พ่อแม่ รีบมามุง! 7 เทคนิคจิตวิทยา ในการเป็นพ่อแม่ที่มีความสุข
คุณพ่อ คุณแม่ ท่านไหนที่เครียดในการเลี้ยงลูกบ้าง มารวมกันตรงนี้ได้เลยค่ะ เพราะดิฉันเองก็เป็นคุณแม่คนหนึ่งที่มีความเครียดในการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะเวลาลูกงอแงแล้วโวยวาย เสียง คำพูด การกระทำของลูก มันช่างมีอานุภาพทำลายประสาทของเรามหาศาลเลยทีเดียว และแน่นอนว่าดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่เผลอตวาดลูก หรือเสียงดังใส่ลูกบ่อยครั้ง ซึ่งจริง ๆ แล้วพฤติกรรมร้าย ๆ ของลูกรักไม่ได้เกิดจากเจตนาไม่ดีของลูกเลยค่ะ แต่มันเกิดมาจากพัฒนาการของเขา ยิ่งในช่วงวัยทอง 2 – 5 ขวบ ที่กำลังมีพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมนะคะ ยิ่งยียวนกวนอารมณ์คุณพ่อ คุณแม่สุด ๆ เลยค่ะ ท้าทายการควบคุมตัวเองของคุณน่าดู ในบทความจิตวิทยานี้จึงขอชวนคุณที่เป็นคุณพ่อ คุณแม่แล้วก็ตาม หรือกำลังจะเป็นก็ตาม หรือรู้จักคนที่เป็นพ่อ เป็นแม่ก็ตาม มาเรียนรู้เทคนิคการเป็นพ่อ แม่ที่มีความสุขไปด้วยกันนะคะ
ก่อนอื่น มาลองเช็กตัวเองกันก่อน ว่ากำลังมีความเครียดในการเลี้ยงลูกอยู่หรือเปล่า กับ 7 สัญญาณต่อไปนี้ค่ะ
1. เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า นอนไม่อิ่ม นอนไม่พอ เหนื่อยกับการเลี้ยงลูก เกิดความรู้สึกว่าการเลี้ยงลูกเป็นเรื่องหนักหนา เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับลูก เลิกงานกลับมาก็เลี้ยงลูกต่อ จนเกิดความรู้สึกว่าไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ไม่มีเวลาในการดูแลตัวเอง
2. เกิดความคิดว่าเราเป็นพ่อ/แม่ที่ไม่ดีพอ
มีความคิดว่าคุณยังทำได้ไม่ดีพอ โดยเฉพาะเวลาที่โมโหลูก โกรธลูก ดุลูก คุณก็จะยิ่งโทษตัวเอง ว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีเลย มีความคาดหวังกับตัวเองสูง พยายามทุ่มเทเพื่อการเลี้ยงลูกจนเกินกำลัง และกดดันตัวเอง
3. มีการเปรียบเทียบครอบครัวของเรากับคนอื่น
เมื่อลูกงอแง หรือทะเลาะกับคู่ชีวิต ก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบครอบครัวของเรากับครอบครัวอื่นที่ดูมีความสุขกว่า เช่น ถ้าเราแต่งงานกับคนที่รวยกว่านี้ก็คงมีความสุขแบบดาราคนนั้น ดูสามีข้างบ้าน/ลูกข้างบ้านสิ เขาน่ารักจังเลย และการเปรียบเทียบแบบนี้ก็จะยิ่งบั่นทอนกำลังใจในการดูแลครอบครัวค่ะ
4. รู้สึกเศร้า ท้อ อ่อนล้าในการเลี้ยงลูก
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่แอบร้องไห้หลังจากดุลูก เป็นเหนื่อยเป็นท้อกับการเลี้ยงลูก แอบน้อยใจคู่ชีวิตในเรื่องต่าง ๆ หรืออึดอัดใจที่ต้องมาอยู่กับครอบครัวของอีกฝ่าย นั่นเป็นสัญญาณว่าใจคุณเริ่มจะไม่ไหวแล้วค่ะ ต้องหาทางแก้โดยด่วน
