป็นกลุ่มลูกหลานของเหล่า Baby Boomers เป็นยุคสมัยที่เด็กเกิดน้อยลงอย่างมาก จนมีชื่อเล่น ว่า Baby Bust Generation ที่แปลว่า ภาวะที่เด็กเกิดน้อยลงอย่างมาก โดยคน Gen X เกิดมาในช่วงที่โลกฟื้นตัวหลักสงครามอย่างเต็มที่ โลกสงบสุขเศรษฐกิจเติบโต ชีวิตจึงไม่ได้ยากลำบากเท่าเหล่า Baby Boomers แนวคิดและรูปแบบการใช้ชีวิตจึงค่อนข้างยืดหยุ่นและเปิดกว้างมากกว่า Baby Boomers ปัจจุบันมีคน Gen X ราว 31% ในประเทศไทย และแน่นอนว่าเป็นชนส่วนใหญ่ในองค์กรด้วย

จุดเด่น : เข้มแข็ง ปรับตัวเก่ง ยืดหยุ่นสูง มีความรับผิดชอบ มีความคิดที่เป็นระบบระเบียบ และให้ความสำคัญกับเรื่อง Work life Balance

คู่ขัดแย้ง : คู่ขัดแย้งอันดับ 1 ของคน Gen X คือ Baby Boomers ซึ่ง Gen X มองว่าคนรุ่นพ่อแม่หัวรั้น ยึดติดค่อนข้างมีอัตตาสูง ปรับตัวยาก ความคิดค่อนข้างปิดกั้น สำหรับคู่ขัดแย้งลำดับรองลงมา คือคน Gen Y เพราะคน Gen X มองว่าคนกลุ่มนี้มั่นใจตัวเองเกินไปจนเผลอทำงานผิดพลาด


Gen Y (เกิด พ.ศ. 2523 - 2540)

ลักษณะทั่วไป : เป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาพร้อมการพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงได้ชื่อเล่นว่า Millennials เป็นช่วงวัยที่บางครั้งก็ประสานรอยร้าวของความต่าง Generation ของ Baby Boomers และ Gen X แต่บางครั้งก็กลายเป็นผู้รับแรงปะทะจากทั้งรุ่นปู่ย่าที่เป็น Baby Boomers และพ่อแม่ที่เป็น Gen X นั่นจึงทำให้คน Gen Y เป็นนักเจรจาที่ดี ค่อนข้างประนีประนอมสูง แต่ก็ทันโลกทันสมัย และเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เสมอ ปัจจุบันในประเทศไทยมีคน Gen Y ประมาณ 29%  

จุดเด่น : มีความมั่นใจสูง กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง ชอบทดลองสิ่งใหม่ ๆ มีแนวคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติของชีวิต มีทักษะในการสื่อสารสูงสามารถทำงานกับผู้อื่นได้ดี เข้าสังคมเก่ง มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี สามารถทำงานหลายอย่างไปพร้อม ๆ กันได้ 

คู่ขัดแย้ง : คู่ขัดแย้งอันดับ 1 ของคน Gen Y ก็คือ Baby Boomers เพราะคน Gen Y มองว่าคนรุ่นปู่ ย่า ไม่ทันโลกแล้ว ปรับตัวไม่เก่ง อีกทั้งยังเรียนรู้ช้า ค่อนข้างเข้มงวด และไม่ใส่ใจความรู้สึกคนอื่น สำหรับคู่ขัดแย้งลำดับถัดมา คือ คน Gen X เพราะมีมุมมองว่า คน Gen X ช้า เจ้าระเบียบ แก้ปัญหาไม่เฉียบขาด


Gen Z (เกิด พ.ศ. 2541 – 2565)

ลักษณะทั่วไป : เป็นกลุ่มคนที่เกิดมาในยุคเฟื่องฟูของเทคโนโลยี มีพี่ TV และ Smart phone เป็นพี่เลี้ยง โตมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย และใช้ชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จึงมีอิสระในการใช้ชีวิตสูง เปิดกว้าง ปรับตัวเก่งมาก ปัจจุบันเมืองไทยมีคน Gen Z ประมาณ 15%  

จุดเด่น : ใช้เทคโนโลยีเก่งมาก เรียนรู้เร็ว มีความคิดสร้างสรรค์สูง มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ หาข้อมูลเก่ง สามารถหาข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปข้อมูลเร็วมาก

คู่ขัดแย้ง : ทุก Generation ด้วยความต่างของ Generation จึงทำให้คน Gen อื่นมองว่าคน Gen Z เป็นเด็กที่มีสมาธิสั้น เปลี่ยนใจง่าย ความอดทนต่ำ มีความยึดติดกับงานน้อย ไม่ชอบก็ไม่ต้องทน จะทนทำไม ไปหางานใหม่ดีกว่า


