7 Steps ในการรับมือกับปัญหาการเงินด้วย “50:30:20 rule”
ในบรรดาความเครียดของมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามักจะมีปัญหาการเงินรวมอยู่ในนั้นด้วยเสมอ แม้ว่าหลายคนจะสามารถบริหารจัดการกับการเงินของตัวเองได้โดยไม่ต้องมีใครช่วยสอน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมีความสามารถนั้นขึ้นมาได้เองเสมอไป จึงทำให้มีมนุษย์เงินเดือนบางส่วนต้องเผชิญกับปัญหาการเงินจนเกิดความเครียดหรือมีปัญหาอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือแม้แต่ปัญหาการหย่าร้าง ซึ่งส่วนมากแล้วปัญหาการเงินไม่สามารถลดลงหรือคลี่คลายลงได้ด้วยการ “ปล่อยวาง” โดยไม่ไปทำอะไรกับมันเลย แต่จำเป็นต้องลงมือทำบางอย่างเพื่อสะสางปัญหาให้ค่อย ๆ ลดลงจนสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้
7 Steps ในการสร้างทักษะเพื่อรับมือกับปัญหาการเงินด้วย “50:30:20 rule”
อันที่จริงบนโลกใบนี้ก็มีวิธีบริหารจัดการกับการเงินของตัวเองที่หลากหลายแล้วแต่ว่าใครจะสะดวกแบบไหน แต่ในบทความนี้ผู้เขียนเลือกวิธีที่คนไม่มีพื้นฐานก็สามารถทำได้ก็คือ 50:30:20 rule ซึ่งค่อนข้างเป็นวิธีเบื้องต้นที่คุณอาจจะทำตามขั้นตอนด้านล่างหรือจะลองปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสไตล์ตัวเองก็ได้เหมือนกัน ได้แก่
1. สำรวจรายรับหรือเงินเดือน ลองสำรวจดูว่าในแต่ละเดือนคุณมีรายรับหรือเงินเดือนอยู่เท่าไหร่เพื่อใช้ยอดเงินนี้ในการกำหนดงบของแต่ละเดือนโดยใช้ 50:30:20 rule เข้ามาบริหารการเงินของคุณ
2. คำนวณ “needs budget” จากค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าบ้าน ค่าสาธารณูปโภค ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าประกัน เสื้อผ้าที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน โดยกำหนดให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ที่ร้อยละ 50 ของรายรับ หรือเอารายรับมาคูณกับ 0.5
3. คำนวณ “wants budget” จากสิ่งที่คุณต้องการแต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็น เช่น งานอดิเรก ความบันเทิง ออกไปกินที่ร้านอาหาร ซื้อของฟุ่มเฟือย การเที่ยวพักผ่อน โดยกำหนดให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ที่ร้อยละ 30 ของรายรับ หรือเอารายรับมาคูณกับ 0.3 ซึ่งผู้เขียนมองว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้มักจะสัมพันธ์กับความเครียดที่มีลักษณะเป็นวงจร เช่น ยิ่งเครียดยิ่งอยากกินอยากซื้อของ อยากได้อะไรมาปลอบประโลมจิตใจแม้มันจะไม่ใช่สิ่งจำเป็น หรือโมโหที่ป้าข้างบ้านมาดูถูกก็เลยซื้อของแพงมาใช้ให้ป้าข้างบ้านดูจะได้เลิกดูถูกซะที และเมื่อใช้เงินกับส่วนนี้มากเกินไปก็จะกระทบต่อสถานการณ์ทางการเงินและนำไปสู่ความเครียด จึงเป็นเหมือนวงจรความเครียดที่จะไม่หยุด แต่มันจะหยุดลงได้เมื่อคุณสามารถดูแลความต้องการของตัวเองได้อย่างเหมาะสม เช่น เลิกซื้อของที่ไม่จำเป็น ตั้งสติก่อนซื้อ และหากคุณสำรวจตัวเองแล้วเริ่มรู้ตัวว่าคุณกำลังมีความเครียดสูงหรือเครียดสะสม การหาทางลดความเครียดลงก็อาจจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงได้ เช่น ใช้เทคนิคการฝึกหายใจ การเดินเล่นในสวนสาธารณะ การทำโยคะที่บ้าน ฯลฯ
4. คำนวณเงินเก็บ ซึ่งเป็นเงินที่คุณต้องการจะมีสำรองเอาไว้สำหรับใช้จ่ายในอนาคต เช่น เงินสำรองฉุกเฉิน เงินออมหลังเกษียณ เงินสำหรับใช้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือการซื้อครั้งใหญ่ เช่น ดาวน์บ้าน โดยเงินส่วนนี้ควรกำหนดไว้ที่ประมาณร้อยละ 20 ของรายรับ หรือเอารายรับมาคูณกับ 0.2