5. ใส่ใจลูกน้อยลง
หากคุณเริ่มสังเกตตัวเองได้ว่ามีอาการเหม่อลอยบ่อยครั้งระหว่างเลี้ยงลูก หรือเมื่ออยู่กับลูกก็พยายามหาอย่างอื่นทำไปด้วย หรือมีคนทักว่าคุณใจลอยเวลาอยู่กับลูก แสดงว่าคุณเครียดและเหนื่อย จนเกิดความเบื่อในการเลี้ยงลูกแล้วละค่ะ
6. คิดอยากลาออกจากการเป็นพ่อ/แม่
ถึงแม้ว่าพ่อ แม่ทุกคนจะรู้อยู่เต็มอกว่าเมื่อเป็นพ่อ แม่แล้วลาออกไม่ได้ ต้องเป็นไปตลอดชีวิต แต่บ่อยครั้งที่คุณเหนื่อย คุณท้อ คุณเกิดปัญหา คุณก็อยากจะขอลาพักผ่อนจากการเป็นพ่อ แม่ ขอไม่เป็นพ่อ แม่เพื่อไปพักสักวันก็ยังดี
7. คุมอารมณ์ได้ไม่ดี มีความคิดทางลบต่อคนในครอบครัว
หากคุณสังเกตเห็นว่า คนรอบข้างไม่อยากเข้าใกล้ ลูกกลัวเมื่อเห็นคุณ หรือคู่ชีวิตพูดคุยกับคุณน้อยลง นั่นอาจเป็นสัญญาณบอกว่าการควบคุมอารมณ์ของคุณกำลังแย่ลงค่ะ เพราะคุณอาจเหวี่ยง วีน บ่น จนคนในบ้านไม่สู้หน้าแล้ว
หากคุณเช็กดูแล้ว พบว่าพฤติกรรมของคุณในช่วง 6 เดือนมานี้เข้าข่าย 5 ใน 7 ข้อข้างต้น แสดงว่าคุณกำลังมีความเครียดในการเลี้ยงลูกอยู่นะคะ หากปล่อยไว้นานมันจะทำให้คุณกลายเป็นพ่อ แม่แบบที่คุณคิดจริง ๆ แถมยังทำให้สุขภาพจิตเสีย ความสัมพันธ์ในครอบครัวเลวร้ายลงไปอีก จึงขอชวนคุณมาเรียนรู้ 7 เทคนิคการเป็นพ่อ แม่ที่มีความสุขไปด้วยกัน ดังนี้ค่ะ
1. พักผ่อนให้เพียงพอ
เทคนิคแรกที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การพักผ่อนให้เพียงพอค่ะ นอนให้พอ กินให้อิ่ม ผ่อนคลายให้ใจเป็นสุข ออกกำลังกายให้พอเหมาะ คุณก็จะมีสุขภาพจิตที่ดีควบคู่ไปกับการมีสุขภาพกายที่แข็งแรง เพื่อดูแลคนที่คุณรักต่อไป
2. หากมีปัญหาให้รีบพูดคุยกัน
เมื่อเกิดปัญหา พ่อ แม่ที่เป็นทุกข์มักจะเก็บเงียบเอาไว้คนเดียว จนปัญหามันลุกลากยากจะแก้ไข แล้วระเบิดออกมาทีเดียว ทำให้ครอบครัวร้าวฉาน เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดปัญหา จะเล็กจะน้อยก็ขอให้นำมาพูดคุยกัน ปรึกษากัน อย่างน้อยถึงแม้จะแก้ไขไม่ได้ แต่คุณก็รับรู้ร่วมกันว่ากำลังมีปัญหาเกิดขึ้นนะ คนในครอบครัวจะได้พร้อมรับกับผลที่อาจเกิดขึ้นได้ทันค่ะ
3. แบ่งหน้าที่ในบ้านให้ชัดเจน
ถ้างานในบ้าน งานเลี้ยงลูกมันหนักเกินไปที่จะทำคนเดียวได้ ลองแบ่งหน้าที่กันนะคะว่าพ่อ แม่ ลูก สามารถช่วยเหลืออะไรกันได้บ้าง เพราะการแบ่งงานนั้นนอกจากจะช่วยกระจายความรับผิดชอบแล้ว ยังสามารถทำให้ทุกคนในบ้านใช้เวลาร่วมกัน ทำให้สนิทสนมกันมากขึ้นได้อีกด้วย