เพื่อความสมานฉันท์ระหว่างวัยและลดความต่าง Generation จึงได้มีเทคนิคจิตวิทยาในการพัฒนาการสื่อสารระหว่างวัยให้เข้าใจกันมาฝาก 7 เทคนิค ที่เรียกว่า 4E3V ดังนี้ค่ะ


E : Empathy

E ตัวแรก คือ Empathy ที่แปลว่า ความเห็นอกเห็นใจกัน หากทุกการสื่อสารเราเอาใจเขามาใส่ใจเรา มองในมุมของเขาดูบ้าง เราจะมีการเปิดใจ เห็นใจ และเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การสื่อสารเป็นไปอย่างฉันมิตร และมีไมตรีต่อกันมากขึ้น


E : Equality

E ตัวที่สอง คือ ความเท่าเทียม หากทุกคนให้เกียรติ เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน มองว่าทุกคนมีคุณค่า เราจะรับฟังกันมากขึ้นทั้งด้วยหูและด้วยใจ


E : Express

E ตัวที่สาม คือ การเปิดใจ ไม่ด่วนตัดสินใครจากรูปลักษณ์ภายนอก หรือเรื่องเม้ามอยที่ได้ยินมา เมื่อเราเปิดใจ เราจะลดอคติ แล้วจะส่งผลให้การสื่อสารเป็นไปด้วยความจริงใจ และได้รับผลลัพธ์ที่ดีต่อใจ


E : Eco System

และ E ตัวสุดท้าย คือ การเข้าใจในระบบสิ่งแวดล้อม หมายถึงการใฝ่เรียนรู้ ช่างสังเกต และวิเคราะห์สถานการณ์ บริบทในปัจจุบันขององค์กรและปัจจัยต่าง ๆ ในการทำงาน เพื่อให้เราเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร 


V : Voice

V ตัวแรก คือ เสียง การใช้เสียงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัจนภาษา ที่มีผลอย่างแรงต่อจิตใจของผู้รับฟัง หากเราใช้น้ำสียงที่เหมาะสมสอดคล้องกับเรื่องที่สื่อสาร การสื่อสารก็จะมีประสิทธิภาพและเกิด Impact ที่น่ามหัศจรรย์


V : Visual 

V ตัวที่สอง คือ การสื่อสารให้เห็นภาพเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน หมายถึงหากเราสามารถสื่อสารได้ชัดเจน ตรงประเด็นและเห็นภาพ การสื่อสารนั้นจะมีประสิทธิภาพสูง เพราะคู่สนทนาจะรับสารและเข้าใจสารของเราได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการสื่อสาร


V : Verbal 

และ V ตัวสุดท้าย คือ การพูด การสื่อสาร โดยจะเน้นการสื่อสารแบบวัจนภาษา หากเราเลือกใช้คำที่เหมาะสมกับคู่สนทนาและสอดคล้องกับเรื่องที่เราต้องการจะสื่อสาร คู่สนทนาก็จะสามารถรับสารได้อย่างถูกต้อง และทำความเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อได้อย่างรวดเร็ว 


การที่เราจะสามารถลดช่องว่างของความต่าง Generation ได้นั้น ต้องอาศัยทั้งใจและเทคนิคจิตวิทยา เพื่อพัฒนาการสื่อสารของคนต่างวัยแต่ต้องทำงานร่วมกันให้สามารถทานร่วมกันได้อย่างราบรื่น และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะส่งผดีทั้งต่อผู้พัฒนาเอง และองค์กรในอนาคต


หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ : 

 

อ้างอิง : 

1. Joshua Seth. (2023, 21 มิถุนายน). The 3 V's of Communication for Leaders. [Online].


2. Pacrim group. (2022, 15 กันยายน). ความในใจคนต่าง Gen ที่ไม่มีใครกล้าพูดในที่ทำงาน. [ออนไลน์].

สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2567 จาก https://www.pacrimgroup.com/th/ความในใจคนต่าง-gen-ที่ไม่ม/


3. คอเดียวกัน. (17 มิถุนายน 2565). โฮเรนโซ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2567


4. Thai health resource center. (24 มิถุนายน 2565). การสื่อสารระหว่าง Generation Gap เปลี่ยน ‘ช่องว่าง’ ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์. [ออนไลน์].

สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2567 จาก https://resourcecenter.thaihealth.or.th/


5. กรุงเทพธุรกิจ. (2023, 17 พฤศจิกายน). 2 วิธี 5 เทคนิค 6 กฎ รับมือ 'Generation Gap' ในที่ทำงาน.[ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2567 จาก https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1099409


 

ผู้เขียน : จันทมา  ช่างสลัก

บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้




Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page