7 เคล็ดลับในการสร้างความสุขในชีวิตจากผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยา
ตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของ Maslow หรือ Maslow’s Hierarchy of Needs มีแนวคิดว่า ความต้องการสูงสุดของมนุษย์ทุกคน ก็คือ ความสุขในชีวิต หรือ Self-actualization ซึ่งหมายถึง ความต้องการพัฒนาศักยภาพของตน ต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายชีวิต และต้องการความสมบูรณ์ของชีวิต ซึ่งคนเราทุกคนล้วนแสวงหาวิธีทางที่จะทำให้เรามีความสุขในชีวิตอย่างมั่นคง และดิฉันได้พบเข้ากับงานศึกษาทางจิตวิทยาเรื่องหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ที่ได้ทำการศึกษาชีวิตคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา จำนวน 2,000 คน หลากหลายเพศสภาพ หลากหลายวัย หลากหลายฐานะ หลากหลายสถานะ หลากหลายอาชีพ หลากหลายสีผิว หลากหลายศาสนา แต่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันในชีวิต คือ “ความสุข” โดยเริ่มทำการศึกษาต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ ค.ศ. 1938 (ประมาณ 85 ปี) จนได้ผลออกมาเป็นเคล็ดลับที่จะทำให้เรามีความสุขในชีวิตอย่างแท้จริง โดยเคล็ดลับจากงานศึกษาจิตวิทยาดังกล่าว สามารถแบ่งออกมาเป็น 7 เคล็ดลับ ดังนี้ค่ะ
1. สร้างความสัมพันธ์ที่ดี
Robert Waldinger ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาผู้เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยข้างต้นของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปัจจุบัน ได้กล่าวว่า ความสัมพันธ์เกี่ยวพันกับความสุขของคนเราอย่างแนบแน่น เช่น ถ้าเราเครียดจากงานมา แต่ไม่รู้ว่าจะคุยกับใคร ไม่รู้จะโทรหาใคร เราก็จะไม่มีความสุขในชีวิต มีแต่ความเครียด ความเศร้า แต่ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง เราจะรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยในการใช้ชีวิต เพราะต่อให้เราบอบช้ำจากไหนมา เราจะมีที่พักพิงใจเสมอ ดังนั้นหากเราสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างได้มากเท่าไร เราจะมีความมั่นคงทางใจมากขึ้นเท่านั้น เพราะเราจะมั่นใจได้ว่าเรามีครอบครัวที่ดี มีคนรักที่ดี มีเพื่อนที่ดีคอยอยู่เคียงข้าง
2. รักษาความสัมพันธ์ให้เข้มแข็ง
เมื่อเราสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างได้แล้ว โจทย์ต่อมาที่จะทำให้ชีวิตของเรามีความสุข ก็คือรักษาความสัมพันธ์นั้นให้เข้มแข็งโดยการดูแล เอาใจใส่ ใส่ใจ และจริงใจต่อกัน เพราะทุกสายสัมพันธ์ทางสังคมจะเป็นทั้งเกราะป้องกันอันตรายจากคนที่คิดจะทำร้ายเรา เป็นทั้งยาที่รักษาแผลใจ เป็นทั้งแรงผลักดันให้เราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ดังนั้นยิ่งเรามีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่เข้มแข็งมากขึ้น เราจะยิ่งมีความมั่นใจในการใช้ชีวิต มีความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และมีความสุขในชีวิตมากขึ้นค่ะ
3. มีชีวิตชีวา
ความรู้สึกมีชีวิตชีวา คือการที่เรามีความรู้สึกตื่นเต้นกับการใช้ชีวิต มีทัศนคติและมุมมองในการใช้ชีวิตว่าทุกสิ่งที่เราพบช่างใหม่อยู่เสมอ เมื่อเรามีมุมมองต่อโลกในเชิงบวก ในเชิงสดใส เราจะมีความต้องการที่จะเรียนรู้ มีไฟในการใช้ชีวิต และเรายังสามารถเผื่อแผ่แบ่งปันความสดใสไปถึงผู้คนรอบข้าง รวมถึงสรรพสิ่งรอบตัว ให้มีชีวิตชีวาเช่นเดียวกับเรา แล้วโลกของเราจะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป
4. สุขภาพดีชีวิตมีความสุข
จากงานวิจัยที่ยาวนานกว่า 85 ปีที่กล่าวถึงข้างต้น ได้มีผลวิจัยหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าความสุขและสุขภาพมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เพราะเมื่อเราไม่เจ็บไม่ป่วย มีสุขภาพที่ดีเราก็จะมีความสุข เมื่อเรามีความสุขเราจะแก่ช้าลง เมื่ออายุมากขึ้นก็จะเจ็บป่วยน้อย สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ยาวนานขึ้น และที่สำคัญคือมีอายุยืนยาวมากขึ้น
5. เป็นตัวของตัวเองอย่างมีคุณภาพ
ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มีความสุข ชีวิตที่มีความสุขคือชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติของเรา คือใช้ชีวิตตามที่ใจเราต้องการโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เช่น เรียนในสายวิชาที่ชอบ ทำกิจกรรมที่เรามีความสุข ทำอาชีพที่เราใฝ่ฝัน เมื่อเราได้ทำในสิ่งที่รัก ทำในสิ่งที่ชอบ ใช้ชีวิตอย่างที่เราควรเป็น อยู่ในที่ที่เราควรอยู่ เราจะรู้สึกสบายใจ รู้สกอิ่มเอมใจกับการใช้ชีวิต รู้สึกว่าชีวิตมีเป้าหมายที่ต้องการจะบรรลุ แล้วเราจะอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปยาวนานเพื่อสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ด้วยสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็นค่ะ
6. อยู่กับปัจจุบันขณะ
ต้องยอมรับว่าดิฉันเองบ่อยครั้งก็ไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน เพราะบางทีก็จมอยู่กับความทุกข์ในอดีต จนไม่มีความสุขกับปัจจุบัน หรือบ่อยครั้งก็กังวลเกี่ยวกับอนาคตจนทำให้ปัจจุบันไม่มีความสุขไปด้วย ซึ่งดิฉันเชื่อว่ายังมีอีกหลาย ๆ คนที่เป็นเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากเราสามารถปรับความสนใจของเรามาอยู่ที่ปัจจุบันได้ เราจะพุ่งสมาธิไปที่สิ่งที่เรากำลังทำเพียงอย่างเดียว ความคิดก็จะจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ความรู้สึก รวมถึงอารมณ์ก็จะสอดคล้องกับสิ่งที่เราทำ ส่งผลให้เราสามารถควบคุมความคิดและจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึกได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
7. ให้ความสำคัญกับความรู้สึก
และเคล็ดลับสุดท้ายที่จะทำให้เรามีความสุขอย่างยั่งยืน ก็คือการใส่ใจความรู้สึกของตัวเราเอง ว่าเรารู้สึกอย่างไร พอใจกับชีวิตตอนนี้หรือไม่ หากคำตอบคือไม่ เราก็ต้องมาหาสาเหตุและวิธีแก้กันทีละเรื่อง เพื่อให้เรามีความสุขมากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้แล้วเราก็ควรจะต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนรอบข้าง และคนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เพราะเราไม่ได้ใช้ชีวิตเพียงคนเดียวบนโลก โลกไม่ได้หมุนรอบเรา แต่เราหมุนไปพร้อมกับโลกค่ะ
เคล็ดของความสุขในชีวิตข้างต้นนั้น นอกจากจะสอดคล้องกับทฤษฎีของ Maslow แล้ว ยังสอดคล้องกับแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกสมัยใหม่ของ Martin Seligman นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) โดย Seligman ได้เสนอทฤษฎี PERMA ที่กล่าวถึง 5 องค์ประกอบของความสุขในชีวิตที่ยั่งยืน ได้แก่ (1) P : Positive Emotion คือ การมีอารมณ์เชิงบวก (2) E : Engagement คือ การดื่มด่ำในสิ่งที่ทำ (3) R : Relationships คือ การรักษาความสัมพันธ์ (4) M : Meaning คือ การค้นหาความหมายของชีวิต และ (5) A : Accomplishment คือ การบรรลุถึงเป้าหมาย
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
1. OFFICE OF KNOWLEDGE MANAGEMENT AND DEVELOPMENT. (2564, 28 พฤษภาคม). “ทฤษฎีมีสุข” สูตรลับสร้างความสุขในการทำงานและการใช้ชีวิต. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2023 จาก https://www.okmd.or.th/okmd-kratooktomkit/4131/
2. Robert Waldinger. (2023, มกราคม). The secret to a happy life — lessons from 8 decades of research. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2023 จาก
https://www.ted.com/talks/robert_waldinger_the_secret_to_a_happy_life_lessons_from_8_decades_of_research/c
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก อดีตนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
留言