4. หากสถานการณ์เกินรับ พาตัวเองออกมาให้เร็วที่สุด
ในขณะที่ลูกกลายเป็นปีศาจตัวจิ๋วที่กรีดร้อง โวยวาย จนพ่อ แม่ปรี๊ดแตกเกินจะคุมสติ อารมณ์ได้ ขอให้แปะมือกัน หรือสลับกับคุณย่า คุณยาย เพื่อหาที่สงบสติอารมณ์โดยเร็วที่สุดนะคะ ไม่เช่นนั้นแล้ว คุณก็จะกลายเป็นปีศาจตัวใหญ่ที่พังครอบครัวคุณเองในที่สุด
5. เมื่อทะเลาะกัน ให้คิดถึงตอนที่รักกัน
ไม่ว่าคุณจะมีปัญหากับคู่ชีวิต หรือกับลูกก็ตาม ก่อนที่จะทำร้ายกันด้วยคำพูด หรือการกระทำ ขอให้คิดถึงภาพตอนที่คุณรักกัน ตอนที่ลูกน่ารักกับคุณ ตอนที่คู่ชีวิตช่วยเหลือคุณ แล้วคุณจะสามารถใจเย็นลงได้ค่ะ
6. ไปเที่ยวนอกบ้านกันบ้าง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ
หากอยู่ในบ้าน เจอบรรยากาศเดิม ๆ แล้วเบื่อ แล้วเครียด ลองเปลี่ยนบรรยากาศโดยพากันไปเที่ยวนอกบ้านบ้าง ไปค้างคืนต่างจังหวัดกันบ้าง ไปทำกิจกรรมสนุก ๆ นอกบ้านบ้าง หรือกลับบ้านคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย ที่ต่างจังหวัดบ้าง เพื่อผ่อนคลายความเครียดให้ลดลง
7. ขอความช่วยเหลือจากบุคคลที่ไว้ใจ
ตัวช่วยสำคัญมาก ๆ ในการลดความเครียดในการเลี้ยงลูก ก็คือ พ่อ แม่ ของคุณเอง หรือพี่ น้อง เพื่อนสนิท ที่คุณสามารถฝากดูแลลูกของคุณได้ในบางช่วงเวลา เพื่อให้คุณมีเวลาส่วนตัวบ้าง มีเวลาพักผ่อน ดูแลตัวเองบ้าง
ถึงแม้ว่าความเครียดในการเลี้ยงลูกจะไม่ได้มีสาเหตุแค่พฤติกรรม อารมณ์ของลูกอย่างเดียว ยังรวมไปถึงสภาพคล่องทางการเงินของพ่อ แม่ สุขภาพของพ่อ แม่ ความเครียดจากการทำงาน ความกดดันทางสังคม และปัจจัยอื่น ๆ ที่คนเป็นพ่อ แม่ อย่างคุณควบคุมไม่ได้ แต่เมื่อเกิดความเครียดแล้ว ความเครียดนั้นไม่ได้ส่งผลแค่ตัวคุณเพียงคนเดียว ยังส่งผลไปถึงลูกของคุณ คู่ชีวิตของคุณ ดังนั้น การเรียนรู้ที่จะเป็นพ่อ แม่ที่มีความสุขตามเทคนิคจิตวิทยาที่ได้แนะนำข้างต้น อาจเป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดความเครียดและเพิ่มความสุขในชีวิตครอบครัวได้ค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง :
[1] Starfish Academy. (2564). อาการแบบนี้ บ่งบอกบอกว่าฉันเครียดเกินไปในการเลี้ยงลูก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2565 จาก https://shorturl.asia/fkjnT
[2] นันทิยา เอกอธิคมกิจ. (กันยายน – ธันวาคม 2560). พื้นอารมณ์ของเด็กกับความเครียดของพ่อแม่. วารสารการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต. 31 (3). หน้า 17 – 27.
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปโดนใจคนอ่าน
Comentarios