5. บันทึกรายจ่าย โดยอาจจะใช้แอพ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น Spreadsheet หรือจดลงในสมุด ซึ่งหากคุณใช้ Spreadsheet ก็อาจจะลองทำร่ายจ่ายแบบแยกออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ รายจ่ายที่จำเป็น รายจ่ายที่ใช้ซื้อสิ่งที่อยากได้แต่ไม่จำเป็น และเงินเก็บ
6. เทียบรายจ่ายกับงบประมาณที่ตั้งเอาไว้ โดยดูจากบันทึกรายจ่ายว่าในแต่ละหมวดเป็นไปตามหลัก 50:30:20 rule หรือไม่ รวมถึงดูในภาพรวมว่าเมื่อหักลบรายรับกับรายจ่ายแล้วยอดเงินในแต่ละเดือนของคุณติดลบ เป็นศูนย์ หรือยังมีเหลืออยู่ ซึ่งหากว่าเทียบกันแล้วยอดเงินของคุณติดลบก็หมายความว่าคุณใช้จ่ายมากเกินไปรายรับของตัวเองซึ่งจะทำให้คุณเสี่ยงต่อการเผชิญกับปัญหาการเงินได้ในอนาคต
7. ปรับงบประมาณให้สอดคล้องกับ 50:30:20 rule
หากยอดเงินคงเหลือติดลบ ให้ลองสำรวจดูว่าค่าใช้จ่ายหมวดไหนที่ทำให้คุณต้องใช้จ่ายไปกับมันมากที่สุดแล้วลองหาทางปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นลงมา เช่น หากค่าเช่าบ้านสูงเกินไปก็ลองหาบ้านที่ช่วยให้ประหยัดค่าเช่าลง หรือแพ็คเกจอินเตอร์เน็ตที่ใช้มีราคาสูงเกินจำเป็นก็ลองหาแพ็คเกจที่มีราคาเหมาะสมกับการใช้งานของคุณให้มากขึ้น
หากยอดเงินคงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วพอดีแต่ไม่มีเงินเก็บก็สามารถทำได้ทั้งลดรายจ่ายลง หาทางเพิ่มรายรับ หรือทำควบคู่กันไปทั้งสองอย่าง
หากยอดเงินคงเหลือหลังจากทำตาม 50:30:20 rule แล้วยังมีเงินเหลือเพิ่มอยู่ก็อยู่ที่ว่าคุณอยากจะใช้เงินส่วนนั้นไปกับอะไร เช่น เก็บออมเพิ่มขึ้น เอาไปใช้ซื้อของที่อยากได้ หรือเอาไปใช้เพื่อการกุศล
อย่างไรก็ตาม วิธี 50:30:20 rule เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการบริหารการเงินเท่านั้น และสำหรับบางคนก็อาจจะมีเงื่อนไขชีวิตมากมายหลายอย่างที่ทำให้ไม่ว่าจะใช้วิธีอะไรก็ยังไม่อาจจะผ่านพ้นวิกฤตปัญหาการเงินอยู่ดี นอกจากนั้น ปัญหาการเงินกับปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่า การเจ็บป่วยทางจิตใจนำไปสู่การลดลงของรายได้และการมีงานทำซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะยากจนลง และเมื่อยากจนลงก็จะยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยทางจิตใจ แล้วก็จะวนเวียนเป็นวัฏจักร ดังนั้น การที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างมีสุขภาวะ (well-being) ก็อาจจะจำเป็นต้องดูแลชีวิตในหลายมิติซึ่งในที่นี้รวมถึงมิติทางด้านการเงินและด้านสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน และไม่ว่าโลกมันจะหมุนไปเร็วสักแค่ไหนก็ต้องอย่าลืมไปว่า “Mental Health Matters”
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] Financial Literacy. Retrieved from https://www.khanacademy.org/college-careers-more/financial-literacy/xa6995ea67a8e9fdd:budgeting-and-saving/xa6995ea67a8e9fdd:budgeting/a/balancing-your-budget
[2] วางแผนการเงินด้วย 50-30-20 ไม่ต้องมีพื้นฐานก็ทำได้. Retrieved from https://www.ncb.co.th/fin-knowledge/financial-plan-50-30-20/
[3] จับตา: เพราะ “ยากจน” จึง “ป่วยใจ” ? Retrieved from https://www.tcijthai.com/news/2017/01/watch/7386
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments